posttoday

ยกเครื่อง ม.100 ป.ป.ช. ไล่สกัด ผลประโยชน์ทับซ้อน

28 มกราคม 2554

“ผลประโยชน์ทับซ้อน”  กลายเป็นรูปแบบการทุจริตชนิดใหม่ที่ทั่วโลกเริ่มหันมาจับตาและให้ความสำคัญกันมานานบางประเทศมีกฎหมายเรื่องนี้มากว่าร้อยปี แต่สำหรับประเทศที่เพิ่งตื่นตัวและออกมาเร่งทำความเข้าใจพร้อมสกัดไม่ให้ลุกลามบานปลายกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งยกเครื่องกฎหมายในมือให้ตามทันกับรูปแบบการทุจริตที่ก้าวหน้าไปมาก

“ผลประโยชน์ทับซ้อน”  กลายเป็นรูปแบบการทุจริตชนิดใหม่ที่ทั่วโลกเริ่มหันมาจับตาและให้ความสำคัญกันมานานบางประเทศมีกฎหมายเรื่องนี้มากว่าร้อยปี แต่สำหรับประเทศที่เพิ่งตื่นตัวและออกมาเร่งทำความเข้าใจพร้อมสกัดไม่ให้ลุกลามบานปลายกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร่งยกเครื่องกฎหมายในมือให้ตามทันกับรูปแบบการทุจริตที่ก้าวหน้าไปมาก

โดย ธนพล บางยี่ขัน 

ในการงานเสวนาในโครงการปรับปรุง แก้ไข กฎหมายที่เอื้อต่อการทุจริต  เรื่อง “แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2552” ที่ ร.ร.มิราเคิล แกรนด์ วันที่ 27 พ.ย.  ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.อธิบายถึงข้อจำกัดในกฎหมายที่มีอยู่ว่า

จากการไต่สวนของ ป.ป.ช. ที่ผ่านมาพบว่า  ในรัฐวิสาหกิจ มีปัญหาเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ทับซ้อนมาก แต่ ป.ป.ช.ยังดำเนินการตามมาตรา 100 ไม่ได้ เพราะยังไม่มีประกาศตำแหน่ง “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ที่ชัดเจน  ทำให้หลายคดีจึงไม่สามารถดำเนินการในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้  และอีกด้านหนึ่งก็ไม่สามารถดำเนินคดีในข้อหาทุจริตได้

งานนี้จึงมอบหมายให้ นายปรีชา เลิศกมลมาศ กรรมการ ป.ป.ช. ไปศึกษารับฟังความเห็นว่า ตำแหน่งอะไรที่ควรเข้าข่าย ม.100 บ้างเพื่อกำหนดขอบเขตให้ชัดเจน

​นอกจากนี้ จากการตรวจสอบยังพบว่า รูปแบบการหลีกเลี่ยงกฎหมายสมัยนี้ยังมีความก้าวหน้าไปมาก จำเป็นที่จะต้องผลักดันกฎหมายให้คลอบคลุมเและ เท่าทัน  เช่น ปัจจุบันได้รับฟังมาจาก อบต. ​ว่า มีลักษณะการแลกงานสัมปทานระหว่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ​ เช่น อบต.ก.ไปรับงานของ อบต. ข. แล้ว อบต.ข.ก็มารับงานของ อบต. ก. ​ก็ยากจะเอาผิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน 

นายวิชา กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งกำลังจะออกมาบังคับใข้ ได้เพิ่มมาตรา 103/1 ระบุว่าความผิดเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ให้เป็นความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งทำให้หลายคนกลัวมากขึ้น   ​

นอกจากนี้ ​ยังนิยามของคำว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” ให้ครอบคลุมถึง  กรรมการ อนุกรรมการ ลูกจ้างส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ  ซึ่งจะไม่ใช่ผู้สนับสนุนอีกต่อไป แต่หากทำผิดจะกลายเป็นตัวการโดยสมบูรณ์ และไม่ใช่บังคับแค่คนไทย แต่รวมถึงใครก็ตามที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศ หรือ กรรมการบริษัทในไทยที่เป็นคนต่างชาติต้องอยู่ในหลักเกณฑ์  รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถ่ิน ที่จะต้องรับโทษทางอาญาเพ่ิมขึ้นจากเดิมที่ให้ออกจากตำแหน่งแค่นั้น

นายวิชา กล่าวว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการเพราะอีก 3-4 ปีเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเปิดการค้าเสรี  หากเราไม่มีกฎหมายที่เข้มแข็ง ก็จะไม่สามารถทานอำนาจเงินที่เข็มแข็งของประเทศใหญ่อย่าง​ สิงคโปร์​ มาเลเซีย ได้เลย  เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องทำให้กระจ่างแจ้งต่อสาธารณะ และต้องปลูกฝังลงไปถึงเยาวชน ให้คุ้นเคยแยกแยะเรื่อง ผลประโยชน์ส่วนตน และ ผลประโยชน์ สาธารณะ ​​​

นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์  อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว เริ่มคิดแยกเรื่องประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ส่วนรวม กันมาก่อนหน้านี้นานมากอย่างสหรัฐอเมริกา มีมาตั้งแต่ ปี 1800 กว่า  แต่ประเทศไทยยังขาดองค์ความรู้ด้านนี้​  ซึ่งหลักการเรื่องนี้ไม่ยาก เวลาสวมหมวก 2 ใบ คือมีประโยชน์ส่วนตัว ครอบครัว พวกพ้อง แต่เมื่อเรามาทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้อง ไม่ให้ปะปนกัน ดังนั้นจึงมีความพยายามออกกฎหมายให้เป็นรูปธรรมเพื่อป้องกันตรงนี้ เช่น​การแสดงบัญชีทรัพย์สิน หรือกรณีถือครองหุ้นก็ต้องเคลียร์ปัญหาก่อนเข้าสู่การรับตำแหน่ง

ทั้งนี้​หากไม่แยกแยะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอาจนำไปสู่การสูญเสียมากในหลายด้าน   1.  เสียอธิปไตยของชาติ เช่น สมมติผู้มีอำนาจในการตัดสินใจรัฐบาล ​ มีผลประโยชน์ แล้วตัดสินใจ หรือ ไม่ตัดสินใจอย่างหนึ่งด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน อาจถึงขั้นทำให้สูญเสียสิทธิ อธิปไตย  2. เสียประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ เงิน งบประมาณส่วนใหญ่ ไปอยู่กับคนบางคนบางกลุ่ม 3. เสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ งบประมาณที่สูญเสียไปไม่สามารถนำไปพัฒนาประเทศ จำนวนที่เสียไปมหาศาล 4. เสียโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียม หากคนมีอำนาจ กำหนดระเบียบเอาเปรียบคนไมมีอำนาจ จะเกิดช่องความว่าง นำมาสู่ขัดแย้ง​ 5. เสียความยุติธรรม และ  6. สูญเสียเรื่องความถูกต้องชอบธรรมของชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า  ในส่วนนิยามของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ของมาตรา100 พ.ร.บ. ป.ป.ช.  นอกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการพนักงานส่วนท้องถ่ินที่มีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำผู้ปฏิบ้ติงานในรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ในโอกาสนี้ควรที่จะพิจารณาไปถึงยังตำแหน่งอื่นที่มีโอกาสเกิดประโยชน์ทับซ้อนได้ง่าย​ เช่น ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนได้ และหากเกิด ผลที่ตามมาจะมีความรุนแรง จึงอยากให้พิจารณาเพ่ิมเติมไปพร้อมกันนี้หรือวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนชัดเจนต่อไป

​นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในการอภิปรายเรื่อง “กฎหมายและระเบียบในการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ”  ว่า เรื่องการ “รับของ” ในสังคมนี้ยังมีลักษณะเป็น ”สองนครา”  คือนักกฎหมายกับชาวบ้านเข้าใจเรื่องการรับของหรือประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 103 แตกต่างกัน  ในหมู่นักกฎหมายเข้าใจการรับและการให้ แต่ชาวบ้านเข้าใจอีกอย่างเพราะสังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมป์ เป็นสังคมที่นิยมการให้ของขวัญ

ทั้งนี้  เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องปรับสมดุลของตัวเองให้ดีในประเด็นนี้ นักกฎหมายจะมองลักษณะของการให้ของแบบต่างประเทศ ที่มองว่าการทำอะไรจะต้องมีการกำหนดบทบาทและเป้าหมายแน่นอน ตัวอย่างจากต่างประเทศ แค่มอบไก่งวงให้เจ้าหน้าที่ ในวันขอบคุณพระเจ้า ก็ถูกมองว่าขาดความชอบธรรมได้แล้ว ซึ่งในมาตรฐานของศาลไทยเรื่องนี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าชาติอื่น

นายวิชัย กล่าวว่า  ในพ.ร.บ.​ป.ป.ช.  มาตรา 103 การรับของหรือผลประโยชน์อื่นได้ครอบคลุมไปถึงการให้ที่ไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำหน้าที่​ หรือ การให้ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ก็ถือเป็นความผิดหากเกิน 3,000 บาท และไม่ใช่ให้ตามปกติธรรมจรรยา    เช่น ​มีคนชื่นชอบในการการตัดสินคดีของตนเอง ​แล้วให้เชอรี่ มา4,000 บาท แค่นี้ก็มีความผิดทันที

สังคมไทยจึงมีปัญหาตายน้ำตื่้นได้ง่ายต้องระวังมาตรา100 และ 103 ให้ดี อีกด้านหนึ่งจึงมีการตั้งคำถามว่า ​ระเบียบ ป.ป.ช. ที่กำหนดราคาขั้นต่ำของของขวัญที่รับได้ไม่เกิน 3,000 บาทนั้นน้อยเกินไปหรือไม่

นายวีระพงษ์ บุญโญภาส  กล่าวว่า ​ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา103   ระบุห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควร เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายลูกอธิบายตีความธรรมจรรยาว่าครอบคลุมกรณีใดบ้างทำให้เป็นปัญหาในการบังคับใช้ ซึ่งน่าจะต้องทำให้เกิดความชัดเจน ​