posttoday

สลัดพันธนาการอันตรายน้ำมันเผด็จการถ่วงศก.โลก

03 มีนาคม 2554

ในบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ นายนิก บัตเลอร์ ประธานสถาบันศึกษาด้านนโยบาย (Kings Policy Institute) ของวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน

ในบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ นายนิก บัตเลอร์ ประธานสถาบันศึกษาด้านนโยบาย (Kings Policy Institute) ของวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ในบทความล่าสุดที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ นายนิก บัตเลอร์ ประธานสถาบันศึกษาด้านนโยบาย (Kings Policy Institute) ของวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน ได้เตือนถึงอันตรายจากการที่เศรษฐกิจโลกพึ่งพาน้ำมันจากประเทศที่ตกอยู่ภายใต้ระบอบการเมืองการปกครองที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จโดยหมู่คณะหรือเผด็จการเพียงหนึ่งเดียว

สลัดพันธนาการอันตรายน้ำมันเผด็จการถ่วงศก.โลก

น้อยคนนักที่จะสังเกตว่า ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันส่วนใหญ่มีระบอบการเมืองการปกครองที่โน้มเอียงไปในทางอำนาจนิยมไม่มากก็น้อยหาไม่แล้วก็มักเป็นประเทศที่ถูกโจมตี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศตะวันตก) ว่าแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตย

ประเทศจำพวกแรก กระจุกตัวอยู่ในตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย โอมาน อิหร่าน นอกจากนี้ ยังรวมถึงประเทศที่แม้ผู้นำจะไม่ใช้อำนาจโดยพลการ แต่ยังกุมอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จ อาทิ คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์

ประเทศจำพวกที่สอง ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่คละเคล้ากันไป แต่ตกเป็นจำเลยร่วมกันในฐานะประเทศที่ไม่ปฏิบัติตนสอดคล้องกับมาตรฐานประชาธิปไตยแบบตะวันตก ซึ่งได้แก่ รัสเซีย จีน เวเนซุเอลา นานาประเทศในแอฟริกาเหนือ เอเชียกลาง และภูมิภาคคอเคซัส

นอกจากนี้ ยังมีประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่จมปลักกับภาวะไร้เสถียรภาพยืดเยื้อทั้งจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดน (แองโกลา) กลุ่มกองโจร (ไนจีเรีย) และความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและศาสนา (อิรัก)

อาจกล่าวได้ว่า กว่า 3 ใน 4 ของปริมาณน้ำมันกว่า 53 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่ผลิตได้จาก 10 อันดับแรกของประเทศผู้ผลิตรายหลัก มาจากประเทศที่บงการโดยระบอบอัตตาธิปไตยและคณาธิปไตยอำนาจนิยม

สัดส่วนน้ำมันที่เหลือมาจากประเทศที่ปกครองโดยระบอบที่โปร่งใสและมีเสถียรภาพมั่นคง ซึ่งประเทศที่ “ผ่านเกณฑ์” มีเพียงน้อยนิดและกระจุกตัวในซีกโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่มีกำลังการผลิต 9 ล้านบาร์เรล แคนาดาที่ 3.2 ล้านบาร์เรล เม็กซิโกที่ 2.6 ล้านบาร์เรล และสหภาพยุโรป (EU) ที่ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ที่ผ่านมาประเทศเผด็จการน้ำมันสามารถควบคุมเสถียรภาพได้เพราะย่ามใจว่า รายได้จากน้ำมันจะช่วย “ปิดปาก” ประชาชน ความย่ามใจนี้ ทำให้อัตราความเสี่ยงต่ำและราคาน้ำมันพลอยอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกินกว่าตลาดจะยอมรับ

แต่สิ่งที่แน่นอน คือความไม่แน่นอน

ประเทศเผด็จการน้ำมัน มิเฉลียวใจว่า เงินรายได้จากการขายน้ำมันที่ยัดให้ประชาชนนั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวและไม่สม่ำเสมอ ผลที่ตามมาคือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยว เพราะอัตราว่างงานสูงอันเกิดจากประชาชนที่รอรับเงินสวัสดิการจากการขายน้ำมัน ขณะเดียวกันความมั่งคั่งที่กระจายให้นั้นก็มิได้มีความสมดุล

จะเห็นได้ว่า ช่องว่างการกระจายรายได้ระหว่างคนมั่งมีและคนรายได้น้อย หรือ Gini index สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) พบว่า อิหร่านมีอัตราความไม่เท่าเทียมกันที่ 43 จุด จากอัตราสูงสุดของความไม่เท่าเทียมกันที่เต็ม 100 จุด ไนจีเรียอยู่ที่ 43.7 จุด และรัสเซีย 39.9 จุด

ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกเหนือจากนี้ มีอัตราความไม่เท่าเทียมอยู่ที่เฉลี่ย 30 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศที่นำเข้าน้ำมัน

ส่วนแองโกลา อิรัก และซาอุดีอาระเบีย แม้ไม่มีข้อมูล แต่ก็นับเป็นสิ่งตอกย้ำได้อย่างดีถึงความไม่โปร่งใสในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก

แรงกดดันทางสังคมในประเทศเผด็จการน้ำมัน ไม่ต่างอะไรกับภูเขาไฟลูกใหญ่ที่รอการปะทุ และบัดนี้ได้ปะทุรุนแรงจนกลายเป็นระเบิดเพลิงลูกมหึมา

เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ จึงคล้ายตั้งอยู่บนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ (จากน้ำมันราคาพอประมาณ) แต่ขณะเดียวกันก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดธรณีพิโรธได้ตลอดเวลา (จากแรงกดดันภายในประเทศผู้ผลิต)

ยังไม่นับกับการที่ประเทศในกลุ่มอำนาจนิยมส่วนใหญ่ล้วนแต่อยู่ในสังกัด OPEC ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่ผูกขาดน้ำมันในลักษณะเผด็จการรวมหมู่ ผลสะเทือนจึงยิ่งรุนแรงขึ้น หากเกิดการรวมหัวของ OPEC เพื่อฉวยโอกาสเกาะกระแสน้ำมันแพงจากวิกฤตการเมือง กลายเป็นอาฟเตอร์ช็อกขนาดย่อมๆ ซ้ำเติมอีกระลอก

บทความของนิก บัตเลอร์ จั่วหัวไว้ “The danger of dependence onautocratic oil” หรืออันตรายจากการพึ่งพาน้ำมันอำนาจนิยม หรือน้ำมันจากประเทศที่ผูกขาดการผลิตโดยเผด็จการ

การพึ่งพาน้ำมันถือเป็นอันตรายในระดับหนึ่งแล้ว แต่การพึ่งพาน้ำมันในประเทศที่มีความเสี่ยงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ยิ่งถือเป็นอันตรายใหญ่หลวง ถึงขั้นที่สมควรมองหาแหล่งพลังงานทางเลือก เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากความเป็นไปได้ที่ประเทศเหล่านี้จะต้องระงับการผลิตอย่างทันควัน ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

ทั้งนี้ สหรัฐนับประเทศแรกๆ ที่ตระหนักถึงภยันตรายจากการพึ่งพาน้ำมัน

เมื่อปี 2008 ซึ่งเป็นปีที่น้ำมันเริ่มทะลุหลัก 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สหรัฐเริ่มวางนโยบายลดการพึ่งพาน้ำมันจากภายนอกประเทศ และเริ่มมีการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับการยกเลิกกฎหมายห้ามขุดเจาะน้ำมันตามชายฝั่ง เพื่อสนับสนุนให้สหรัฐเป็นอิสรภาพจากประเทศเผด็จการน้ำมันให้มากที่สุด

แม้ว่าสหรัฐจะผลิตน้ำมันได้ถึงวันละ 9 ล้านบาร์เรล แต่ยังต้องนำเข้าจากประเทศ “อันตราย และไร้เสถียรภาพ” อีกถึง 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน

อีกทั้งยังสิ้นหนทางที่จะพึ่งพาประเทศ “ประชาธิปไตย” เพราะหากคิดจะหันไปพึ่งแคนาดาที่แม้จะมีกำลังผลิตถึงวันละ 3.2 ล้านบาร์เรล แต่น้ำมันจากแคนาดาอยู่ในรูปของ ทรายน้ำมัน หรือ Tar Sands ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการกลั่นแล้วจะได้น้ำมันที่ปนเปื้อนไม่บริสุทธิ์เท่าที่ควร ครั้นเมื่อหันมาพึ่งพาเม็กซิโก แหล่งน้ำมันหลักของเม็กซิโกก็ใกล้จะเหือดแห้งลงภายในหนึ่งทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญกับปัจจัยบีบคั้นรอบด้านให้เร่งหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม สหรัฐยังประสบความสำเร็จเพียงน้อยนิดในการแสวงหาพลังงานและวัตถุดิบสำหรับพลังงานทางเลือก

และจนถึงขณะนี้ มีน้อยประเทศที่จะตระหนักถึงภัยของการนำเข้าน้ำมันจากประเทศเผด็จการ และภัยนี้เทียบเท่ากับการยอมให้เศรษฐกิจโลกตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขภายในของประเทศเผด็จการด้านพลังงาน

ทั้งๆ ที่กว่า 75% ของน้ำมันจากตะวันออกกลางส่งตรงมาป้อนเอเชียที่กำลังโตวันโตคืน จนกล่าวได้ว่า เอเชียได้ตกเป็นตัวประกันของวิกฤตตะวันออกกลางโดยสิ้นเชิงแล้ว จนหลายประเทศเริ่มกระตือรือร้นมากขึ้นกับการแสวงหาแหล่งพลังงานทางเลือก โดยมีพลังงานนิวเคลียร์เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ

แต่พลังงานนิวเคลียร์สามารถตอบสนองเฉพาะการใช้พลังงานระดับมหภาคเท่านั้น แต่ในระดับจุลภาคการพึ่งพาน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติอาจเรียกได้ว่าเกิน 100%

ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะไร้ทางออก ยกเว้นเพียงจีนและรัสเซียเท่านั้นที่ดูเหมือนจะลงตัวที่สุด ทั้งคู่ไม่เพียงมีรัฐบาลอำนาจนิยมในรูปแบบของตัวเอง ซึ่งเกื้อหนุนต่อการรวมศูนย์นโยบายพลังงาน แต่ยังมองข้ามความขัดแย้งในอดีต เพื่อร่วมมือส่งเสริมกันและกัน

โดยที่รัสเซียจะเกี่ยวเกาะการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ส่วนจีนจะสูบพลังงานจากรัสเซียเพื่อหมุนวงล้อเศรษฐกิจ จากเดิมที่จีนนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางในสัดส่วนกว่า 50% ของทั้งหมด และนำเข้าจากแอฟริกาอีก 30% การนำเข้าจากประเทศ “อันตรายและไร้เสถียรภาพ” ในสัดส่วนรวม 80% ทำให้จีนตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่อย่างมาก

การจับมือกับรัสเซียอดีตคู่กรณี แม้จะทำให้รู้สึกกระอักกระอ่วนบ้าง แต่ที่สุดแล้วช่วยให้จีนรอดพ้นจากการถูกดึงเข้าสู่หุบเหวของวิกฤตตะวันออกกลางได้อย่างเฉียดฉิว

แม้อาจไม่ใช่ทุกประเทศที่มีความสามารถในการแสวงหาพันธมิตรใหม่ด้านพลังงานเทียบเท่ากับจีน แต่ความสำเร็จของจีนจะจี้ให้เอเชียกระตือรือร้นขึ้นมาไม่มากก็น้อย

เพื่อสลัดตัวจากอันตรายของการพึ่งพาน้ำมัน จากเผด็จการที่จวนเจียนจะสิ้นอำนาจวาสนา