posttoday

ประเทศใหญ่ ประเทศเล็ก

20 กุมภาพันธ์ 2554

ถ้าเราปรับความคิดนี้มาพิจารณาเรื่องไทยกับเขมร เราก็จะต้องลดความ “เห่อเหิม” เรื่องความเป็นชาติที่ “ใหญ่กว่า-เหนือกว่า” ทิ้งไปเสีย แล้วเปิดใจกว้างให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...

ถ้าเราปรับความคิดนี้มาพิจารณาเรื่องไทยกับเขมร เราก็จะต้องลดความ “เห่อเหิม” เรื่องความเป็นชาติที่ “ใหญ่กว่า-เหนือกว่า” ทิ้งไปเสีย แล้วเปิดใจกว้างให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน...

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

สมัยที่ผู้เขียนเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจารย์ท่านสอนว่าต้องพิจารณาจากองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ 1.ผู้แสดง 2.เป้าหมาย 3.พฤติกรรม และ 4.ผลกระทบ

“ผู้แสดง” ก็คือรัฐหรือประเทศต่างๆ ที่แบ่งเป็นหลายประเภท ประเภทแรกแบ่งตามขนาด ที่ตั้ง และศักยภาพของประเทศ หรือภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ ประเทศขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ประเภทต่อมาแบ่งตามอิทธิพลในระบบโลก ได้แก่ ประเทศ มหาอำนาจ ประเทศบริวาร และประเทศที่อยู่กลางๆ หรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด อีกประเภทหนึ่งก็แบ่งตามลัทธิที่ใช้ปกครองประเทศ ได้แก่ ประเทศเสรีประชาธิปไตย ประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และประเทศเผด็จการทหาร หรือคณะผู้ปกครอง และประเภทสุดท้ายคือแบ่งตามระดับความเจริญ ได้แก่ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนา

ประเทศใหญ่ ประเทศเล็ก

“เป้าหมาย” ก็คือผลประโยชน์ หรือสิ่งที่ประเทศต่างๆ ต้องการ ตามตำราบอกว่ามีอยู่ 4 อย่าง คือ 1.เอกราชหรือความมั่นคง 2.อธิปไตยหรือความเป็นอิสระ 3.ความมั่งคั่งหรือความเจริญรุ่งเรือง และ 4.เกียรติภูมิหรือศักดิ์ศรีแห่งชาติ คือการได้รับความยอมรับนับถือ โดยที่แต่ละประเทศอาจจะจัดลำดับความสำคัญในแต่ละเป้าหมายไม่เหมือนกัน เช่น บางประเทศอาจจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติภูมิแห่งชาติไว้ในลำดับแรก (อย่างสหรัฐอเมริกาที่ชอบให้ชาวโลกเรียกว่า “ตำรวจโลก”) หรือบางประเทศก็จัดเรื่องของความมั่งคั่งไว้ในลำดับต้น (อย่างญี่ปุ่นที่ค้าขายได้กับทุกประเทศไม่ว่าจะมีลัทธิการปกครองแบบใด) ซึ่งอาจจะมีเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปสู่ความมั่งคั่ง คือ รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เป็นหลัก

“พฤติกรรม” ก็คือลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างกันของแต่ละประเทศ ที่สามารถแยกย่อยได้หลายมิติ ได้แก่ ด้านสังคมวัฒนธรรม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านการทูต และการทหาร ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่แบ่งได้ 2 ด้าน คือ ร่วมมือกัน หรือไม่ก็ขัดแย้งกันโดยแต่ละด้านจะมีระดับของความสัมพันธ์ตั้งแต่เบาบางไปจนถึงเข้มข้น

อย่างในด้านความร่วมมือก็เริ่มตั้งแต่มีความเข้าใจอันดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม การค้าขาย และการไปมาหาสู่กัน แล้วพัฒนาไปสู่การแลกเปลี่ยนทางการทูต การทำสัญญาและข้อตกลง จนกระทั่งการอยู่ร่วมกันเป็นประชาคมและองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนในเรื่องของความขัดแย้งก็อาจจะเริ่มต้นจากการอิจฉาริษยา หรือไม่ไว้วางใจกัน มีการโต้ตอบด้วยคารม การระงับการไปมาหาสู่หรือค้าขายระหว่างกัน ตามมาด้วยการตัดสัมพันธ์ทางการทูต จนถึงการโต้ตอบด้วยกำลังและอาวุธ ที่อาจจะมีระดับความหนักเบาต่างกัน ตั้งแต่การสั่งสอนและยิงโต้ตอบกัน จนถึงสงครามอย่างเต็มรูปแบบ

สุดท้ายคือ “ผลกระทบ” ที่แบ่งเป็นด้านบวก ซึ่งก็คือผลดีหรือผลได้ กับด้านลบ ซึ่งก็คือผลร้ายหรือความเสียหาย โดยสามารถพิจารณาได้ 3 ด้าน คือ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งในด้านการเมืองถ้าเป็นด้านบวกก็คือการเป็นพันธมิตร ส่วนด้านลบก็คือการเป็นศัตรู ด้านบวกทางเศรษฐกิจก็คือการค้าขายและร่วมกันสร้างความมั่งคั่ง ส่วนด้านลบก็คือการบอยคอต หรือกีดกันทางการค้า และด้านบวกทางสังคมก็คือการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข และการท่องเที่ยว ส่วนด้านลบก็คือมีการลดทอน หรือเกิดอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ทั้งนี้ยังต้องพิจารณาเป็นผลกระทบระยะสั้นและระยะยาว อันเป็นการพิจารณาเพื่อพยากรณ์ถึงอนาคตในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ นั้นได้อีกด้วย

ต้องขออภัยที่จำเป็นจะต้อง “เลกเชอร์” มาในคอลัมน์นี้ เนื่องจากเวลาที่อ่านข่าวเรื่องไทยกับเขมร หลายๆ ท่านอาจจะมีความรู้สึกเหมือนกันกับผู้เขียนว่า คนที่นำเสนอข่าวมีจุดมุ่งหมายอยู่เพียงอย่างเดียว คือ อยากเห็นสงครามหรือความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างหนึ่งก็คงอยากจะให้มีเรื่องมาเขียนเป็นข่าว หรืออีกอย่างหนึ่งก็อยากให้ข่าวนั้นมีความเข้มข้นเพื่อจะได้ขายข่าวได้มากๆ

อย่างเรื่องที่เขมรขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) พิจารณากรณีการปะทะกันบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งในที่สุดก็เป็นแค่ขั้นตอนทางธุรการที่ UNSC ได้ส่งเรื่องคืนมาให้ทั้งไทยกับเขมรไปร่วมพิจารณาด้วยกัน เนื่องจาก “ไม่ใช่ธุระ” ของ UNSC แต่ที่สื่อมวลชนนำเสนอเป็นข่าวกลับมีการพนันขันต่อให้ดูตื่นเต้นว่าการพิจารณาของ UNSC จะมีผลต่อการสู้รบระหว่างไทยกับเขมรอย่างไรหรือไม่
ในคืนวันจันทร์ที่ 14 ก.พ. ที่จะมีการพิจารณาของ UNSC ในตอน 4 ทุ่ม ผู้เขียนกับ สส.ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ได้รับเชิญให้ไปวิเคราะห์กรณีนี้ที่สถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ก็เจอการตั้งประเด็นให้ตอบในลักษณะเดียวกัน อย่างกับว่าการดำเนินการทางการทูตแบบอารยะผ่านองค์กรระหว่างประเทศนี้เป็นเรื่อง “อนาอารยะ” ที่จะนำไปสู่การสู้รบกัน

ผู้เขียนไม่ได้เอาใจใส่ในประเด็นที่ผู้ดำเนินรายการ (ที่ตัวจริงน่ารักมากๆ) ตั้งใจจะมาถาม แต่ได้พยายามที่จะเสนอประเด็นให้ผู้ชมได้เข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคใหม่มีสิ่งที่ต้อง “ปรับเปลี่ยน” ทัศนคติอยู่หลายเรื่อง

เริ่มต้น จะต้องเข้าใจก่อนว่าระบบโลกในทุกวันนี้เขาเน้นความสัมพันธ์บนความเสมอภาคเท่าเทียม โดยก้าวข้ามความเป็นประเทศเล็ก-ประเทศใหญ่ มหาอำนาจ-บริวาร หรือลูกพี่-ลูกน้อง แต่ทุกประเทศจะมีเกียรติและศักดิ์ศรีเสมอกัน แม้กระทั่งใน UNSC เองก็ไม่มีการแตกต่างกันระหว่างมนตรีถาวรกับมนตรีที่หมุนเวียนกันเข้ามา (คือไม่มีใครมีอิทธิพลมากกว่ากัน เว้นแต่มนตรีถาวรยังคงความเชยในเรื่องการ Vito ไว้ดูเล่นๆ เท่านั้น)

จากนั้นก็จะต้องมองว่าประเทศต่างๆ เขาไม่อยากจะทำสงครามกันหรอก รวมทั้งมองประเทศที่กระหายสงครามทั้งหลายนั้นว่า |“ล้าหลัง” เพราะทุกวันนี้สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองคือผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของทุกๆ ชาติ สงครามที่น่ากลัวในยุคนี้กลับเป็นสงครามเศรษฐกิจ และภัยคุกคามที่น่ากลัวในอนาคตก็คือกระแสสงครามทางสังคมผ่านโลกไซเบอร์ โดยที่ผู้แสดงในระดับรัฐจะลดความสำคัญลง แต่จะเกิดผู้แสดงใหม่ๆ ผ่านกลุ่มสังคมอันหลากหลายในโลกไซเบอร์ดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากการก่อตัวของ “สังคมเหนือรัฐ” ในการบริหารของประเทศต่างๆ

ถ้าเราปรับความคิดนี้มาพิจารณาเรื่องไทยกับเขมร เราก็จะต้องลดความ “เห่อเหิม” เรื่องความเป็นชาติที่ “ใหญ่กว่า-เหนือกว่า” ทิ้งไปเสีย แล้วเปิดใจกว้างให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ถ้าไม่รักก็อย่าเกลียดเขา เพราะเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน!