posttoday

โอบามาแถลงคองเกรส โวหารที่รอการ "Change"

28 มกราคม 2553

จากผลสำรวจความเห็นโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น พบว่า ชาวสหรัฐ 48% มีปฏิกิริยาด้านบวกต่อแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสของประธานาธิบดีบารัก โอบามา....

จากผลสำรวจความเห็นโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น พบว่า ชาวสหรัฐ 48% มีปฏิกิริยาด้านบวกต่อแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสของประธานาธิบดีบารัก โอบามา....

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

จากผลสำรวจความเห็นโดยสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น พบว่า ชาวสหรัฐ 48% มีปฏิกิริยาด้านบวกต่อแถลงการณ์ต่อสภาคองเกรสของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ขณะที่อีก 10% ค่อนข้างเห็นไปในด้านบวก ส่วน 21% มีปฏิกิริยาด้านลบ หากพิจารณาจากเสียงชื่นชมของบรรดาพลพรรคเดโมแครต และท่าทีสงบเสงี่ยมของสมาชิกพรรครีพับลิกัน ก็น่าจะกล่าวได้ว่า ผลลัพธ์โดยรวมของแถลงการณ์ครั้งแรกโดยนายโอบามาจัดอยู่ในระดับดีพอใช้

อย่างไรก็ตาม นายโอบามาน่าจะทราบดีแก่ใจว่า แถลงการณ์ของตนออกมาในเชิง “โฆษณาชวนเชื่อ” เสียเป็นส่วนใหญ่ แถลงการณ์ในลักษณะนี้จะเป็นผลเสียทางการเมืองในเวลาต่อมา หากเจ้าของคำพูดไม่สามารถปฏิบัติตามได้อย่างทันท่วงทีกับความคาดหวังของผู้รับฟัง ซึ่งในที่นี้คือประชาชนสหรัฐ และชาวโลก

โอบามาแถลงคองเกรส โวหารที่รอการ "Change" โอบามาขณะแถลงต่อสภาคองเกรส ภาพ:เอเอฟพี

หากจะแจกแจงคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดีสหรัฐจะเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในส่วนของโครงการสวัสดิการประกันสุขภาพ นายโอบามาเรียกร้องให้สภาคองเกรสอย่าทอดทิ้งความพยายามให้โครงการนี้ และผลักดันให้ผ่านความเห็นชอบในที่สุด

อย่างไรก็ตาม นายโอบามาไม่ได้ระบุว่า ร่างกฎหมายปฏิรูปควรมีรายละเอียดเช่นไรบ้าง

ในส่วนของสภาวะโลกร้อน นายโอบามาเรียกร้องให้ผ่านกฎหมายพลังงานและสภาพอากาศ ด้วยการเสนอมาตรการอุดหนุนการใช้พลังงานสะอาด

แต่กระนั้น นายโอบามาไม่ได้ระบุถึงระบบ CapandTrade หรือการซื้อขายระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสภาพอากาศโลก

ในส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษี นายโอบามายืนยันว่าได้ลดหย่อนภาษีให้กับครอบครัวชนชั้นแรงงานในสัดส่วนถึง 95% ของครอบครัวกลุ่มดังกล่าว ทั้งยังลดภาษีให้กับธุรกิจขนาดย่อม ลดภาษีให้กับผู้ซื้อบ้าน อีกทั้งยังไม่ขึ้นภาษีกับผู้มีรายได้แต่ยังไม่มีครอบครัว

เช่นกันกับคำสัญญาอื่นๆ ผู้นำสหรัฐกลับยังไม่เอ่ยถึงการขึ้นภาษีอย่างละเอียดเพื่อที่จะนำเงินภาษีที่เรียกเพิ่มจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง มาโปะเงินภาษีที่หายไปจากมาตรการลดหย่อนภาษี ประเด็นนี้ยังสืบเนื่องมาถึงประเด็นด้านงบประมาณ

ปัญหางบประมาณขาดดุลเป็นสิ่งที่ผู้นำสหรัฐไม่อาจเลี่ยงที่จะชี้แจง เพราะคาดว่าจะพุ่งขึ้นมาถึง 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในอีกทศวรรษต่อจากนี้

แต่จนแล้วจนรอด แม้จะเป็นปัญหาคอขาดบาดตาย แต่นายโอบามายังไม่ระบุถึงมาตรการลดภาวะงบประมาณขาดดุลที่ชัดเจน

จะเห็นได้ว่าคำมั่นสัญญาเชิงนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐยังขาดๆ เกินๆ ในหลายส่วน ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง หากจะพิจารณาว่า เนื้อหาของแถลงการณ์ออกมาในเชิงชวนเชื่อ แต่เป็นการชวนเชื่อที่ขาดมาตรการรองรับ เสี่ยงที่ประชาชนจะฉงนฉงาย และไม่พอใจยิ่งขึ้นหากนายโอบามาทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้

ที่สำคัญก็คือ แม้แต่นายโอบามาเองยังยอมรับว่า “ความเปลี่ยนแปลงมาถึงล่าช้ากว่าที่คิด”

ประธานาธิบดีสหรัฐพลาดพลั้งไปหรือไม่ที่ปล่อยให้แถลงการณ์ต่อรัฐสภามีสภาพไม่ต่างจากการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง?

และถือว่าพลาดหรือไม่ที่ทำให้คำสัญญาที่ไม่ชัดเจนบางข้อกลับเป็นการพิสูจน์ว่านโยบาย Change กำลังเสื่อมมนต์ขลังลงอย่างรวดเร็ว จนแม้แต่เจ้าของคำพูดยังยอมรับโดยดุษฎี?
หากจะพิจารณาจากสถานการณ์ของนายโอบามาในขณะนี้ จะพบว่าผู้นำสหรัฐกำลังถูกกดดันจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถานที่เรียกเสียงสวดส่งมากกว่าสรรเสริญ มาถึงการยกเครื่องโครงการประกันสุขภาพที่กลับทำให้ฐานเสียงของตนไม่พอใจ จนยังผลให้ต้องเสียที่นั่งในรัฐแมสซาชูเซตส์

สถานการณ์เช่นนี้นายโอบามายิ่งจะต้องชี้แจง ถึงจะแจงได้ไม่ละเอียดก็ต้องฉวยโอกาสชี้แจงไว้ก่อน แต่น่าผิดหวังอยู่ประการหนึ่งก็คือ การชี้แจงถูกทำให้คล้ายกับการชวนเชื่อมากเกินไป ซึ่งเสี่ยงต่อคะแนนนิยมในระยะยาว

ที่ว่านโยบาย Change กำลังเสื่อมมนต์ขลังหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่า นายโอบามาประสบกับทางตันในหลายๆ เรื่อง อีกทั้งยังต้องสะสางปัญหาคาราคาซังมากมาย อาจทำให้ดูล่าช้าไปบ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว มีการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงไม่น้อยเช่นกัน

ที่น่าเสียดายคือชาวสหรัฐและชาวโลกกลับทำเป็นมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เนื่องจากยังกังวลกับวิกฤตการเงินและเศรษฐกิจถดถอย

ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดของผู้นำสหรัฐคือการดึงความเชื่อมั่นของชาวสหรัฐให้กลับมาศรัทธาในความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ไม่ใช่ดึงให้ชาวสหรัฐกลับมานิยมชมชอบตนเอง
การดึงความเชื่อให้กลับมานั้น นายโอบามาได้ลงมือทำแล้วดังที่ปรากฏในบางส่วนบางตอนของแถลงการณ์ต่อรัฐสภา แต่สิ่งที่โอบามาให้น้ำหนักน้อยไป คือน้ำเสียงกระตุ้นเร้าให้เกิดความฮึกเหิม อีกทั้งน้ำเสียงของโอบามายังออกมาในเชิงถ่อมตนจนเกินไปด้วยซ้ำ

เมื่อเปรียบเทียบกับแถลงการณ์ต่อรัฐสภาของประธานาธิบดีดิมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซียเมื่อปีที่แล้วจะพบว่า น้ำเสียงเต็มไปด้วยการกระตุ้นให้เกิดความเชื่อมั่น ใช้ถ้อยคำที่กระชับและเนื้อหาไม่ยาวเท่ากับของผู้นำสหรัฐ ที่สำคัญก็คือปิดท้ายด้วยคำปลุกระดมว่า “รัสเซียลุยไปข้างหน้า!”

ขณะที่คำแถลงของประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย เมื่อเดือนก.ค. ปีที่แล้วมีความกระชับเช่นกัน แต่มุ่งเน้นในการกระตุ้นให้ชาวฟิลิปปินส์ก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่ดีกว่า พร้อมวางเป้าที่จะผลักดันฟิลิปปินส์ให้เป็นประเทศโลกที่ 1 ภายในเวลา 20 ปี

โอบามามีการระบุเช่นนั้นเช่นกัน คือกล่าวว่า “สหรัฐจะไม่ยอมเป็นที่ 2 รองจากผู้ใด” แต่น่าเสียดายที่ปรากฏเนื้อหาทำนองนี้เพียงไม่กี่บรรทัด

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อผลสำรวจความเห็นออกมาในด้านบวก ภารกิจต่อไปจากนี้ของนายโอบามาคือการแปรคำพูดให้กลายเป็นความจริงโดยเร็วที่สุด

การกล่าวพูดพล่ามทำเพลง หรือชี้แจงอันใดไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป เพราะยิ่งผู้นำสหรัฐนำพาประเทศให้พ้นจากการ “เป็นรอง” ได้เมื่อใด ความเชื่อมั่น ฮึกเหิมของประชาชนจะกลับมาอีกครั้ง

นั่นหมายความว่า ความเชื่อมั่นในตัวโอบามาจะหวนกลับมาเช่นกัน