posttoday

ขึ้นค่าแรงแสลงใจ

01 มีนาคม 2554

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 25% ภายใน 2 ปี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในหมวกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเรียกเสียงฮือฮา

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 25% ภายใน 2 ปี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในหมวกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเรียกเสียงฮือฮา

โดย...ทีมข่าวการเงิน

นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 25% ภายใน 2 ปี ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในหมวกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเรียกเสียงฮือฮา

เรียกได้ว่าเป็นการเปิด “โหมด” สู่การเลือกตั้งใหม่อย่างเป็นทางการได้ค่อนข้างดี

ขึ้นค่าแรงแสลงใจ

โดยวงในรัฐบาลฟันธงว่า รัฐบาลจะยุบสภาต้นเดือน เม.ย.นี้ และเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน หรือ 2 เดือน

แน่นอนว่า “ตาราง” การยุบสภา รัฐบาลเป็นคนชี้ เป็นคนกำหนดเกมเล่นบนกระดานการเมือง

ชุดของนโยบายใหม่นี้ยังเป็นการเรียกความมั่นใจล่วงหน้าว่า การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ที่ให้ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นแกนหลักนั้น ไม่น่าจะสร้างความสั่นคลอนทางการเมืองได้

และยังส่อเสียดการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นแค่เกมถูลู่ถูกัง ทำให้การแก้ปัญหาประเทศเป็นไปด้วยความล่าช้าและยากลำบาก

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่เริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2554

มีการปรับแบบเห็นเนื้อเห็นหนังและได้แต้มเต็มๆ แต่กว่าจะออกมารัฐบาลต้องหักดิบกับเถ้าแก่และผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้น

อัตราปรับครั้งหลังสุดต่ำสุด 8 บาท แต่สูงสุด 17 บาท

ที่ “จัดหนัก” ปรับขึ้น 10 บาท มี 16 จังหวัด อาทิ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน นครราชสีมา นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี และสมุทรสาคร

ขึ้น 12 บาท 10 จังหวัด อาทิ แพร่พิจิตร สุโขทัย อุดรธานี ยะลา จันทบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี ระนอง และชลบุรี

ขึ้น 13 บาท 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ราชบุรี พังงา ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี

ขึ้น 14 บาท 3 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง สตูล และกระบี่

ขึ้น 15 บาท 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และสงขลา ส่วนขึ้น 17 บาท มีจังหวัดเดียวคือ ภูเก็ต

ทำให้ค่าแรงในจังหวัดสำคัญอย่างภูเก็ตขึ้นมาเป็น 221 บาทต่อวัน จังหวัดชลบุรี 196 บาท

สมุทรปราการ 215 บาท ระยอง 189 บาท และนครสวรรค์ 166 บาทต่อวัน เป็นต้น

หากมีการปรับขึ้น 25% ตามนโยบายประชาธิปัตย์ หมายความว่าอัตราค่าแรงของจังหวัดที่ได้รับสูงสุดจะขึ้นอีกประมาณ 55 บาทต่อวัน

เรียกได้ว่าถ้าใช้ประหยัดๆ ก็กินข้าวได้ 2 จาน เติมน้ำมันดีเซลได้เกือบ 2 ลิตร

ตลาดผู้ใช้แรงงานกลายเป็นฐานทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเจาะทะลวง

เรียกได้ว่าเห็นช่องทาง เพราะมีคนในหมวดนี้ถึง 35 ล้านคน

มีแรงงานในระบบที่เป็นสมาชิกประกันสังคม 9 ล้านคน

ที่เหลืออีก 26 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งรัฐบาลพยายามจัดระเบียบด้วยการเปิดทางให้เป็นสมาชิกประกันสังคมราคาถูก โดยเฉพาะกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้า และแท็กซี่

ส่วนกลุ่มกรรมาชีพที่อาบเหงื่อแลกเงินจริงๆ รัฐบาลก็ใช้ค่าแรงเป็นตัวดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้หันมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์

ค่าแรงขึ้น 25% หรือสูงสุด 55 บาทต่อวันนั้น เมื่อคำนวณบวก ลบ คูณหารดูจะพบว่าเป็นการขยับขึ้น 1,650 บาทต่อเดือน และ 1.98 หมื่นบาทต่อปี

ช่วยให้แรงงานสามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน

แต่ดาบสองคมของนโยบายขึ้นค่าแรงก็คือ ต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะสูงขึ้น จากปัจจุบันที่ค่าใช้จ่ายตัวนี้คิดเป็น 30% ของต้นทุนการผลิต

ถ้าค่าแรงขั้นต่ำขยับ แน่นอนว่าค่าแรงขั้นกลางก็ต้องปรับ เท่ากับว่าขยับทั้งแผง เปลี่ยนแปลงทั้งองคาพยพ

สุดท้ายผู้ประกอบการก็ต้องฟันราคาเอากับผู้บริโภค ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น

เท่ากับว่าสุดท้ายการขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้เกิดอะไรกลับมา เพราะแรงงานต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงระยับ

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคประชาธิปัตย์ยังอาจจะบริหารประเทศในอนาคตด้วยความยากลำบาก

เมื่อนักลงทุนจะตั้งคำถามก็ค่าแรงของไทยที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับคุณภาพ

นักลงทุนจะจ่ายแพงทำไม เมื่อมีตัวเลือกที่ถูกกว่าทั้งจีนและเวียดนาม

ขณะที่นักลงทุนเดิมก็จะชั่งใจว่าจะขยายการลงทุนในประเทศที่ “ค่าแรงเฟ้อ” ให้มีกำไรได้อย่างไร

นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปได้...ยาก...ในภาวะที่ธุรกิจยังอกสั่นขวัญแขวนกับสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวาย

สุดท้ายค่าแรงกลายเป็นของแสลงสำหรับนักธุรกิจที่เคยอุดหนุนให้บริการพรรคประชาธิปัตย์เองด้วยซ้ำ

แต่ต้องยอมรับว่างานนี้ประชาธิปัตย์จัดหนักเข้าใส่พรรคเพื่อไทยที่ยังไม่เปิดแคมเปญหาเสียงออกมา

คงต้องรอดูว่า ถ้ามีการเกทับกันเรื่องค่าแรงต่ออีก ก็อาจพูดได้เต็มปากว่าการเมืองทำลายบรรยากาศทางธุรกิจเข้าเต็มๆ