posttoday

จับตา'ลิเบีย'ในเปลวเพลิง โลกกระอักวิกฤตเศรษฐีน้ำมัน

23 กุมภาพันธ์ 2554

เหตุจลาจลและสังหารหมู่ในลิเบียอาจกระทบต่อมโนสำนึกของผู้ที่มีมนุษยธรรมทุกคน แต่ยากที่จะโยงใยเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องของชาวโลกได้ เพราะภาพลักษณ์ของประเทศกลางทะเลทรายซาฮาราแห่งนี้อาจไกลตัวเกินไปสำหรับบางคน หากคนเหล่านั้นไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว ลิเบียเป็นประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยน้ำมัน เป็นผู้ผลิต “ทองคำสีดำ” มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของแอฟริกา (ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมาชิกโอเปก)

เหตุจลาจลและสังหารหมู่ในลิเบียอาจกระทบต่อมโนสำนึกของผู้ที่มีมนุษยธรรมทุกคน แต่ยากที่จะโยงใยเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องของชาวโลกได้ เพราะภาพลักษณ์ของประเทศกลางทะเลทรายซาฮาราแห่งนี้อาจไกลตัวเกินไปสำหรับบางคน หากคนเหล่านั้นไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว ลิเบียเป็นประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยน้ำมัน เป็นผู้ผลิต “ทองคำสีดำ” มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของแอฟริกา (ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมาชิกโอเปก)

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

จับตา'ลิเบีย'ในเปลวเพลิง โลกกระอักวิกฤตเศรษฐีน้ำมัน

เหตุจลาจลและสังหารหมู่ในลิเบียอาจกระทบต่อมโนสำนึกของผู้ที่มีมนุษยธรรมทุกคน แต่ยากที่จะโยงใยเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องปากท้องของชาวโลกได้ เพราะภาพลักษณ์ของประเทศกลางทะเลทรายซาฮาราแห่งนี้อาจไกลตัวเกินไปสำหรับบางคน หากคนเหล่านั้นไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว ลิเบียเป็นประเทศที่รุ่มรวยไปด้วยน้ำมัน เป็นผู้ผลิต “ทองคำสีดำ” มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของแอฟริกา (ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นสมาชิกโอเปก)

ลิเบียยังนับเป็นพันธมิตร “ฝ่ายค้าน” ภายในโอเปก ที่นำโดยเวเนซุเอลา และอิหร่าน ที่มักแสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อโลกตะวันตกมาโดยตลอด ด้วยการสนับสนุนมาตรการตรึงกำลังการผลิต เพื่อผลักดันราคาน้ำมันให้แพงแสนแพง โดยไม่ไยดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของนานาประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน

ที่สำคัญที่สุดคือ ลิเบียเป็นประเทศแรกในกลุ่มโอเปกที่เกิดเหตุจลาจล อีกทั้งยังเป็นจลาจลที่รุนแรงที่สุด

ไม่เพียงเท่านั้น ลิเบียกลับยังเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดให้กับยุโรป ผ่านทางบริษัท Eni ของอิตาลี (อิตาลีไม่เพียงมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับลิเบีย แต่ยังเคยเป็นเจ้าอาณานิคมอยู่ระยะเวลาหนึ่ง) หากเหตุจลาจลลุกลามจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง ย่อมจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันในยุโรปอย่างไม่ต้องสงสัย

ล่าสุด บริษัทน้ำมันรายใหญ่ๆ ในลิเบียไม่ว่าจะเป็น Eni, BP, Royal Dutch Shell, Repsol, OMV และ Statoil ได้ยุติการผลิตน้ำมันแล้ว ด้วยหวั่นเกรงว่า ฝูงชนที่คลั่งแค้นจะบุกเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมการผลิต ยังผลให้ธุรกิจน้ำมันจากยุโรปและโลกตะวันตกได้รับผลกระทบโดยตรง ไม่แพ้ผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้น

ผลกระทบจะยิ่งรุนแรงเพราะยุโรปและซีกโลกตะวันตกยังไม่พ้นฤดูหนาว ทำให้ระดับความต้องการพลังงานมีอยู่สูงมาก และหากวิกฤตสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ราคาน้ำมันจะยิ่งถีบตัวสูงขึ้น โดยไม่จำเป็นว่า ลิเบียจะเผชิญกับสงครามกลางเมืองแล้วหรือไม่

ด้วยความสำคัญของลิเบียต่อการอยู่รอดของยุโรป ยังผลให้ราคาน้ำมันในตลาดลอนดอนกระโดดขึ้นมาแตะที่เหนือระดับ 108 เหรียญสหรัฐ ใกล้จะถึง 109 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอยู่รอมร่อ

ขณะที่ราคาน้ำมันในสหรัฐปรับขึ้นมาจ่อระดับ 95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หลังจากขึ้นมาถึง 2 เหรียญสหรัฐในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ยิ่งราคาน้ำมันในเอเชียด้วยแล้ว ราคาถึงกับปรับขึ้นมาถึง 7.34 เหรียญสหรัฐในคราวเดียว อยู่ที่ 93.54 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับอุตสาหกรรมโลก คือ ความกังวลว่าเหตุจลาจลในลิเบียจะลุกลามเป็นสงครามกลางเมือง ยังผลให้เกิดการระงับการผลิตชั่วคราว กลายเป็นการยุติธุรกิจน้ำมันอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งรวมถึงโอกาสในการสำรวจน้ำมันแหล่งใหม่ๆ ในลิเบีย ซึ่งคาดว่ายังมีอยู่อย่างเหลือเฟือสำหรับป้อนตลาดโลกที่กำลังฟื้นไข้เศรษฐกิจ

ปัญหาเฉพาะหน้าดังกล่าว จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่อาจฟันธงได้ว่า จะแก้ไขได้อย่างไร เพราะความรุนแรงไม่เพียงขยายวงจากเมืองเบงกาซี เมืองใหญ่อันดับ 2 ที่ถูกยึดโดยพลังประชาชนไปแล้วเท่านั้น แต่ยังเสี่ยงที่คลื่นมหาชนจะเข้ายึดกรุงตริโปลี เมืองหลวงอันเป็นหัวใจหลักของประเทศ

โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียที่กำลังเข้าตาจนไม่มีวันที่จะปล่อยให้ตริโปลีตกอยู่ในกำมือของมวลชนอย่างแน่นอน และจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงถึงขีดสุดเช่นกัน คำกล่าวของซาอิฟ บุตรที่ว่าจะสู้จนหมดกระสุนลูกสุดท้ายไม่เกินความจริงแม้แต่น้อย เพื่อพิจารณาจากยอดผู้เสียชีวิต และปากคำของนักบินเครื่องบินรบ 2 นายที่ระเห็จไปยังมอลตา เพื่อหนีคำสั่งบอมบาร์ดผู้ชุมนุมอย่างโหดเหี้ยม

คำของรัฐบาลลิเบียให้ปิดน่านฟ้า และความยากลำบากในการเข้าออกประเทศทั้งผ่านพรมแดนภาคพื้นดินและน่านน้ำ จะยิ่งเป็นการราดน้ำมันโหมกองเพลิง เพราะลิเบียต้องนำเข้าสินค้าจำเป็นมาก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ต้องนำเข้าในสัดส่วนสูงถึง 75% หากประชาชนที่ต้องว่างงานในอัตราสูงถึง 21% (สูงที่สุดในภูมิภาคแอฟริกาเหนือ) ไม่สามารถแบกรับราคาอาหารที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้อีกต่อไป มีโอกาสสูงที่ประชาชนที่ยังไม่เข้าข้างฝ่ายใดแน่ชัด อาจเข้าร่วมกับการต่อต้านรัฐบาลอย่างเต็มตัว

พลังเงียบเหล่านี้เหมือนยักษ์หลับที่รอวันตื่นขึ้นมาทวงคืนสิทธิและความมั่งคั่งของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนในวัย 3040 ปี ที่เคยผ่านยุคที่ลิเบียเคยเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวที่มั่งคั่งที่สุดประเทศหนึ่งในโลกช่วงทศวรรษที่ 80 เหนือกว่าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือแม้กระทั่งอิตาลี

แต่วันนี้ ลิเบียตกอับลงทุกวัน อีกทั้งความมั่งคั่งยังไม่รับการแบ่งสรรอย่างทั่วถึง แม้ว่าเมื่อปี 2552 จะมีความพยายามปันความมั่งคั่งจากรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำมันให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ทว่า ความพยายามดังกล่าวถูกขัดขวางจนต้องพับไป ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่า “ใคร” ที่เป็นผู้ขัดขวาง

จึงไม่น่าประหลาดใจว่าเหตุใดที่คนใหญ่คนโตในรัฐบาลรวมถึงบุตรชายของผู้นำประเทศจะกล้าเอ่ยคำ “สงครามกลางเมือง” เพราะทราบดีแก่ใจว่า ประชาชนอัดอั้นตันใจมานาน ทั้งๆ ที่การเตือนถึงแนวโน้มสงครามอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมอันเป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักที่นำรายได้เข้าประเทศในสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

การลุกฮือของพลังเงียบนับว่าน่ากังวลมากแล้ว แต่ความจริง ลิเบียยังซ่อนระเบิดเวลาลูกโตเอาไว้ และเป็นระเบิดลูกที่สามารถตัดขาดอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศได้ในพริบตา

น้อยคนที่จะทราบว่าลิเบีย ซึ่งมีพื้นที่ทั้งประเทศถึง 1.8 ล้านตารางกิโลเมตรนั้น มีพื้นที่ผลิตน้ำมันกระจุกอยู่แถบภาคตะวันออกเป็นหลัก ซึ่งกว่า 90% ของน้ำมันที่ส่งออกโดยลิเบียมาจากจังหวัดซีเรนาอิกา ในภาคตะวันออก อันมีเมืองเบงกาซีเป็นเมืองเอก

ขณะนี้เมืองเบงกาซีถูกยึดโดยมวลชน ก็หมายถึงความสั่นคลอนอย่างยิ่งยวดของภาคตะวันออก เท่ากับว่าเมืองหลวงของอุตสาหกรรมน้ำมันตกอยู่ในความสับสนอลหม่านโดยบริบูรณ์ และหมายความว่า การยึดกรุงตริโปลีอาจไม่มีความหมายต่อตลาดโลกได้เท่ากับการยึดเมืองเอกในภาคตะวันออก แม้เมืองหลวงจะยังมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อระบอบกัดดาฟีก็ตาม

ล่าสุด ผู้นำเผ่าอัลซูวัยยา ซึ่งมีอิทธิพลเหนือแหล่งน้ำมันในภาคตะวันออก ขู่ที่จะใช้กำลังเข้าสกัดกั้นการส่งออกน้ำมัน หากรัฐบาลไม่ยุติการ “กดขี่ข่มเหงประชาชน”

คำขู่ของชนเผ่านี้ไม่ใช่เพียงลมปาก เพราะที่ผ่านมาเผ่าอัลซูวัยยาไม่พอใจกัดดาฟีอยู่แล้ว จากความขัดแย้งเรื่องแบ่งสันปันส่วนความมั่งคั่งจากการผลิตน้ำมัน หากกัดดาฟีถึงคราวซวนเซเมื่อใด โอกาสที่เผ่านี้จะประกาศไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลในกรุงตริโปลี เพื่อกุมอุตสาหกรรมน้ำมันเพียงผู้เดียวมีโอกาสสูงไม่น้อย

แต่มีโอกาสไม่น้อยเช่นกันที่รัฐบาลในกรุงตริโปลีจะตอบโต้อย่างดุเดือด หากถูกตัดขาดเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยง ผลก็คือ อุตสาหกรรมน้ำมันในลิเบียจะยิ่งเป็นอัมพาต และยิ่งไร้อนาคตที่จะหายขาด

หากอุตสาหกรรมน้ำมันของลิเบียหยุดชะงักลง สิ่งที่ตามมามิใช่เพียงราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่จะยังผลสะเทือนต่อภาคธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน แต่พัวพันกับทุนของลิเบียที่ได้มาจากการค้าน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจใหญ่ๆ ในยุโรปที่มีความสำคัญหรือมีชื่อเสียงในระดับโลก

หนังสือพิมพ์ Guardian ในอังกฤษเปิดเผยว่า รายได้จากน้ำมันและหลักประกันจากปริมาณน้ำมันสำรอง ยังผลให้ลิเบียมีศักยภาพในการลงทุนทั่วโลกถึง 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นผู้ถือหุ้นหลักของหนังสือพิมพ์ชั้นนำอย่าง Financial Times รวมถึงบริษัทรถยนต์ Fiat และทีมฟุตบอล Juventus อันโด่งดัง

ไม่เท่านั้นหากวิกฤตในลิเบียลงเอยด้วยการยึดอำนาจโดยกองทัพ ก็อาจมีแนวโน้มที่รัฐบาลเผด็จการรายใหม่จะเข้ายึดอุตสาหกรรมน้ำมันเข้าเป็นของรัฐ (Nationalisation) ซึ่งย่อมจะตามมาด้วยหายนะต่อบริษัทน้ำมันชั้นนำของโลก ที่ขณะนี้ก็บอบช้ำไม่น้อยอยู่แล้วจากสถานการณ์ที่ยังไร้หนทางคลี่คลาย

ฟากเอเชีย แม้จะไม่ได้รับผลโดยตรงเท่ายุโรปจากวิกฤตครั้งนี้ แต่แรงกระเพื่อมจากการลุกฮือที่กลายเป็นการนองเลือดทั่วโลกอาหรับ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเอเชียมากขึ้นทุกขณะ ในฐานะที่ภูมิภาคนี้บริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก ไม่เพียงเท่านั้น บางประเทศในเอเชียยังเกี่ยวพันกับ “ทุน” ของอุตสาหกรรมน้ำมันในลิเบียโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ส่งออกแรงงานไปทำงานในลิเบีย

ฟิลิปปินส์มีแรงงานในลิเบียถึง 2.6 หมื่นคน ขณะที่ไทยตามมาติดๆ ที่ 2.5 หมื่นคน ทั้งสองประเทศได้รับผลโดยตรงจากรายได้ที่หดหายจากแรงงานเหล่านี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันถูกปิดตาย

ภาพที่ปรากฏในลิเบียยิ่งตอกย้ำให้เอเชียได้ประจักษ์ถึงความเปราะบางของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และตระหนักว่าแท้จริงแล้วฐานะอันมั่นคงของเอเชียนั้นตั้งอยู่บนความเปราะบางอย่างยิ่ง

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก ที่กำลังพลัดหลงอยู่ท่ามกลางความโกลาหลในแดนเศรษฐีน้ำมันอย่างไม่ทันตั้งตัว