posttoday

อิหร่าน 2: อนาคตอียิปต์หลังยุคมูบารัก

07 กุมภาพันธ์ 2554

เหตุจลาจลในอียิปต์เพื่อขับไล่ผู้นำ ฮอสนี มูบารัก ที่ยืดเยื้อมาร่วมสองสัปดาห์ ไม่เพียงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองไปยังกลุ่มประเทศอาหรับที่เกรงจะล้มเป็นโดมิโนตัวต่อไป แต่ยังก่อให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาถึงอนาคตของดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งนี้ในวันที่ไร้เงาผู้นำที่ชื่อ “ฮอสนี มูบารัก”

เหตุจลาจลในอียิปต์เพื่อขับไล่ผู้นำ ฮอสนี มูบารัก ที่ยืดเยื้อมาร่วมสองสัปดาห์ ไม่เพียงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองไปยังกลุ่มประเทศอาหรับที่เกรงจะล้มเป็นโดมิโนตัวต่อไป แต่ยังก่อให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาถึงอนาคตของดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งนี้ในวันที่ไร้เงาผู้นำที่ชื่อ “ฮอสนี มูบารัก”

โดย..ทีมข่าวต่างประเทศ

 

อิหร่าน 2: อนาคตอียิปต์หลังยุคมูบารัก

เหตุจลาจลในอียิปต์เพื่อขับไล่ผู้นำ ฮอสนี มูบารัก ที่ยืดเยื้อมาร่วมสองสัปดาห์ ไม่เพียงสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองไปยังกลุ่มประเทศอาหรับที่เกรงจะล้มเป็นโดมิโนตัวต่อไป แต่ยังก่อให้เกิดการคาดเดาไปต่างๆ นานาถึงอนาคตของดินแดนที่มีอารยธรรมเก่าแก่แห่งนี้ในวันที่ไร้เงาผู้นำที่ชื่อ “ฮอสนี มูบารัก”

“อิสราเอล” นับเป็นประเทศต้นๆ ที่มองข้ามช็อตไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอียิปต์ หากมีการถ่ายโอนอำนาจไปสู่รัฐบาลชุดใหม่ โดยสิ่งที่รัฐบาลอิสราเอลกังวลใจมากที่สุด นั่นคือ อียิปต์ในยุคหลังประธานาธิบดีมูบารัก จะกลับกลายเป็นรัฐอิสลามเต็มขั้น จากมิตร จะกลายเป็นศัตรูของอิสราเอลในทันที

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา “อียิปต์” ถือเป็นมหามิตรที่สำคัญของอิสราเอล ยิ่งกว่านั้นนอกจากอียิปต์จะเป็นชาติแรกในดินแดนอาหรับที่ร่วมลงนามในข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979 มูบารักยังมีบทบาทสำคัญในการสวมบทตัวกลางเจรจาข้อขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและโลกอาหรับอื่นๆ รวมทั้งปาเลสไตน์

ด้วยเหตุนี้เองทำให้ประธานาธิบดี เบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล อดหวาดวิตกต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากอนาคตทางการเมืองของเพื่อนที่แสนดีอย่างมูบารักถึงกาลอวสาน

“ความวุ่นวายในอียิปต์จะส่งกระทบต่อเสถียรภาพในตะวันออกกลางนานอีกหลายปี ซ้ำร้ายเมื่อหมดยุคมูบารัก อียิปต์จะย้อนกลับไปสู่ยุคการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนประชาธิปไตย และฝ่ายอิสลามหัวรุนแรง ดั่งเช่นที่เคยเกิดขึ้นในอิหร่านเมื่อปี 1979

ความกังวลนี้ยังถูกสำทับคำสัมภาษณ์ของ อญาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำจิตวิญญาณของอิหร่าน ที่ระบุว่า กระแสการลุกฮือในประเทศอาหรับเป็นสัญญาณถึงการตื่นขึ้นของอิสลาม อันได้แรงบันดาลใจจากการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 ซึ่งในครั้งนั้นกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวขับไล่กษัตริย์มูฮัมหมัด เรซา ซาห์ ปาฮ์ลาวี ที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตก และเป็นพันธมิตรสำคัญของอิสราเอล

เหตุจลาจลครั้งนั้นทำให้การเมืองอิหร่านตกอยู่ในภาวะสุญญากาศชั่วคราว ก่อนที่ อยาตอลเลาะห์ รูฮอลเลาะห์ โคเมนี ผู้นำศาสนาคนสำคัญจะเข้ามาตั้งสาธารณรัฐอิสลามในที่สุด

นับเป็นการเปิดตำนานอิหร่าน ในฐานะรัฐอิสลามอย่างเป็นทางการ

กลิ่นอายการปฏิวัติอิสลามรีเทิร์นนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายเริ่มพุ่งเป้ามาที่การเคลื่อนไหวของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Brotherhood Muslim) ร่วมกับชาวอียิปต์เพื่อขับไล่ผู้นำครั้งนี้ว่าจะเป็นการฉวยโอกาสเพื่อปูทางสู่เส้นทางแห่งอำนาจ และพลิกโฉมอียิปต์ให้กลายเป็นรัฐอิสลามตามรอยอิหร่านหรือไม่

อีลี ชาเกด อดีตทูตอิสราเอลประจำอียิปต์ระหว่างปี 2003-2005 เชื่อว่า หากมูบารักลงจากตำแหน่ง กลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นปรปักษ์ต่ออิสราเอลและสหรัฐมาโดยตลอด จะเข้ามาสวมรอยรับหน้าที่ผู้นำพาประเทศแทนที่มูบารักทันที

“ประชาธิปไตยไม่มีทางเกิดขึ้นในอียิปต์ หรือหากจะมีก็เป็นเพียงการเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตยครั้งแรก และครั้งสุดท้ายในอียิปต์” อดีตทูตอิสราเอลในอียิปต์ กล่าว

กลุ่มภราดรภาพมุสลิมก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1928 เพื่อต่อกรกับเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ ไม่น่าเชื่อว่าในเวลาเพียง 20 ปี กลุ่มเคลื่อนไหวนี้จะมีสมาชิกเข้าร่วม ถึง 5 แสนคน ยิ่งกว่านั้นยังมีสาขาที่เคลื่อนไหวกระจายตัวอยู่ตามประเทศในอาหรับ

อิทธิพลที่แพร่ขยายขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เองทำให้ต่อมากลุ่มภราดรภาพมุสลิมถูกมองเป็นภัยคุกคาม และถูกมูบารักเขี่ยออกไปให้พ้นทาง ด้วยการกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุลอบสังหารประธานาธิบดี กามาล อับดุล นัสเซอร์ แต่ทางกลุ่มปฏิเสธ

อะไรจะเกิดขึ้นหากอียิปต์เดินตามรอยอิหร่าน?

แน่นอนว่า เมื่ออียิปต์ทิ้งหมวกใบเก่าที่สวมมานานถึง 30 ปี มาสวมหมวกใบใหม่ซึ่งมีโลโก้ “รัฐอิสลาม” ติดไว้ ย่อมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ไม่เฉพาะต่อกิจการภายในประเทศที่กลไกทุกอย่างต้องสอดรับกับหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นแนวทางในการปกครอง

แต่ยังรวมถึงการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศที่จะเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปได้สูงว่าหากอียิปต์กลายเป็นรัฐอิสลามจะชูนโยบายต่อต้านตะวันตกเช่นเดียวกับอิหร่าน

คู่กรณีที่อาจได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุดหากมีการถ่ายโอนอำนาจดังกล่าวจริง คงหนีไม่พ้น “อิสราเอล” มิตรประเทศที่ให้ความไว้วางใจอียิปต์เป็นที่สุดมากว่า 30 ปี

ดังนั้น หากอียิปต์กลายเป็นรัฐอิสลามเต็มตัวจริง ก็เท่ากับว่าอียิปต์จะขึ้นแท่นเป็นศัตรูตัวฉกาจของอิสราเอลไปโดยปริยาย

“อิสราเอลรู้สึกกังวลมากที่เพื่อนบ้านของเราจะกลายเป็นรัฐอิสลาม” กิล ฮอฟแมน หัวหน้าข่าวการเมืองของเยรูซาเลมโพสต์กล่าว และว่า “ตลอด 30 ปีที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลไม่เคยต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อป้องกันการคุกคามจากอียิปต์เลย”

แต่ทว่า แม้ความสัมพันธ์จะเปลี่ยนผ่านจากเพื่อนรักเป็นเพื่อนแค้น แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่ก้าวสู่ขั้นเลวร้าย ถึงขั้นฉีกข้อตกลงสันติภาพแคมป์เดวิด ที่อิสราเอลร่วมลงนามกับอียิปต์เมื่อปี 1979

“ถึงกลุ่มภราดรภาพมุสลิมจะขึ้นมากุมอำนาจจริง ก็จะไม่ไปสู่การฉีกข้อตกลงสันติภาพ เพราะนั่นอาจกระทบต่อความสัมพันธ์กับรัฐบาลวอชิงตัน ซึ่งให้มอบเงินช่วยเหลือด้านการทหารแก่อียิปต์ปีละถึง 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ” ผู้เชี่ยวชาญด้านอิหร่าน และกลุ่มอิสลามหัวรุนแรง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าอิสราเอลจะเป็นประเทศที่ต้องเจอกับฝันร้ายหากอียิปต์กลายเป็นรัฐอิสลาม ทว่ากลุ่มทุนตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นของแสลงสำหรับโลกมุสลิมก็อาจต้องเผชิญชะตาเลวร้ายไม่ต่างกัน

เพราะแม้อียิปต์จะไม่ได้ร่ำรวยทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน แต่ด้วยปริมาณน้ำมันสำรองที่มากเป็นอันดับ 6 ในทวีปแอฟริกา และปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคก็พอจะทำให้ดินแดนแห่งนี้กลายเป็นที่จับจ้องของกลุ่มทุนตะวันตก

ดั่งจะเห็นว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทตะวันตก ทั้งจากฝั่งยุโรป ได้แก่ บีพีของอังกฤษ อีเอ็นไอของอิตาลี รวมทั้งอาปาเช่ กรุ๊ป ต่างเข้ามากอบโกยและแสวงหาผลกำไรจากการทำธุรกิจขุดน้ำมันเจาะก๊าซสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง

อาปาเช่ กรุ๊ป ที่ในเวลานี้คงต้องกุมขมับคิดหนักกว่าใครเพื่อนจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของอียิปต์ เพราะบริษัทแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอียิปต์ ด้วยเม็ดเงินลงทุนที่สูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ 17 วันที่ผ่านมา ผลตอบแทนที่บริษัทได้รับจากสาขาในอียิปต์ก็ลดลงคิดเป็น 1 ใน 4 ของผลประกอบการบริษัทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ภาคการพลังงานเท่านั้นที่ในเวลานี้กำลังอกสั่นขวัญแขวนกับอนาคตของอียิปต์ แต่กลุ่มทุนที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจภาคอาหารของอียิปต์ก็กำลังตกอยู่ในอาการร้อนๆ หนาวๆ ไม่แพ้กัน

ข้อมูลจากซีเอ็นเอ็นมันนี่ ระบุว่า โดยเฉลี่ยสหรัฐมีการส่งข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง เข้าไปยังอียิปต์ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2,000 ล้านตันต่อปี สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับผู้ผลิตอาหาร อาทิ คอนอะกรา เอดีเอ็ม และคาร์กิลล์

ด้วยมูลค่าการค้าและการลงทุนที่มหาศาล ทำให้กลุ่มทุนตะวันตกไม่อาจละสายตาของการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้ไม่ได้ เพราะหากเป็นไปตามที่หลายฝ่ายกังวล อียิปต์ภายใต้ร่มเงาของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม คงไม่ใช่ข่าวดีนักสำหรับกลุ่มทุนตะวันตก

จากนาทีนี้ โลกคงต้องจับตามองหมากก้าวต่อไปของอียิปต์อย่างไม่กะพริบตา เพราะหากเดินผิดไปแม้แต่ก้าวเดียว อาจทำให้เสียหมากทั้งกระดาน