posttoday

โลกอันตรายส่อจลาจลวิกฤตฟาโรห์ตัวเร้าปัญหาเงินเฟ้อ-ข้าวยากหมากแพง

03 กุมภาพันธ์ 2554

แรงสั่นไหวในอียิปต์ที่ทั้งทางฝั่งผู้นำและผู้ประท้วงต่างก็ยังคงมุ่งมั่นในเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของฝ่ายตนเอง ไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอกระหว่างกัน 

แรงสั่นไหวในอียิปต์ที่ทั้งทางฝั่งผู้นำและผู้ประท้วงต่างก็ยังคงมุ่งมั่นในเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของฝ่ายตนเอง ไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอกระหว่างกัน 

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

แรงสั่นไหวในอียิปต์ที่ทั้งทางฝั่งผู้นำและผู้ประท้วงต่างก็ยังคงมุ่งมั่นในเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของฝ่ายตนเอง ไม่มีทีท่าว่าจะลดราวาศอกระหว่างกัน

โลกอันตรายส่อจลาจลวิกฤตฟาโรห์ตัวเร้าปัญหาเงินเฟ้อ-ข้าวยากหมากแพง

สิ่งที่หลายคนกำลังจับตามองด้วยความหวาดหวั่นก็คือ เหตุการณ์ในอียิปต์ ซึ่งได้รับแรงปลุกเร้าจากความสำเร็จของการล้มล้างผู้นำที่ครองอำนาจเผด็จการในประเทศตูนิเชีย กำลังเป็นแรงส่งให้กับประเทศอื่นๆ กลายเป็นปรากฏการณ์โดมิโนเอฟเฟกต์

ทว่าฉากแห่งความเปลี่ยนแปลงและพลังมวลชน ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้เวลาเพียงช่วงสั้นๆ ให้กลายเป็นภาพในอุดมคติจนก่อการเปลี่ยนแปลง ซ้ำรอยต่อยอดจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้โดยง่าย

ความเปลี่ยนแปลงที่ต้องใช้แรงศรัทธาของผู้คนนับล้านเป็นตัวขับเคลื่อน ต้องมีปัจจัยหนุนที่มากกว่าเพียงการมองเห็นภาพตัวอย่าง

ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ ภาวะใดๆ ที่พร้อมจะรุมเร้า กลายเป็น “เชื้อ” ก่อความระอุในแต่ละประเทศ

คำเตือนของโดมินิก สเตราส์คาห์นผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ตอบคำถามในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว

สเตราส์คาห์น เชื่อว่า ความไร้สมดุลของโลก ภาวะเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร และความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นอันตรายที่จะก่อให้เกิดจลาจลทางสังคม ลุกลามบานปลายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ในสถานการณ์ทั่วไป คำเตือนนี้แทบไม่ได้เป็นที่ยี่หระ แต่สำหรับเวลานี้คำเตือนดังกล่าวเป็นเรื่องต้องก้องดังในสมองแห่งภาวะผู้นำที่ต้องแก้ไขและตื่นตัวให้ทันการณ์

นั่นเพราะฉากการเคลื่อนไหวในกรุงไคโร คือตัวเร่งปลุกเร้าความฮึกเหิมหนึ่ง ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศที่สอดคล้องกับทฤษฎีแรงขับเคลื่อนการจลาจลทางสังคมของสเตราส์คาห์น เป็นอีกหนึ่ง

คล้ายเป็นภาพที่ชัดเจนขึ้นจากจิ๊กซอว์ที่ต่อเสริมเติมเต็มอย่างพอเหมาะพอดี

สถานการณ์ความวุ่นวายในหลายประเทศทั่วโลกจึงตกอยู่ในภาวะ “เปราะบาง” และ “เสี่ยง” ที่จะกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟกต์ตามอย่างวิกฤตในอียิปต์อยู่มาก

เมื่อย้อนกลับมาเสาะหาร่องรอยของวิกฤตฟาโรห์ก็จะพบปัจจัยที่ไอเอ็มเอฟกล่าวเตือนไว้อย่างชัดเจน

อียิปต์ขึ้นชื่อในฐานะอู่อารยธรรมของโลก และรัฐบาลก็เรียนรู้ที่จะใช้เรื่องดังกล่าวในการสร้างรายได้ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่รายได้ต่อหัวของประชาชนราว 80 ล้านคน ในประเทศไม่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับรายได้ของประเทศ

ชาวอียิปต์ราว 40% ดำรงชีพด้วยเงินเพียง 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน ขณะที่สัดส่วนประชากรราว 2 ใน 3 ของประเทศมีอายุต่ำกว่า 30 ปี นั่นหมายถึง ราวกว่า 50 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน แต่คนกลุ่มนี้กลับต้องผจญกับภาวะว่างงานถึง 8590% เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างจอร์แดน มีอัตราการว่างงานอยู่ที่เพียง 40% เท่านั้น

ดังนั้น จากปัจจัยเร้าที่ปรากฏก็แทบไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนจะลุกฮือในเวลานี้

สถานการณ์โลกในเวลานี้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อน

ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ราคาสินค้าโลกเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทะยานสูงทะลุสถิติในปี 2008 แล้ว ทั้งราคาน้ำมัน น้ำตาล และซีเรียล

อียิปต์ ซึ่งอยู่ในฐานะผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ราคาอาหารที่สูงขึ้นจะเป็นกลไกที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในสังคมได้จริง และมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วเมื่อปี 2008 ปีที่ประธานธนาคารโลกตีตราว่าผลลัพธ์ในความพยายามต่อสู้กับภาวะยากจนในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา มีค่าเพียงศูนย์

ราคาอาหารโลกที่พุ่งแรงเป็นประวัติการณ์ โดยมีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นราว 75% ในที่สุดกลายเป็นจลาจลจากประเทศเฮติไปยังบังกลาเทศ สู่ประเทศอียิปต์ ในตอนนั้น ราคาข้าวขนาด 2 กิโลกรัม 1 ถุง ในบังกลาเทศ มีราคาเท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดในครอบครัวคนยากจน

กลไกดังกล่าวสอดรับกับผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแอดิเลด ว่าด้วยเรื่องผลกระทบของราคาอาหารต่อความขัดแย้งทางสังคมใน 120 ประเทศ ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่หนุนแนวความคิดและคำเตือนของไอเอ็มเอฟ

ในผลการวิจัยดังกล่าว พบว่าราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำจะนำไปสู่ความเสียหายของสถาบันประชาธิปไตย และยังผลให้เกิดเหตุการณ์เรียกร้องต่อต้านรัฐบาล การจลาจล และความขัดแย้งสังคมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เอเชียกำลังต้องรับมือกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในทุกๆ เดือน

ตัวเลขเงินเฟ้อต่อปีในอินโดนีเซียขยับขึ้นมาถึง 7.02% สูงสุดในรอบ 21 เดือน และหลังจากจีนปิดฉากปีเสือด้วยตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งถึง 4.5% ข้อความอวยพรวันตรุษจีนของหูจิ่นเทา ผู้นำจีน จึงสอดแทรกไว้ด้วยเรื่องการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ไม่ว่าหูมีเจตนาที่จะปลอบประโลมหรือดับชนวนความเดือดร้อนของประชาชนชาวจีนหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าจีนกำลังเล็งเห็นว่าเงินเฟ้อเป็นปัญหาสำคัญโดยแท้

ซ้ำร้ายตัวเลขสัมประสิทธิ์การกระจายรายได้ (Gini Coefficient) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความไม่เท่าเทียมกันที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในโลก ระบุว่า ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชาชนในจีนเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเมื่อราว 5 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 0.3 แต่ทุกวันนี้ 0.5 ซึ่งบ่งบอกถึงความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น

รายได้ของคนจีนในชนบทต่ำกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ประชากรในเมือง

ยังมีข้อมูลในด้านภาวะว่างงาน ที่ย้ำภาพเปราะบางของโลกในช่วงนี้ โดยนับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการเงินครั้งล่าสุด ประชากรโลกราวกว่า 30 ล้านคน ต้องออกจากงาน แต่นั่นเป็นเพียงตัวเลขกระจุกเล็กๆ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวอีกราว 400 ล้านคน ที่โลกต้องหยิบยื่นตำแหน่งงานให้

ในรายงานว่าด้วยเรื่องความไม่เท่าเทียมกัน อำนาจ และวิกฤต (Inequality, Leverage and Crisis) ของไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ผลลัพธ์อันเป็นหายนะของเศรษฐกิจโลก ถ้าหากลูกจ้างหรือแรงงานไม่ได้อำนาจในการต่อรองกับกลุ่มนายจ้าง และแนะให้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบภาษีและการบรรเทาหนี้กับคนกลุ่มดังกล่าว

ท่ามกลางปัจจัยทุกข้อที่กำลังเดือดพล่าน ภาวะที่ราคาอาหารโลกกลายเป็นประเด็นใหญ่ในเวทีโลก ตัวเลขเงินเฟ้อกำลังเป็นปัญหาหนักอกของหลายประเทศ ช่องว่างทางสังคมในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็กำลังถ่างห่างทิ้งระยะเพิ่มขึ้น วิกฤตฟาโรห์จึงมีทีท่าว่าจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ โดยไม่ยากเย็น ยังไม่นับรวมถึงอิทธิพลแห่งโลกไซเบอร์ที่ปัจจัยและแรงขับเคลื่อนทุกสิ่งติดจรวดมากขึ้นอีก

ถ้าเปรียบปัจจัยเงินเฟ้อ วิกฤตอาหาร การว่างงาน และความเหลื่อมล้ำในสังคม เป็นชิ้นจิ๊กซอว์ที่รอการประกบต่อเพื่อสร้างความโกลาหลทางสังคมแล้ว ยามนี้หลายประเทศในโลกก็กำลังรอเพียงเวลาเท่านั้น...

วิกฤตฟาโรห์ก็จะคงล้มครืนก่อคลื่นจลาจลไปทั่วโลก แม้กระทั่งในเอเชียที่กำลังหลงตัวว่าเศรษฐกิจข้ารุ่ง...!