posttoday

รื้อโครงสร้างภาษีกับระเบิดเศรษฐกิจ

24 มกราคม 2554

ยิ่งนานวันเท่าไรการปรับโครงสร้างภาษีสำหรับประเทศไทยก็ใกล้ตัวเข้ามาทุกที และเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งนานวันเท่าไรการปรับโครงสร้างภาษีสำหรับประเทศไทยก็ใกล้ตัวเข้ามาทุกที และเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

โดย...ทีมข่าวการเงิน

ยิ่งนานวันเท่าไรการปรับโครงสร้างภาษีสำหรับประเทศไทยก็ใกล้ตัวเข้ามาทุกที และเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงมากขึ้นเท่านั้น

สาเหตุหลักสำคัญที่ต้องปรับโครงสร้างภาษี หนีไม่พ้นการหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายทั้งงบประจำและงบลงทุนที่โตเพิ่มขึ้นทุกปี

รื้อโครงสร้างภาษีกับระเบิดเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ การปรับโครงภาษียังต้องเป็นการเสริมสร้างความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการและประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเฉพาะหน้าการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ที่การลงทุนเคลื่อนย้ายได้เสรี หากโครงสร้างภาษีของไทยไม่ “เตะตา” นักลงทุน ประเทศไทยก็จะถูกเมินได้ง่ายๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “โรดแมป” การปรับโครงสร้างภาษีในส่วนของกรมสรรพากรที่จะดำเนินการได้ในปี 2555 มีความชัดเจนคือ จะมีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวตอย่างแน่นอน

ในส่วนของการลดภาษีเงินนิติบุคคลจากที่เก็บอยู่ 30% จะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 25% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ขณะเดียวกันก็เป็นการจูงใจต่างชาติเข้ามาลงทุน

สำหรับโรดแมปที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงไปอยู่ที่ 18% ตามข้อเรียกร้องของเอกชนบางกลุ่มเห็นจะเป็นไปได้ยาก เพราะการลดภาษีมากขนาดนั้นแทนที่จะได้ประโยชน์จะกลับกลายเป็น “ยาพิษ” เพราะจะทำให้รัฐเสียรายได้ไปหลายหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเป็นการฆ่าผู้ประกอบการภายในประเทศที่ปรับตัวไม่ทัน หากมีนักลงทุนต่างประเทศแห่เข้ามาลงทุนสินค้าประเภทเดียวกัน

การปรับโครงสร้างภาษีส่วนนี้ต้องยอมรับว่าขาดการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐ ให้ผู้ประกอบการภายในประเทศปรับตัวรับมือ สาเหตุหนึ่งมาจากความไม่พร้อมของภาครัฐ ไม่ชัดเจนในการปรับโครงสร้างภาษีจะออกมาหน้าตาอย่างไร

สำหรับการปรับเพิ่มภาษีแวตที่ปัจจุบันเก็บอยู่ 7% เป็น 10% ดูจะกลายเป็นกระดูกชิ้นใหญ่ของการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ เพราะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลทำให้รายได้รัฐบาลหายไปหลายหมื่นล้านบาท ทำให้ต้องหารายได้มาชดเชย ซึ่งหนีไม่พ้นการเพิ่มภาษีแวต

โดยการเพิ่มขึ้นทุก 1% ทำให้มีรายได้เพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท หากเพิ่มทั้งหมดทีเดียวรายได้จะเพิ่มขึ้นถึง 2 แสนล้านบาท

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า กล่าวว่า การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากปัจจุบันที่ประเทศไทยเก็บสูงถึง 30% จะช่วยดึงการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพราะขณะนี้ภาษีไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลลดตรงนี้ได้จะทำให้บรรยากาศลงทุนดีขึ้น มีต่างชาติเข้ามาทำงาน เศรษฐกิจไทยก็ดีขึ้น ฐานรายได้ของรัฐบาลก็จะสูงขึ้น คนไทยโดยรวมมีรายได้ จะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของประเทศไปในตัว

ส่วนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น นายมนตรี มองว่า ควรขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวไประยะหนึ่งแล้ว จะทำให้ได้เม็ดเงินกลับเข้ามาในมือรัฐบาล

“ขณะนี้ผมยังไม่เห็นด้วยกับการขึ้นแวต ควรรอเศรษฐกิจฟื้นอีก 12 ปี แต่ขณะนี้เพิ่งฟื้นก็ยังไม่ควร” นายมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองอย่างมาก เพราะเป็นการเพิ่มภาระของคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย จะได้ผลกระทบรุนแรงกว่าคนมีรายได้มากอย่างปฏิเสธไม่ได้ เหมือนรัฐบาลลดภาษีนิติบุคคลได้หน้า แต่ทำบาปด้วยการรีดภาษีแวตที่คนจนจ่ายไปชดเชยให้กับคนรวย

โจทย์ภาษีแวตจึงเป็นข้อใหญ่ที่รัฐบาลต้องใช้ความกล้าหาญว่าจะเพิ่มทีเดียวโดนด่าครั้งเดียวเป็น 10% หรือจะทยอยเพิ่มเพื่อลดภาระผลกระทบ แต่ต้องโดนด่าหลายครั้งข้ามปี เป็นประเด็นจุดอ่อนให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีว่าเป็นรัฐบาลรีดภาษีคนจนไปช่วยคนรวย

ส่วนหากจะไม่เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเลย ถือว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะ นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ออกมากล่าวว่า โรดแมปทำงบสมดุล 5 ปี ของกระทรวงการคลัง ทำให้กรมสรรพากรต้องเก็บภาษีเพิ่มเป็น 2.4 ล้านล้านบาท จากที่เก็บอยู่ในปีงบประมาณปัจจุบัน 2554 จำนวน 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น 20%

จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าการเพิ่มแวตต้องเกิดขึ้นในเร็ววันนี้แน่นอน เพราะปัจจุบันกรมสรรพากรเก็บภาษีได้โตเพิ่มขึ้นปีละ 10% ดังนั้นการที่จะทำให้การเก็บภาษีโตได้ 20% มีทางเดียวที่ทำได้คือการเพิ่มแวต

ตอนนี้ก็ลุ้นว่ารัฐบาลกล้าเพิ่มแวตหรือไม่ เพราะตั้งแต่การประกาศภาษีนี้มากว่า 10 ปี ก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเพิ่มเป็น 10% เลย โดยมักจะอ้างว่าเศรษฐกิจยังไม่แข็งแรง การเพิ่มภาษีแวตจะกระทบการบริโภคและทำให้เศรษฐกิจชะงัก

แต่ที่ผ่านมาพบว่า แม้เศรษฐกิจขยายตัวได้ดี แต่รัฐบาลก็ไม่กล้าปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะกลัวเสียคะแนนนิยมทางการเมือง

เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจปี 2553 ขยายตัวได้ถึง 8% และปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 4.5% แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังไม่กล้าที่จะขึ้นแวต โดยปีที่ผ่านมาได้ขยายเวลาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไปอีก 2 ปี ก็จะไปสิ้นสุดในปี 2555 พอดี ที่รัฐบาลจะ “ดีเดย์” เริ่มปรับโครงสร้างภาษีเสียที หลังจากที่พยายามยื้อซื้อเวลามาตลอด

เพราะถึงวันนี้การปรับโครงสร้างภาษีเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะมา “รำมวย” ต่อไปไม่ได้แล้ว ต้องสร้างความชัดเจนให้ผู้ประกอบการ ประชาชนทุกคนได้ปรับตัวเตรียมพร้อม ซึ่งรัฐบาลยังปล่อยให้คลุมเครือต่อไปเพื่อรักษาคะแนนนิยมทางการเมือง ก็ยิ่งทำร้ายผู้ที่เกี่ยวข้องและเศรษฐกิจของประเทศมากเท่านั้น