posttoday

หมดยุคมังกรพึ่งส่งออก จะโต่อต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

28 มกราคม 2554

ประเด็นหนึ่งในที่ประชุม เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่กรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ดึงเอาผู้นำภาคธุรกิจ นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวด้านสังคมจากทั่วโลกกว่า 2,500 ชีวิต มาร่วมงาน ได้ถกกันเรื่องปรากฏการณ์การเติบโตของจีน และตั้งคำถามว่า จีนยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่หรือ

ประเด็นหนึ่งในที่ประชุม เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่กรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ดึงเอาผู้นำภาคธุรกิจ นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวด้านสังคมจากทั่วโลกกว่า 2,500 ชีวิต มาร่วมงาน ได้ถกกันเรื่องปรากฏการณ์การเติบโตของจีน และตั้งคำถามว่า จีนยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่หรือ

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

หมดยุคมังกรพึ่งส่งออก จะโต่อต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

ประเด็นหนึ่งในที่ประชุม เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ที่กรุงดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ที่ดึงเอาผู้นำภาคธุรกิจ นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวด้านสังคมจากทั่วโลกกว่า 2,500 ชีวิต มาร่วมงาน ได้ถกกันเรื่องปรากฏการณ์การเติบโตของจีน และตั้งคำถามว่า จีนยังคงเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อยู่หรือ

ใช่ว่าผู้เข้าร่วมงานจะยังคงสงสัย หรือแคลงใจกับการเติบโตของพี่ใหญ่แห่งเอเชีย แต่คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสถานะของจีนเดินทางมาไกลเกินกว่าที่จะติดอยู่กับคำว่า “เศรษฐกิจเกิดใหม่” หรือ “กำลังพัฒนา” แล้วมิใช่หรือ สังเกตจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสองหลัก

ดังนั้น อันที่จริง จีนน่าจะกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเริ่มต้นของการเป็นประเทศมั่งคั่งแล้ว

แต่ส่วนหนึ่งที่จีนยังไม่เคลื่อนไปสู่สถานะนั้นอย่างเต็มที่ อาจเป็นเพราะจีนยังคงไม่สามารถพิสูจน์ให้โลกประจักษ์ว่า ปักกิ่งจะก้าวข้ามผ่านจุดนั้น สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ขึ้นเป็นอีกเสาหลักที่สำคัญของโลก

หนทางที่ว่าคือต้อง ยุติโมเดลเศรษฐกิจเดิมกว่า 30 ปี ที่มุ่งพึ่งพาภาคการส่งออก หันมาสร้างโมเดลใหม่ กระตุ้นตัวเลขการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาการเติบโตนั้นไว้ให้ยั่งยืน

ในปี 2010 ตัวเลขภาคการส่งออกของจีนยังคงขยายตัวถึง 31.3% โดยมีมูลค่าถึง 1.58 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คู่ค้ารายใหญ่ของจีนยังคงเป็นสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐ และญี่ปุ่น

เหตุที่จีนต้องเร่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประการแรก คือ การพึ่งพาการส่งออก ทำให้สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจของผู้ซื้อ ขณะที่ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น หรือประเทศฝั่งตะวันตกไม่ได้มีกำลังซื้อที่แข็งแกร่งอย่างที่เป็นมาตลอด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศเอง ซึ่งต้องการสวมบทบาทของผู้ขายมากกว่าผู้ซื้อ นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ของสหรัฐ เล่นบทเป็นเซลส์แมนกลายๆ ในช่วงนี้

อันที่จริง หลายประเทศในเอเชียที่ได้รับผลกระทบอย่างสุดที่จะเลี่ยงจากวิกฤตปี 2008 อาจจะเป็นบทเรียนให้จีนได้เห็นถึงผลกระทบของการมุ่งเพียงแต่ยังพึ่งพิงภาคการส่งออกได้ดี

ประการที่สอง จีนกำลังเริ่มต้นเข้าสู่ยุคแห่งการปิดฉากสถานะเป็น “โรงงานโลก” ปัจจัยหลักไม่ใช่เพราะปัญหาค่าแรง แต่เป็นผลเนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) ทำให้จีนกำลังผ่านพ้นช่วงพีกของยุคแรงงาน ประชากรในประเทศไม่ใช่เป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว วัยทำงาน แต่กำลังมุ่งสู่กลุ่มคนที่มีอายุเพิ่มขึ้น

ประการที่สาม เป็นทราบกันดีว่า สูตรแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน คือ จำเป็นต้องบีบช่องว่างทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องรายได้ให้แคบที่สุด ดังนั้นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กระตุ้นดีมานด์ในประเทศย่อมส่งผลดีต่อการปรับนโยบายลดช่องว่าง ช่วยเหลือคนยากจน

รัฐบาลปักกิ่งเองพยายามผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างดังกล่าว โดยปักธงเป็นหนึ่งในเป้าหมายของแผนเศรษฐกิจในระยะ 5 ปี

ตลอดในปี 2010 จีนเดินเครื่องนโยบายหลายด้าน กระทรวงพาณิชย์จีนเร่งขยายร้านค้าสะดวกซื้อ (Convenience Stores) ขนาดย่อมในเนื้อที่แต่ละร้านราว 60-70 ตารางเมตร ในพื้นที่ชนบทเพิ่มอีกราว 2 แสนแห่ง ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยรัฐบาลพร้อมที่สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน สำหรับผู้ที่สนใจจะลงทุน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ คือ 90% ของประเทศจะต้องมีร้านสะดวกซื้อ

ปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร เพื่อเปิดโอกาสให้แรงงานพลัดถิ่นได้จดทะเบียนราษฎรในเมืองเขตเมืองได้สะดวกและมากขึ้น ปฏิรูประบบรักษาพยาบาลของแรงงานพลัดถิ่นให้เท่าเทียมหรือใกล้เคียงกับคนเมือง พร้อมกับก็จะพยายามผลักดันให้แรงงานเหล่านั้นได้มีโอกาสกลับไปยังบ้านเกิด และเริ่มต้นทำธุรกิจในถิ่นฐานของตนเอง

ขณะที่นโยบายต่อเนื่องและเพิ่มเติมในปี 2011 กระทรวงพาณิชย์จะยังคงสนับสนุนให้มาตรการเงินอุดหนุนชาวชนบทให้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านเพิ่มขึ้น อาทิ รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนราว 13% สำหรับชาวชนบทที่ซื้อโทรทัศน์สี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น หรือเตาอบไมโครเวฟ เนื่องจากนโยบายดังกล่าวนี้ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ โดยในปี 2010 มีชาวจีนที่ใช้จ่ายภายใต้นโยบายดังกล่าวมูลค่าสูงถึง 77.18 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,387 ล้านบาท) อีกทั้งจีนพยายามเสริมอัตราเร่งการใช้จ่ายด้วยการขยายชนิดของสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องมือด้านโทรคมนาคม

อย่างไรก็ตาม รายงานของสภาหอการค้าจีน (the China General Chamber of Commerce) ว่าด้วยเรื่องโอกาสในเชิงพาณิชย์ของจีนในปี 2011 กลับส่อเค้าถึงศักยภาพในการปกป้องการเติบโตในประเทศที่เสื่อมถอยลง โดยระบุว่า ยอดการบริโภคภายในประเทศจะยังคงเติบโตในระดับสูง แต่เมื่อเทียบกันแล้ว อัตราการเติบโตของยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคอาจจะต่ำกว่าปี 2010 ปัจจัยลบที่บั่นทอนการใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนก็คือ ราคาของสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับชาวชนบทมีความมั่นใจในภาวะเศรษฐกิจของประเทศลดลง

นั่นส่งกลิ่นไม่ดีของภาวะเงินเฟ้อ ที่กำลังบั่นทอนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

ผู้นำภาคธุรกิจทั่วโลก รวมทั้งจากจีนที่เข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม ต่างก็สอดประสานเสียงเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จีนต้องปรับค่าเงินหยวนเพิ่มขึ้น และพึ่งพาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยดีมานด์ในประเทศให้มากขึ้น แต่ก็ต้องไม่พรวดพราดเร็วจนเกินไป

ทั้งหมดทั้งมวลสะท้อนให้เห็นว่า จีนตระหนักรู้ถึงความจำเป็นที่จะไม่พึ่งพาการส่งออก ดั่งการยืมจมูกคนอื่นหายใจ และไม่ได้นิ่งเฉยที่จะปกป้องการเติบโตรักษาเสถียรภาพของตน

ลองมองเพื่อนบ้าน ที่แม้จะใหญ่จนไม่ต้องเกรงใคร แต่ก็พร้อมจะปรับตัว เพื่อความยั่งยืนของปากท้องประชาชน แล้วไทยล่ะ....