posttoday

เลือดเข้าตากัดดาฟี ขี่หลังเสือถอยไม่ได้

24 กุมภาพันธ์ 2554

“ผมจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย”เสียงลั่นของประธานาธิบดี โมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ประกาศก้องเหนือแผ่นดินลิเบีย นัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความไม่ลดละ และพร้อมที่จะเดินหน้าห้ำหั่นประชาชนได้ต่อไป

“ผมจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย”เสียงลั่นของประธานาธิบดี โมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ประกาศก้องเหนือแผ่นดินลิเบีย นัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความไม่ลดละ และพร้อมที่จะเดินหน้าห้ำหั่นประชาชนได้ต่อไป

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

เลือดเข้าตากัดดาฟี ขี่หลังเสือถอยไม่ได้

“ผมจะสู้จนเลือดหยดสุดท้าย”เสียงลั่นของประธานาธิบดี โมอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ประกาศก้องเหนือแผ่นดินลิเบีย นัยหนึ่งแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของความไม่ลดละ และพร้อมที่จะเดินหน้าห้ำหั่นประชาชนได้ต่อไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้นำที่เคยผ่านภาวะเข้าตาจนคล้ายๆ กันนี้ ก็มีพูดทำนองเดียวกันนี้มาแล้วนักต่อนัก แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่เหมือนกันไปทั้งหมด เพราะจำพวกใส่เกียร์ถอยกรีธาทัพเอาตัวรอดออกนอกประเทศก็มีอยู่ถมไป...

ประธานาธิบดี โมอัมมาร์ กัดดาฟี ยอมหัก ไม่ยอมงอ และไม่ลดราให้กับประชาชน ส่วนหนึ่งเพราะตกอยู่ในภาวะขี่หลังเสือ ตกเป็นจำเลยคร่าชีวิตคนไปกว่า 250 คน รู้ดีว่ามีทางออกเพียง 2 ทางเท่านั้น คือ สู้จนเลือดหยดสุดท้ายเพื่อรักษาอำนาจบนหลังเสือนั้นไว้ หรือสละทุกสิ่งเพื่อหนีพ่ายความทะนงตนของตัวเอง

แต่กว่าจะก้าวไปถึงเวลานั้น หมายความว่า ต้องทิ้งขุมทรัพย์ที่ตัวเองก่อร่างสร้างมาจนสิ้น

กัดดาฟีสร้างโครงข่ายของอำนาจที่โยงใยธุรกิจไว้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งจากการตั้งบริษัทเพื่อลงทุนในต่างประเทศ และการวางให้ลูกๆ คุมจุดต่างๆ ทั้งในเครือข่ายของกองทัพและภาคธุรกิจ ด้วยความที่ไม่คาดคิดว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในประเทศจะเดินทางมาถึงจุดที่กลายเป็นความรุนแรงในเวลานี้

สังเกตจากขบวนลูกในไส้ทั้ง 8 คน จากภรรยา 2 คน และลูกเลี้ยงอีก 2 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกชาย 8 คน มีเพียงลูกสาว 2 คน อีกทั้งลูกสาว 1 คน ก็เสียชีวิตแล้วจากเหตุระเบิดของสหรัฐในเดือน เม.ย. 2529 ล้วนเป็นการวางโครงข่ายจัดทัพอำนาจไว้แล้ว

ที่แกร่งมากและได้รับการจับตามองมากที่สุดคงเป็นลูกชายคนที่ 2 ซาอิฟ อัลอิสลาม กัดดาฟี หนุ่มนักเศรษฐศาสตร์ ที่มีดีกรีระดับปริญญาเอกจากลอนดอน และเป็นคนที่เชื่อว่าก่อนหน้านี้ได้รับการวางหมากให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากพ่อ

ส่วนลูกชายคนแรก ก็เป็นหน่วยกุมภาคธุรกิจ โดยทำหน้าที่บริหารบริษัท จีพีทีซี (General Post and Telecommunications Company) ซึ่งครองการให้บริการเครือข่ายสื่อสารทั่วประเทศ

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจหรือตั้งคำถามให้อลหม่าน เมื่อในยามที่ประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน ลิเบียจะปิดตายการสื่อสารได้อย่างไม่ยากเย็น

ลูกชายคนที่ 4 คามิส กัดดาฟี คือ ตำรวจแกนนำที่ปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงในเมืองเบงกาซี เมืองสำคัญทางด้านตะวันออกของประเทศ ที่เป็นขุมทรัพย์บ่อน้ำมันของประเทศ ส่วนลูกชายคนที่ 5 ฮันนิบาล กัดดาฟี นั้นเคยทำงานในบริษัทน้ำมัน และยังก่อวีรกรรมทำร้ายร่างกายผู้อื่นในสวิตเซอร์แลนด์จนต้องคดี และเป็นต้นสายปลายเหตุให้นับตั้งแต่นั้นจวบจนเวลานี้ ลิเบียก็ยังสั่งห้ามการนำเข้าสินค้าจากสวิตเซอร์แลนด์ ลดเที่ยวบินการเข้าประเทศ และกร่างที่จะเรียกสวิตเซอร์แลนด์ ว่าเป็น “มาเฟียโลก” เป็นการตอบโต้แค้นในอดีต

ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า กัดดาฟีมีความฉลาดในด้านการลงทุนไม่น้อย กลไกของกัดดาฟีในการลงทุนต่างประเทศช่วยเสริมความสัมพันธ์ทางการทูตใต้โต๊ะ คือ การเดินหน้าผ่าน บริษัทที่ชื่อว่า ลาฟิโก (Lafico)

มีข้อมูลระบุว่า กัดดาฟีและครอบครัวมีบัญชีลับมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ซุกซ่อนอยู่ที่ธนาคารในดูไบ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในอ่าวเปอร์เซีย

ต่างจากภาวะปากท้องของประชาชนชาวลิเบียอยู่หลายขุม

ขณะนี้ประชาคมโลกเคลื่อนไหวเพื่อกดดันประธานาธิบดีกัดดาฟี ทั้งบางกระแสออกมาประณามการกระทำอย่างดุดัน

เปรู เป็นประเทศแรกที่ประกาศตัวอย่างชัดเจน ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับลิเบียอย่างไม่เกรงกลัว และเรียกร้องให้ประเทศในละตินอเมริกากระทำการเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป (อียู) ที่ประกาศเรียกประชุมด่วน หารือถึงมาตรการลงโทษลิเบีย โดยมีเยอรมนีและฟินแลนด์ที่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดัน แต่ 27 เสียง ในอียูกลับมีความเห็นไม่สอดคล้อง

อิตาลี เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในอียูที่เลี่ยงการลงโทษ

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก เพราะเมื่อล้วงลึกลงไปถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองแล้ว เกินธรรมดา...

นอกจากความแนบชิดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งห่างกันเพียงไม่กี่ร้อยกิโลเมตรแล้ว แน่นอนว่าสาเหตุหลักมาจากผลประโยชน์ที่ทั้งสองพร้อมอิ่มเอมร่วมกัน

นั่นจึงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่โยงใยให้กัดดาฟียังคงไม่รู้สึกถึงภาวะโดดเดี่ยวนักจากการกระทำอันมิชอบ แถมยังอุ่นใจที่เชื่อว่าจะมีประเทศที่คอยหนุนหลัง

บริษัทสัญชาติอิตาลีหลายแห่งมีสัญญาธุรกิจด้านพลังงาน และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในลิเบียอย่างมหาศาล ก๊าซธรรมชาติราว 12% ที่ใช้ในอิตาลีนำเข้ามาจากลิเบีย

อีเอ็มไอ บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี ได้รับสัญญาขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลายจุดยาวนานกว่า 50 ปีเต็มมาแล้ว อีกทั้งสัญญาทั้งหมดที่ได้นั้นก็ล้วนแต่เป็นสัญญาระยะยาว (Takeorpay contracts) ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันสัญชาติสหรัฐที่มีอยู่ราว 4 บริษัทในลิเบีย ก็ถือว่าสหรัฐยังห่างจากอิตาลีอยู่มาก

สำหรับอิตาลีและลิเบียแล้วถือว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะลิเบียก็สนใจที่จะซื้อหุ้นของอีเอ็มไอด้วย แต่ไม่มีการเปิดเผยจำนวนที่ชัดเจนออกมา

ซีอีโอของอีเอ็มไอคือ แขกคนพิเศษที่ครองอภิสิทธิ์แนบชิดกับซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี และโมอัมมาร์ กัดดาฟี ในระหว่างการเดินทางเยือนอิตาลี

อีกทั้งยังมี 2 บริษัทยักษ์ก่อสร้าง ชื่อว่า อิมพรีจิโล (Impregilo) และเอสทัลดี (Astaldi) ที่แบร์ลุสโคนีเป็นผู้ผลักดัน จนกระทั่งได้สัญญาโครงการยักษ์ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ในลิเบีย

อย่างที่ว่า ทฤษฎีเงินต่อเงิน ผลประโยชน์ต่อยอดความสัมพันธ์

กัดดาฟีใช้บริษัท ลาฟิโกของตัวเองเป็นหมากซื้อหุ้นในสโมสรฟุตบอลของอิตาลีมูลค่ากว่า 21 ล้านเหรียญสหรัฐ

ยังไม่รวมถึงหุ้นของกัดดาฟีในกลุ่มของธนาคารอิตาลี ยูนิ เครดิต (UniCredit)

บุญคุณของลิเบียก็เคยโอบอุ้มเยียวยาค่ายผลิตรถยนต์ยักษ์ของอิตาลีมาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2520 ด้วยการทุ่มซื้อหุ้นของ Fiat ไว้ราว 15% จนโดนวิจารณ์และปล่อยทิ้ง ก่อนที่ล่าสุดมีอัตราการถือครองหุ้นอยู่เพียง 2% หรือต่ำกว่านั้น

อำนาจอันที่สั่งสมยาวนานกว่า 40 ปี ได้พอกพูนขุมทรัพย์ทั้งในและนอกประเทศอย่างมหาศาล ซ้ำยังมีมิตร (อาจจะ) แท้ อย่างผู้นำอิตาลีเป็นกองหนุนเคยถือหางอยู่ห่างๆ ก็คงไม่น่าแปลกใจที่ผู้นำลิเบียจะระห่ำพอที่จะต้องแลก เพื่อรักษาทั้งอำนาจและกองทรัพย์นั้นไว้

เห็นที...น้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์จะต้องคัดง้างกับวิกฤตนี้อีกเฮือกใหญ่