posttoday

วิกฤตโลกอาหรับยืดเยื้อ ศก.ไทย-อาเซียนกระอัก?

21 กุมภาพันธ์ 2554

เหตุจลาจลขับไล่ผู้นำที่ลุกลามจากกลุ่มประเทศอาหรับในแถบแอฟริกาเหนือสู่ตะวันออกกลางมานับตั้งแต่ต้นปี กระทั่งล่าสุดสถานการณ์ขยายวงจนกลายเป็นเหตุนองเลือดในหลายประเทศทั้งในเยเมน บาห์เรน และลิเบีย กำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกใบนี้ในหลายมิติ

เหตุจลาจลขับไล่ผู้นำที่ลุกลามจากกลุ่มประเทศอาหรับในแถบแอฟริกาเหนือสู่ตะวันออกกลางมานับตั้งแต่ต้นปี กระทั่งล่าสุดสถานการณ์ขยายวงจนกลายเป็นเหตุนองเลือดในหลายประเทศทั้งในเยเมน บาห์เรน และลิเบีย กำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกใบนี้ในหลายมิติ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

วิกฤตโลกอาหรับยืดเยื้อ ศก.ไทย-อาเซียนกระอัก?

เหตุจลาจลขับไล่ผู้นำที่ลุกลามจากกลุ่มประเทศอาหรับในแถบแอฟริกาเหนือสู่ตะวันออกกลางมานับตั้งแต่ต้นปี กระทั่งล่าสุดสถานการณ์ขยายวงจนกลายเป็นเหตุนองเลือดในหลายประเทศทั้งในเยเมน บาห์เรน และลิเบีย กำลังสร้างแรงกระเพื่อมต่อโลกใบนี้ในหลายมิติ

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างความสั่นสะเทือนในแง่การเมือง และการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยในชาติอาหรับเท่านั้น แต่ยังสำแดงฤทธิ์เขย่าเศรษฐกิจโลกได้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะผลกระทบต่อตลาดน้ำมัน

ดั่งจะเห็นได้จากนับตั้งแต่ “วิกฤตไล่ผู้นำ” อุบัติขึ้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกก็เริ่มผันผวน และไต่ระดับขึ้นทุบสถิติสูงสุดเป็นว่าเล่น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ เดือน ก.พ. พุ่งกระฉูดไปแตะที่ระดับ 104.52 เหรียญต่อบาร์เรล ในระหว่างการซื้อขาย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2551

แต่นั่นก็ยังไม่ร้อนแรงเท่าตอนที่สถานการณ์ในอียิปต์ร้อนระอุถึงขีดสุด เพราะในช่วงเวลานั้น ราคาน้ำมันดิบเบรนต์วิ่งขึ้นไปอยู่ที่ราว 103 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีแนวโน้มว่าราคาน้ำมันโลกอาจขึ้นไปเหนือระดับ 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในไม่ช้า

ทั้งนี้ เพราะอียิปต์ไม่เพียงเป็นที่ตั้งของคลองสุเอซ เส้นทางคมนาคมที่สำคัญยิ่งสำหรับการขนส่งทางทะเลทั่วโลก ด้วยปริมาณเรือเดินสมุทรที่ผ่านเข้าออกไปยังยุโรปและเอเชียสูงถึงกว่า 1.7 หมื่นลำต่อปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 8% ของปริมาณการขนส่งทางทะเลทั่วโลก

อีกทั้งอียิปต์ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันที่สำคัญภายนอกกลุ่ม OPEC ด้วยมีปริมาณการส่งออกน้ำมันราว 6.83 แสนบาร์เรลต่อวัน หรืออยู่ในอันดับ 67 ของโลก ตามข้อมูลของหน่วยสืบราชการลับของสหรัฐ (ซีไอเอ)

นอกจากตลาดน้ำมันโลกจะสะเทือนแล้ว แนวโน้มอันตรายในตะวันออกกลางยังผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลก นับตั้งวอลสตรีต ไปจนถึงเอเชีย มีปฏิกิริยาในแดนลบ และขึ้นๆ ลงๆ ตามความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้ ก็เพราะนักลงทุนอยู่ในอาการขวัญผวา กลัวว่าเชื้อไฟที่ลุกลามไปทั่วตะวันออกกลางจะส่งผลต่อการผลิตและการส่งออกน้ำมัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของดินแดนแห่งนี้

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า “วิกฤตน้ำมันโลก” จะกลับมาหลอกหลอนชาวโลกอีกครั้งอย่างไม่ต้องสงสัย

แต่ทว่านอกเหนือจาก “น้ำมัน” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ตะวันออกกลางกุมบังเหียนอยู่แล้ว ลูกหลงจากวิกฤตโลกอาหรับนี้หาได้มีอิทธิพลพอที่จะซัดกระหน่ำเข้าใส่เศรษฐกิจประเทศต่างๆ แบบเรียงตัว

เพราะหากวิเคราะห์ให้ลึกจะเห็นว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในโลกอาหรับ ส่งผลกระทบต่อด้านการค้าและการลงทุนได้ในวงจำกัดเท่านั้น

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ผลพวงจากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง หากไม่นับรวมราคาน้ำมันแล้ว แทบจะไม่มีผลใดๆ ต่อไทย และอาเซียนเลย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

หนึ่งในเหตุผลหลักคือ หากไม่อุดมไปด้วยทรัพยากรอันล้ำค่า อย่างน้ำมัน ดินแดนแห่งนี้ ก็แทบจะไม่มีความสลักสำคัญใดๆ ในเวทีโลก

เห็นได้จากข้อมูลการส่งออกของอียิปต์ ประเทศที่ค่อนข้างมีอิทธิพลในภูมิภาคนั้นมีเพียงไม่ถึง 14% นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับไทย และเวียดนาม

นอกจากนี้ เมื่อมองในแง่ความร่วมมือกับกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ในเวทีโลก จะพบว่ามีประเทศในกลุ่มอาหรับถึง 10 ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ขณะที่มูลค่าการเข้าไปลงทุนโดยตรง (FDI) ในประเทศอาหรับก็ไม่ได้มีสัดส่วนที่สูงนัก

โดยเฉพาะในแง่ของการทำการค้า จะเห็นว่าไทยและอาเซียนไม่ใช่คู่ค้าสำคัญของโลกอาหรับ ดั่งเช่นสหรัฐและยุโรป

อาห์เหม็ด ฮัสนี ฮานัดลาห์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของมาเลเซีย ระบุว่าสถานการณ์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงในอียิปต์จะไม่ส่งผลกระทบต่อมาเลเซียมากนัก เพราะมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างมาเลเซียและอียิปต์มีไม่มากนัก

“ในแง่ของการค้าระหว่างมาเลเซีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนั้น ถือว่าไม่มาก โดยเฉพาะในอียิปต์ถือว่าน้อยมาก” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของมาเลเซียกล่าว พร้อมเสริมด้วยว่า ชาติคู่ค้าสำคัญกับอาเซียน เอเชียตะวันตก เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐ และกลุ่มชาติยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี

เช่นเดียวกับประเทศไทยหากพิจารณาในแง่มูลค่าการค้า อาจกล่าวได้ว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยในโลกอาหรับ แทบจะไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อไทยเลยก็ว่าได้

อียิปต์เป็นคู่ค้าของไทยอันดับที่ 47 และเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคแอฟริกา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2547-2551) มีมูลค่าการค้ากับไทยเฉลี่ยปีละ 573.99 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด

สอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่าเหตุจลาจลในอียิปต์ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากไทยมีมูลค่าการส่งออกไปอียิปต์เพียง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมเท่านั้น

ขณะที่เยเมนนั้นมีมูลค่าการค้ากับไทยในปริมาณเล็กน้อยมาก และเหตุจลาจลในประเทศก็แทบไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อเศรษฐกิจโลกเลยด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ตราบที่ไฟแห่งความกระหายในสันติภาพยังลุกลามไปทั่วตะวันออก อย่างไม่มีวี่แววจะดับมอด โลกก็ไม่อาจละสายตาจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ได้

เพราะหากสถานการณ์บานปลาย ไปจุดติดในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายหลักของโลก ผลกระทบที่ถูกส่งออกมาจะไม่เป็นเพียงแรงกระเพื่อม แต่จะก่อตัวเป็นสึนามิยักษ์รอพัดถล่มเศรษฐกิจโลกอีกครั้งในไม่ช้า