posttoday

รื้อประกันสังคมสูตรผสมการเมือง

28 มกราคม 2554

ถือเป็นความแยบยลของรัฐบาลที่หาเสียงโดยไม่ต้องควักกระเป๋า แต่ล้วงเงินประกันสังคมที่มีกองทุนอยู่ 5 แสนล้านบาท มาหาเสียงล่วงหน้า....

ถือเป็นความแยบยลของรัฐบาลที่หาเสียงโดยไม่ต้องควักกระเป๋า แต่ล้วงเงินประกันสังคมที่มีกองทุนอยู่ 5 แสนล้านบาท มาหาเสียงล่วงหน้า....

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ประกันสังคมเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “หมายมั่นปั้นมือ” นำมาใช้สร้างคะแนนนิยมทางการเมือง

เที่ยวนี้ตัวจริงเสียงจริง เพราะปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่สมาชิกขนานใหญ่...

ล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ในวาระแรกไปแล้ว
หากไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองไปเสียก่อน สมาชิกประกันสังคม 9 ล้านคน น่าจะได้ใช้สิทธิประโยชน์ใหม่ในปีกระต่ายแน่ๆ

“ไฮไลต์” หลักของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... ก็คือ การขยายสิทธิประโยชน์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ รักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และถึงแก่ความตาย ให้กับคู่สมรสและบุตรของสมาชิกตามมาตรา 33 (ผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง)

รื้อประกันสังคมสูตรผสมการเมือง

หมายความว่า หากกฎหมายผ่านสภาจะมีสมาชิกใหม่เข้ามาในระบบประกันสังคมอีก 5.88 ล้านคน

แบ่งเป็น คู่สมรส 2.8 ล้านคน บุตร 3 ล้านคน โดยที่ผู้ประกันตนหลักไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม

กลวิธีที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้ คือ “โยก” เงินงบประมาณที่รัฐบาลจ่ายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาชดเชยให้ประกันสังคม

หลังแต่ละปีกองทุนประกันสังคมต้องจ่ายเงินค่า “เหมาหัว” รักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลเอกชนปีละประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเฉลี่ยค่ารักษาพยาบาลประจำปี 2552 คิดอัตราเหมาจ่าย 1,861 บาทต่อคนต่อปี

ขณะที่โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายค่าเหมาจ่ายรักษาพยาบาลสูงกว่าที่ 2,217 บาทต่อคนต่อปี ดูแลผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลฟรี 46 ล้านคน

เท่ากับว่า แต่ละปีมีค่าใช้จ่ายประมาณแสนล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินส่วนนี้หลักๆ จะตกกับโรงพยาบาลของรัฐ

ดังนั้น ถ้ามีการโยกเงิน สปสช.ที่จ่ายให้คู่สมรสและบุตร 5.88 ล้านคน มาสู่ระบบประกันสังคม เท่ากับว่าเม็ดเงินประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท จะกระจายมาสู่โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น

แน่นอนว่า จะมีทั้งเสียง “ค่อนขอด” เรื่องของการใช้เงินก้อนโตเอื้อประโยชน์เอกชน

แต่ขณะเดียวกันก็ได้ใจกรณีที่คู่สมรสและบุตร สามารถโอนสิทธิไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่ภาพลักษณ์บริการดีกว่าโรงพยาบาลของรัฐได้
อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่กฎหมายใหม่ระบุไว้ก็คือ หากคู่สมรสและบุตรได้รับสิทธิประโยชน์อื่นจากรัฐ เช่น สิทธิรักษาพยาบาลจากหน่วยราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะไม่มีสิทธิเข้าประกันสังคมให้ซ้ำซ้อนอีก

สิ่งที่น่าวิตกตามมาก็คือ ปัจจุบันประกันสังคมมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นทุกปี การรับคู่สมรสและบุตรผู้ประกันตนเข้ามาสู่ระบบประกันสังคมจะมีปัญหากับกองทุนในอนาคตหรือไม่

อีกทั้งกรณีที่คู่สมรสของผู้ประกันตนเป็นแรงงานนอกระบบ ก็จะได้รับการคุ้มครองด้วย เช่น ภรรยาทำงานในโรงงาน แต่สามีขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เท่ากับว่าสามีจะได้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลไปโดยปริยาย

งานนี้ซ้ำซ้อนและส่งผลกระทบต่อนโยบาย “ประชาวิวัฒน์” ที่รัฐบาลออกมาดึงดูดแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน เข้าโครงการประกันสังคมแบบเต็มๆ

ปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า นโยบายนี้จะไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ สปส. เพราะรัฐบาลจะนำเงิน สปสช.มาจ่ายให้ประกันสังคมแทน และจะไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของกองทุนประกันสังคมแน่นอน

ขณะนี้ สปส.กำลังเร่งดำเนินการรวบรวมข้อมูลผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มีสิทธิในการได้รับการคุ้มครองไปถึงคู่สมรสและบุตร โดยคู่สมรสที่มีสิทธิจะต้องจดทะเบียนและบุตรก็จะต้องมีเอกสารรับรองการเป็นบุตรถูกต้องตามกฎหมาย

โดยบุตรจะได้รับการคุ้มครองไปจนกว่าบรรลุนิติภาวะ หากแต่งงานก่อนอายุครบ 20 ปี จะถือว่าสิทธิที่ได้รับหมดลง

ขณะที่มุมมองของ วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า รัฐบาลและ สปส.ยังไม่มีการศึกษาจำนวนคู่สมรสและบุตรที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบคอบเสียก่อนที่จะมีการอนุมัติ

เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกันตนกว่า 9.2 ล้านคน รวมคู่สมรสและบุตรอีก 2 เท่า จะทำให้ สปส.มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม จะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย

“การขยายสิทธิการคุ้มครอง แต่รัฐบาลไม่ควักเงินจ่ายสักบาทเดียว เอาแต่เงินผู้ประกันตนมาหาเสียง ซึ่งเป็นอันตรายมาก” วรวรรณ กล่าว

นอกจากนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... ฉบับใหม่ล่าสุด ยังเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และอัตราเงินสมทบของรัฐบาล ที่จ่ายให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ผู้ประกันตนอิสระ)

งานนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายเพื่อสนองนโยบายประชาวิวัฒน์เต็มๆ!!!

โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดแคมเปญพิเศษ ให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซื้อประกันสังคมได้ในราคาแค่ 100 บาท และ 150 บาท โดยรัฐบาลช่วยสมทบส่วนหนึ่ง

ถือเป็นการซื้อใจ 3 กลุ่มอาชีพหลักใน กทม. คือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถแท็กซี่ และแม่ค้าพ่อค้าหาบเร่แผงลอย เพราะคนกลุ่มนี้ยังไม่มีหลักประกันทางสุขภาพและชีวิต

โดยรัฐมีการลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ บอกว่า ต้องการ “เงินชดเชย” กรณีล้มหมอนนอนเสื่อต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้ประกอบอาชีพไม่ได้

เพราะอย่าลืมว่า คนเหล่านี้ “หาเช้ากินค่ำ” หยุดงานไปเพียง 1 วัน ก็แทบลากเลือดแล้ว จะเอาเงินที่ไหนไปเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย

ถือเป็นความแยบยลของรัฐบาลที่หาเสียงโดยไม่ต้องควักกระเป๋า แต่ล้วงเงินประกันสังคมที่มีกองทุนอยู่ 5 แสนล้านบาท มาหาเสียงล่วงหน้า บวกกับงบประมาณแค่ไม่เท่าไหร่ใส่เข้าไป ก็ได้ใจเต็มๆ

แน่นอนว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาเมื่อไหร่คนไทยมีหลักประกันมากขึ้น แม้ภาระของรัฐบาลจะพุ่งเป็นเงาตามตัว แต่ก็ถือว่าคุ้ม!!!