posttoday

เปิดศึกหั่นงบประมาณสหรัฐ อนาคตเศรษฐกิจถูกปิดทาง

22 กุมภาพันธ์ 2554

มติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่เห็นชอบให้หั่นงบประมาณประจำปีนี้ลงถึง 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากงบประมาณทั้งหมด 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาทั้งปีงบประมาณอีกถึง 7 เดือน อาจมองอย่างผิวเผินได้ว่า เป็นความพยายามที่มีนัยทางการเมือง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรกุมเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกัน อันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต

มติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่เห็นชอบให้หั่นงบประมาณประจำปีนี้ลงถึง 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากงบประมาณทั้งหมด 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาทั้งปีงบประมาณอีกถึง 7 เดือน อาจมองอย่างผิวเผินได้ว่า เป็นความพยายามที่มีนัยทางการเมือง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรกุมเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกัน อันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต

...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

เปิดศึกหั่นงบประมาณสหรัฐ อนาคตเศรษฐกิจถูกปิดทาง

มติของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐที่เห็นชอบให้หั่นงบประมาณประจำปีนี้ลงถึง 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากงบประมาณทั้งหมด 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆ ที่ยังเหลือเวลาทั้งปีงบประมาณอีกถึง 7 เดือน อาจมองอย่างผิวเผินได้ว่า เป็นความพยายามที่มีนัยทางการเมือง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรกุมเสียงข้างมากโดยพรรครีพับลิกัน อันเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต

นัยทางการเมืองยิ่งค่อนข้างชัดเจน เพราะพรรครีพับลิกันเพิ่งคว้าชัยในการเลือกตั้งกลางสภาเมื่อเดือน พ.ย. หรือที่เรียกว่าการเลือกตั้งช่วงกลางเทอม (เพราะจัดขึ้นทุกๆ ปีที่ 2 ของระยะการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเทอมละ4 ปี) ชัยชนะครั้งนั้นทำให้พรรครีพับลิกันฮึกเหิม ลำพองใจ ถึงกับประกาศที่จะคว่ำมาตรการใหม่ๆ ของโอบามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปนโยบายประกันสุขภาพ ที่ต้องใช้งบประมาณประจำปี 2554 เป็นฐานการเริ่มต้นที่สำคัญ

จะเห็นได้ว่า ความพยายามขวางแผนการของโอบามา ถึงกระทั่งมีมติเฉือนงบก้อนโตดูเหมือนเป็นประเด็นปัญหาภายในสหรัฐเองแม้ว่างบประมาณที่ถูกเฉือนไปจะก้อนใหญ่ถึงขนาดเรียกความสนใจของชาวโลกก็ตาม

ไม่แต่เท่านั้น การเฉือนงบประมาณยังมีเป้าหมายทางการเมืองที่ค่อนข้างชัดเจน นั่นคือ พรรครีพับลิกันมีเจตนาที่จะสลายอิทธิพลของสหภาพแรงงาน ซึ่งฐานเสียงหลักของพรรคเดโมแครต เนื่องจากพรรคเดโมแครตสนับสนุน นโยบายสวัสดิการสังคมเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงนโยบายปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่โอบามาผลักดัน แต่พรรครีพับลิกันเข้าขวางสุดตัว

สหภาพแรงงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากนโยบายของพรรคเดโมแครต จึงให้การสนับสนุนพรรคนี้อย่างเต็มที่ และยิ่งสหภาพแรงงานเข้มแข็งมากเพียงใด พรรคเดโมแครตยิ่งแข็งแกร่งเพียงนั้น

ด้วยเหตุนี้ พรรครีพับลิกันที่เพิ่งกุมสภาผู้แทนราษฎร และเก้าอี้ผู้ว่าการรัฐหลายรัฐ จึงใช้ยุทธศาสตร์คู่ขนานในการสลายขุมพลังทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ประการแรก คือ ขวางงบประมาณปี 2554 เพื่อสกัดกั้นการปรับใช้นโยบายปฏิรูปประกันสุขภาพ ประการที่สอง ให้ผู้ว่าการรัฐจัดการขั้นเด็ดขาดกับสหภาพแรงงานที่ชุมนุมประท้วงเรียกร้องสวัสดิการ

สิ่งที่ปรากฏชัดในขณะนี้คือ มติของผู้แทนราษฎรให้เฉือนงบประมาณก้อนใหญ่ และท่าทีแข็งกร้าวของผู้ว่าการรัฐวิสคอนซิน ในการเผชิญหน้ากับการประท้วงโดยเครือข่ายสหภาพแรงงานกว่า 6.5 หมื่นคน ที่คัดค้านการลดสวัสดิการ และเร่งให้ปรับใช้มาตรการประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามเจตนารมณ์ของโอบามา

ไม่เฉพาะแค่ในรัฐวิสคอนซินเท่านั้นที่รีพับลิกันเริ่มแผนการบ่อนทำลายเดโมแครต แต่ยังรวมถึงรัฐโอไฮโอ รัฐอินเดียนา และรัฐไอโอวา ที่พรรคฝ่ายค้านกุมอำนาจ และเตรียมเดินเครื่องมาตรการคู่ขนานเพื่อสลายฐานเสียงของโอบามาและพลพรรค ซึ่งรัฐเหล่านี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ผลการเลือกตั้งในรัฐเหล่านี้มักจะเป็นเสมือนเข็มทิศที่จะชี้ไปยังผู้ชนะในท้ายที่สุด

แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยประเด็นทางการเมือง แต่การหั่นงบประมาณ 6.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก

ในส่วนของยุทธศาสตร์บ่อนทำลายสหภาพแรงงานนั้น ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านฉวยโอกาสในคราที่ตลาดแรงงานอ่อนแอสุดขีด ภาวะการจ้างงานตกต่ำถึงขั้นที่ภาคการผลิตอ่อนแอตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเพราะแรงงานดั้งเดิมที่ต้องลาออกไป หรือเป็นเพราะการที่ภาคอุตสาหกรรมต้องย้ายฐานไปยังรัฐที่ต้นทุนต่ำกว่า เช่น ในพื้นที่ภาคใต้ ทว่า รัฐในภาคนี้ล้วนแต่เป็นรัฐที่ต่อต้านสหภาพ และหนุนรีพับลิกันเป็นหลัก

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ความเข้มแข็งของภาคแรงงานจะอ่อนแรงลง สบโอกาสพรรคฝ่ายค้านจะบดขยี้สหภาพแรงงาน เพื่อยังประโยชน์ทางการเมืองแก่ตน และยังผลดีในด้านการลดต้นทุนส่วนของสวัสดิการแรงงานต่อนายทุนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแรงหนุนหลักของพรรครีพับลิกัน

นอกจากนี้ ความพยายามลดงบประมาณประจำปีโดยพรรคฝ่ายค้าน ดูเหมือนจะเป็นความหวังดีต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ เพราะเท่ากับเป็นการลดระดับงบประมาณขาดดุลโดยตรง ซึ่งในปีนี้ประเมินว่าจะขาดดุลถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การลดงบประมาณมหาศาลส่งผลกระทบ “คู่ขนาน” ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในลักษณะเดียวกับที่พรรครีพับลิกันใช้ยุทธศาสตร์ “คู่ขนาน” ในการสลายความนิยมในตัวโอบามา และพรรคเดโมแครต

เพราะผลประการแรกของการลดงบอย่างมหาศาล จะติดตามด้วยการปิดสำนักงานและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เพื่อประหยัดงบประมาณที่ลดลง ไม่เพียงเท่านั้น มติของสภาผู้แทนราษฎรยังบังคับให้หน่วยงานสำคัญระดับกระทรวงระงับการปรับใช้นโยบายประกันสังคมถ้วนหน้าเอาไว้ก่อน ด้วยเหตุผลด้านงบประมาณเช่นกัน

แม้โอบามาและพลพรรคเดโมแครตจะไม่ยอมให้มีการกระทำเช่นนั้นได้ง่ายๆ และอาจถึงขั้นที่ต้องใช้สิทธิวีโตของประธานาธิบดี แต่ถึงที่สุดแล้ว โอบามาอาจคล้อยตามแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้าม และปล่อยให้ข้าราชการนับพันคนต้องตกงาน และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการโดยรัฐอย่างสะดวก

ที่โอบามาจะยอมคล้อยตาม แม้จะกระทบต่อความพยายามสร้างงานขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ก็เพราะการปิดหน่วยงานภาครัฐไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายดังที่คิด ตรงกันข้าม กลับเป็นเงื่อนไขที่ซับซ้อน ยอกย้อนทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และผลพวงที่ติดตามมาถึงกับทำให้พรรครีพับลิกันต้องเพลี่ยงพล้ำมาแล้ว

ย้อนหลังไปเมื่อปี 1995 ในสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ผู้นำท่านนั้นเคยตกที่นั่งเดียวกับโอบามามาแล้ว เมื่อสภาผู้แทนราษฎรตกอยู่ในกำมือของพรรครีพับลิกัน ซึ่งพยายามขวางร่างงบประมาณด้วยการอ้างสมดุลงบประมาณ โดยกดดันให้รัฐบาลต้องหั่นสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การปิดหน่วยงานภาครัฐเป็นจำนวนมาก

ผลปรากฏว่า ประชาชนเข้าข้างคลินตัน และมองว่าพรรครีพับลิกันเล็งผลทางการเมืองบนความเสียหายของเศรษฐกิจ ในเวลาต่อมา ไม่เพียง นิวต์ กริงริช แกนนำพรรครีพับลิกันต้องลาออกจากตำแหน่ง ทั้งที่เคยเป็นฮีโร่ที่ทำให้พรรคชิงเก้าอี้ในสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตได้ครั้งแรกในรอบ 40 ปีเท่านั้น แต่ยังมีส่วนทำให้คลินตันได้รับคะแนนนิยมอย่างล้นหลาม จนได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศอีกครั้งในปี 1996

สถานะของโอบามาในวันนี้คล้ายคลึงกับคลินตันอย่างกับแกะ ไม่ว่าจะด้วยคะแนนนิยมที่ลดฮวบ การเสียสภาผู้แทนราษฎรให้ฝ่ายค้าน การต้องถูกสภาที่กุมโดยฝ่ายตรงข้ามหั่นงบประมาณ จนถึงแรงกดดันให้ต้องปิดหน่วยงานภาครัฐ

หากผลกระทบต่อศักยภาพแรงงานและการทำงานเพื่อผลักดันการฟื้นตัวโดยรัฐบาลนับว่าเป็นปัญหาใหญ่แล้ว ยังมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจอย่างตรงไปตรงมาที่รุนแรงยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สั่นคลอนลงจากการต้องลดการก่อหนี้ผ่านพันธบัตร ติดตามมาด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเมื่อดอกเบี้ยสูงขึ้น ความพยายามเพื่อกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจยิ่งเสื่อมถอยลง กลายเป็นแรงถ่วงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโลกโดยรวม

พรรครีพับลิกันจะตกเป็นจำเลยถึง 2 ข้อหา!

ทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ฉวยโอกาสนี้ในทันที โดยกล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีคลัง จี20 ว่า มติตัดงบประมาณ “ที่ผ่านโดยสภาผู้แทนราษฎรจะบั่นทอนและทำลายศักยภาพของเราในการสร้างงานและขยายอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ”

ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์เหล่านี้ พรรครีพับลิกันล้วนทราบดีแก่ใจทั้งสิ้น จึงไม่น่าประหลาดใจที่เพียงคล้อยหลังหนึ่งวันหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีมติตัดงบประมาณและเสนอการแก้ไขนานาประการ (รวมถึงการปิดหน่วยงานของรัฐ) ปรากฏว่า ระดับผู้นำพรรครีพับลิกันรีบแก้ข่าวเป็นพัลวันว่า จะยังไม่กดดันให้รัฐบาลต้องปิดหน่วยงานเหมือนดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 1995

ลักษณะการเช่นนี้ พอจะคาดการณ์ได้ว่า ด้วยความฮึกเหิมจึงทำให้รีพับลิกันเดินหมากพลาดไปหนึ่งตัว กลายเป็นการเปิดช่องให้โอบามาใช้กลเม็ดเดียวกับที่คลินตันเคยใช้ ครั้นพอรู้ตัว รีพับลิกันก็พยายามใช้น้ำเย็นเข้ารด เพื่อชะลอโทสะของโอบามา พรรครีพับลิกันที่อาจเตรียมย้ายที่หมากเข้าสู่ตาที่เหนือกว่า

ไม่ว่าใครจะถือหมากเหนือกว่า สุดท้ายแล้วการประลองไหวพริบของทั้งสองฝ่าย ล้วนใช้เศรษฐกิจของประเทศเป็นสิ่งเดิมพันด้วยกันทั้งสิ้น