posttoday

พันธมิตรฯแผ่ว...กดดันตัวเอง

25 มกราคม 2554

ประเทศไทยเดินมาถึงวันที่ 25 ม.ค. 2554 วันที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ขอคิว “ชุมนุมใหญ่” ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเรียกร้องอธิปไตยในดินแดนไทยบนพื้นที่พิพาทไทยเขมร

ประเทศไทยเดินมาถึงวันที่ 25 ม.ค. 2554 วันที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ขอคิว “ชุมนุมใหญ่” ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเรียกร้องอธิปไตยในดินแดนไทยบนพื้นที่พิพาทไทยเขมร

โดย...ทีมข่าวการเมือง

พันธมิตรฯแผ่ว...กดดันตัวเอง

ประเทศไทยเดินมาถึงวันที่ 25 ม.ค. 2554 วันที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ขอคิว “ชุมนุมใหญ่” ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อเรียกร้องอธิปไตยในดินแดนไทยบนพื้นที่พิพาทไทยเขมร

ปลุกกระแสชาตินิยม ในหนังม้วนยาวที่ยังไม่มีบทสรุป หลังเขมรจับกุม 7 คนไทยเป็นตัวประกัน ก่อนจะพิพากษาให้ 5 คนไทยมีความผิด และยอมปล่อยตัวออกมาก่อน เหลืออีก 2 คือ วีระ สมความคิด และ ราตรีพิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งยังถูกคุมขังอยู่ในข้อหาลักลอบเข้าเขตแดนเขมร และจารกรรมข้อมูล

การนัดชุมนุมครั้งนี้เป็นผลจากการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้เลื่อนการชุมนุมใหญ่ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2553 ซึ่ง พธม.ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกข้อตกลงคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทยกัมพูชา (เจบีซี) แต่เมื่อประเมินว่าจะมีมวลชนมาร่วมน้อย จึงเลื่อนเป็นวันที่ 25 ม.ค.

มาครั้งนี้ พธม. ยื่นข้อเรียกร้องต่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 3 ข้อ 1.รัฐบาลต้องยกเลิกข้อผูกพันที่มีต่อแผนที่ 1 : 200,000 และเอ็มโอยู 2543 2.ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก และ 3.ผลักดันชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยในพื้นที่พิพาท

“สนธิ ลิ้มทองกุล” ประกาศว่า ไม่ชนะไม่เลิก และจะต้องไม่ให้การชุมนุมครั้งนี้เสียชาติเกิด เพราะอภิสิทธิ์กำลังเสียรู้ฮุนเซน จนทำให้ประเทศเสียดินแดน

“สู้กับทักษิณเรื่องเล็กไปแล้วนะ สู้วันที่ 25 เป็นการสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะว่าเราสู้เพื่อประเทศจริงๆ เราสู้เพื่อไม่ให้เสียชาติเกิด เราสู้เพราะเราไม่ยอม ที่จะสยบภายใต้สถุลอย่างฮุนเซน และเราสู้เพื่อไม่ให้คนในรัฐบาลของเราไปสมรู้ร่วมคิดกับกุ๊ยอย่างฮุนเซน เลยอยากให้พ่อแม่พี่น้องออกมากันเยอะๆ สู้กันนานๆ งานนี้ถึงไหนถึงกัน”

แกนนำ พธม. ได้ประเด็น “7 คนไทย” มาช่วยสร้างกระแสพอดี แม้สถานการณ์วันนี้จะคลี่คลายลง แต่น่าสนใจว่า การชุมนุมของ พธม. จะเข้มข้น มีมวลชนมากแค่ไหน เพราะเป็นการขับเคลื่อนเรื่อง “ชาตินิยม” อีกทั้งแกนนำอย่าง “สนธิ ลิ้มทองกุล”และ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” ประกาศลุยเอง

ประเมินว่า มวลชนที่ร่วม ซึ่งสนธิเชิญชวนทุกสี ขณะที่ “มหาจำลอง” ปลุกทหารแตงโมสีเหลืองให้ออกมา อาจหนาตาระดับหนึ่ง แต่จะไม่คับคั่งเหมือนขับไล่ระบอบทักษิณด้วยยอดหลักหมื่น หลักแสน

หากดูการชุมนุมครั้งล่าสุดที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปลายเดือน พ.ย. หรือ 2 เดือนก่อน ขนาด 5 แกนนำมาเอง มวลชนก็หร็อมแหร็มไม่ถึงหลักพันจนแกนนำต่างตกใจ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นขับเคลื่อนครั้งนี้ แหลมคมกว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาก เพราะผูกโยงกับการเสียดินแดนไทย ที่ พธม.ยืนยันว่า การคงเอ็มโอยู 2543 ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เพราะเขมรค่อยๆ กินแดนไทยในพื้นที่พิพาทด้วยการรุกคืบตั้งชุมชน

กำลังหลักของม็อบ พธม. คือ “กองทัพธรรม” จากสันติอโศก ซึ่ง สมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนัก ได้ลงมาขับเคลื่อนและเป็นคนกลางเคลียร์ความขัดแย้งระหว่าง พธม. กับ “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ”

ทว่า กองทัพธรรมที่เคร่งครัดด้วยระเบียบวินัย ก็มีมวลชนอย่างมากแค่หลักพัน ขณะที่กำลังจากพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้และ กทม. ที่เคยร่วมต่อสู้กับ พธม. ไล่ทักษิณ ไม่มาร่วมแน่

ปัญหาสำคัญ คือ ใครคือ “มวลชนของพธม.” เพราะการต่อสู้เมื่อครั้งขับไล่ทักษิณ และต่อต้านรัฐบาลสมัคร “นอมินีทักษิณ” ที่ลากยาวมาถึง 193 วัน เป็นการสู้ที่ว่าด้วย “ประเด็น” ร่วมของสาธารณชนที่คนชั้นกลาง พลังจารีต กลุ่มทุน กองทัพ ต่างกฐินสามัคคี ไม่เอาระบอบทักษิณ ทำให้การขับเคลื่อนมีพลัง จนรัฐบาลสมัครต้องพ้นสภาพ

แต่การเรียกร้องอธิปไตยในดินแดนไทยผ่าน “ปม 7 คนไทย” และคนไทยเองไม่พอใจที่ฮุนเซนจาบจ้วงหมิ่นศักดิ์ศรีประเทศไทย ทว่าเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว อารมณ์สังคมโดยรวมยังให้เป็นหน้าที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในการแก้ปัญหาพื้นที่พิพาท และเชื่อว่าที่สุดยังมีอีกหลายเงื่อนไขที่รัฐบาลจะไม่ตีไพ่โง่เสียดินแดนให้เขมร

สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า การปลุกปมรักษาดินแดนไทยของ พธม. ไม่มีพลังเท่าที่ควร ก็คือ การชุมนุมของเครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติที่ผ่านมา ถึงแม้จะแยกตัวจาก พธม.มาแล้ว แต่ขนาดมีส่วนได้เสียโดยตรงเพราะคนในกลุ่มถูกเขมรจับตัว แต่ก็ไม่สามารถปลุกกระแสให้มาร่วมชุมนุมได้ แถมยังบางตาเหมือนโดดเดี่ยวตัวเอง

ประเด็นสำคัญ คือ คนกรุงล้ากับการชุมนุมทางการเมืองมามากในช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

เสื้อเหลืองก็มาสุดทางกับบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ เสื้อแดงก็ต่อยสุดหมัดกับม็อบเลือดราชประสงค์จนเสียชีวิต 89 คน คนกรุงจึงอยากเห็นประเทศกลับมาสงบเหมือนเดิม หากชุมนุมก็ต้องไม่กระทบสิทธิคนอื่นจนเดือดร้อนเหมือนที่ผ่านมา เช่น ปิดถนนเป็นสัปดาห์ ใช้ความรุนแรง

สะท้อนผ่านกรณีเสื้อแดง นปช. ที่ถูกผู้ค้าราชประสงค์รวมตัวกดดัน จนม็อบต้องถอยทีละคืบจากเลื่อนเวลา ย้ายสถานที่ จนยอมลดวันการชุมนุม ชี้ให้เห็นว่าสังคมมีภูมิคุ้มกันจนม็อบไม่สามารถทำอะไรตามใจชอบได้

มวลชนของ พธม.จึงขึ้นอยู่กับ “ประเด็นขับเคลื่อน” และสถานการณ์ขณะนั้น แต่อย่าลืมว่านอกจากคนกรุงไม่สนับสนุนแล้ว ทุนใหญ่ที่เคยส่งเสบียงให้ พธม. เป็นวิตามินชั้นดีให้ม็อบ ก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อน

กรณีแกนนำ พธม.ประกาศว่า ชุมนุมยืดเยื้อ ถ้าไม่บรรลุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ยกเลิกเอ็มโอยู ผลักดันคนเขมรออกนอกพื้นที่พิพาท และถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ก็จะไม่ยุติชุมนุม แต่อภิสิทธิ์ยืนกราน รัฐบาลจะไม่ปฏิบัติตาม เพราะยิ่งสร้างปัญหาพิพาทซับซ้อนกับกัมพูชามากขึ้น

เมื่อไม่มีจุดประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับ พธม. เกมนี้จึงต้องวัดกันที่ “กระแส” และ “ความชอบธรรม” ระหว่างม็อบกับรัฐบาล

แรงกดดันน่าจะตกอยู่ที่ พธม. เพราะหากชุมนุมยืดเยื้อนานวัน ละเมิดกฎหมาย ไม่มีพลังร่วม ก็ยิ่งสูญเสียความชอบธรรมไปเรื่อยๆ และหากไม่ได้ใจคนกรุงที่วูบวาบตามกระแสอีก ก็จะส่งผลสองเด้ง ต่อการเรียกคะแนนให้กับ “พรรคการเมืองใหม่”

มีการประเมินว่า ยุทธวิธีของม็อบ พธม. ที่จะสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลได้ คือ ยึดทำเนียบ ปิดสภา ซึ่งวันที่ 25-26 ม.ค. มีการประชุมรัฐสภาวาระร้อนแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งพอดี จึงต้องจับตา จะย้อนรอยหรือไม่ ขณะเดียวกันกลุ่มเสื้อแดงนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในช่วงค่ำ สถานการณ์วันนี้จึงเสี่ยงต่อความรุนแรงทุกเมื่อ ซึ่งที่สุดหากม็อบคุมไม่ได้ผลเสียก็จะอยู่ที่แกนนำเอง

กระนั้นที่น่าห่วงคือ ปัญหาแทรกซ้อนจากกลุ่มป่วน ที่ซุ่มซ่อนรอสร้างความรุนแรงขึ้น หากเกิดขึ้นก็จะพาประเทศไทยเข้าจุดเสี่ยงอีกครั้ง

ความกดดันจึงไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลอย่างเดียว แต่ม็อบ พธม. หากรุกตะพึดตะพือ ไม่ดูกระแสสังคม ก็เสียแต้มและอาจจบยาว จนลุกไม่ขึ้น