posttoday

ของขวัญมาร์ค หนี้เสียแบงก์รัฐ

10 มกราคม 2554

โหมโรงมาตั้งนาน ...ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้ฤกษ์เบิกโรง 9 มาตรการ ของขวัญสำหรับประชาชน เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา

โหมโรงมาตั้งนาน ...ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้ฤกษ์เบิกโรง 9 มาตรการ ของขวัญสำหรับประชาชน เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา

โดย...ทีมข่าวการเงิน

 

ของขวัญมาร์ค หนี้เสียแบงก์รัฐ

โหมโรงมาตั้งนาน ...ในที่สุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ได้ฤกษ์เบิกโรง 9 มาตรการ ของขวัญสำหรับประชาชน เมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา

งานนี้ต้องบอกว่าแคมเปญนี้ได้แต้ม...โดนใจ...แม้จะโดน “เสียดสี” บ้างก็เป็นเรื่องธรรมดาทางการเมือง

เนื้อหา 9 มาตรการครอบคลุมเรื่องการทำมาหากินของคนมีรายได้น้อยเต็มๆ ไล่ตั้งแต่พื้นที่ทำมาหากินไปจนถึงก้นครัว

อย่างมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่เคยผ่อนกับลีสซิง หรือแบงก์พาณิชย์ เบ็ดเสร็จตกคันละ 67 หมื่นบาท ถ้ามาเช่าซื้อในโครงการนี้กับแบงก์รัฐจะเหลือคันละ 4 หมื่นบาท

แท็กซี่ที่เคยเช่าอู่วันละ 6001,200 บาท ถ้าหันมาผ่อนกับรัฐก็เหลือวันละเฉลี่ย 400500 บาท แต่ได้สิทธิความเป็นเจ้าของไปในตัว

ในส่วนหาบเร่แผงลอยที่เคยอยู่นอกจุดผ่อนผันก็ได้รับการยกเว้นจาก กทม. แถมยังนำหลักฐานมาขอกู้กับแบงก์ได้อีก

โดยแบงก์ที่เข้าร่วมมี 5 แห่ง ธนาคารออมสิน ปล่อยกู้ 2,000 ล้านบาท

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ 1,100 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย 1,000 ล้านบาท

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 500 ล้านบาท

และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 400 ล้านบาท

โดยแรงงานนอกระบบทั้ง 3 อาชีพนี้ ยังมีสิทธิเข้าสู่ระบบประกันสังคม แม้จะไม่ได้สิทธิประโยชน์เรื่องรักษาพยาบาล เพราะมี “บัตรทอง” อยู่แล้ว

ข้อดีของสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลนำมาล่อใจก็คือ หากคนหาเช้ากินค่ำต้องนอนโรงพยาบาลเมื่อไหร่ ประกันสังคมก็ยังมีเงินชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปให้ ไม่ต้องมานั่งเหงื่อตกว่านอนโรงพยาบาลแล้วจะเอาเงินที่ไหนกินอยู่

เบื้องหลังกว่าจะออกมาได้อย่างนี้ รัฐบาลต้องเสียเหงื่อไปหลายเม็ด เมื่อตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเรียกประชุมหลายครั้งกว่าจะตกผลึก

เมื่อ “ต้นเรื่อง” ของ 9 มาตรการส่วนใหญ่มาจากแคมเปญประชาวิวัฒน์ คิดนอกกฎ บริหารนอกกรอบของ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ที่ปรึกษาโครงการที่ดูแลด้านแรงงานนอกระบบ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า ในการประชุมร่วม 9 มาตรการของขวัญปีใหม่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้แก่อาชีพนอกระบบ

เนื่องจากอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ หรือหาบเร่แผงลอยนั้น ต้องบอกว่าไม่มีหลักแหล่งแน่ชัด

โดยมีการสอบถาม รมว.คลัง ถึงปัญหาดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบที่แปลงเข้าสู่ระบบกลายเป็นหนี้เน่าแล้วหลายร้อยราย

ทั้งนี้ มีการประเมินว่าสุดท้ายแล้วสินเชื่ออาชีพไทยเข้มแข็งส่วนหนึ่งอาจจะไปไม่รอด ไม่ว่าจะเพราะปัญหาเศรษฐกิจ หรือรายได้ไม่เพียงพอชำระ ซึ่งรัฐบาลอาจต้องเข้ามาอุดหนุนเงินให้แบงก์รัฐ หรือเข้ามาค้ำประกันเพิ่มเติม

ขณะที่มาตรการดึงแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน เข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคมนั้น มีการจัดราคาให้ถูกลง ไม่ว่าจะ 100 บาท หรือ 150 บาท ซึ่งน่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่พนักงานบริษัทเข้าร่วม

โดยทีมงานรัฐบาลได้ประเมินความต้องการของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และวินมอเตอร์ไซค์ส่วนใหญ่ต้องการเข้าระบบประกันสังคม แต่ติดเรื่องการจ่ายเงินสมทบรายเดือนตามกฎหมายที่ค่อนข้างสูงถึงกว่า 400 บาท

...ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีการปรับลดเบี้ยประกันสังคมให้ จึงดึงดูดใจมาก!!!

นางวรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า โดยภาพรวมมองว่ามาตรการยังไม่มีความชัดเจนมากนัก แต่คิดว่าความตั้งใจก็คือการเอื้อสวัสดิการ และประกันความเสี่ยงให้กับแรงงานนอกระบบ เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพมาก และยังคงไม่มีหลักประกันอะไรรับรอง

“ส่วนตัวคิดว่าการนำมาตรา 40 ของระบบประกันสังคมมาเพื่อเป็นสวัสดิการนั้นไม่เหมาะสมทั้งตัวเงินสมทบที่ต้องจ่าย และสิทธิที่ได้รับ แต่คงจะต้องดูรายละเอียดว่าจำนวนเงินที่จะให้แรงงานเลือกจ่าย ไม่ว่าจะเป็น 100, 150 หรือ 280 บาทนั้น มีอะไรบ้าง” นางวรวรรณ ระบุ

ส่วนเรื่องการออมเงินชราภาพของแรงงานนอกระบบนั้น นางวรวรรณ ระบุว่า ควรมีการบริหารเงินบำนาญแยกออกจากระบบประกันสังคมให้ชัดเจน และให้กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) บริหารงานมากกว่า

โดยเชื่อว่า กอช.มีความเสี่ยงต่ำกว่าประกันสังคม และ กอช.มีความสามารถในการบริหารงานในส่วนนี้มากกว่า รวมถึงระบบการจ่ายเงินก็เป็นแบบบำนาญ ซึ่งมีความเหมาะสมกับแรงงานในกลุ่มนี้ด้วย

ขณะที่มุมมองของนักรัฐศาสตร์อย่าง นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าสิ่งที่นายกฯ ประกาศนั้นไม่ได้แก้ปัญหาให้กับประเทศ แต่เป็นเพียงการแบ่งเบาภาระ ซึ่งหวังผลทางการเมือง เนื่องจากการทำงานของรัฐบาลถือว่าเป็นช่วงสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวก็มีจุดดี คือ ให้บุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระสามารถเข้าสู่ระบบสวัสดิการสังคมได้ แต่ยังไม่เห็นรายละเอียดว่ามีความแตกต่างจากระบบประกันสุขภาพ หรือบัตรทองอย่างไรบ้าง

“โครงการดังกล่าวยอมรับว่าเน้นในส่วนของภาคเศรษฐกิจ ให้คนได้ประโยชน์ในระยะสั้น คือ มีความมั่นคงแม้จะตกงาน แต่ก็ยังมีระบบที่ดูแล แต่ในระยะยาวบุคคลที่ลงทะเบียนเพื่อยอมรับการเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะหลีกเลี่ยง หรือหลบเลี่ยงการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงจัดเก็บรายได้ไม่ได้ ดังนั้นประชาชนที่ต้องการมีหลักประกันทางด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องยอมรับการถูกแทรกแซง การจัดระเบียบโดยภาครัฐมากขึ้น” นายพิชญ์ ระบุ

ส่วนนโยบายการตรึงค่าก๊าซหุงต้ม หรือไม่เก็บค่าไฟครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกินกำหนด ถือว่าเป็นคนละเรื่องกับการส่งเสริมโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ เพราะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจโต แม้ประชาชนจะลดรายจ่าย แต่ไม่สามารถหาเงินเข้ากระเป๋าเพิ่มขึ้น

ที่สำคัญ กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่ฐานการเมืองพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง

นอกจากนั้น 9 มาตรการที่ออกมาก็ไม่ได้ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกจากประชาชนมากขึ้น เพราะการขับเคลื่อนนโยบายจริงๆ ก็มีส่วนจากพรรคการเมืองอื่นด้วย แม้ว่ารัฐบาลจะอ้างว่าเป็นผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ก็ตาม

ต้องยอมรับว่า 9 มาตรการของขวัญปีใหม่ เป็นการสร้างนโยบายที่หวังผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเดือน เม.ย.นี้ หลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จ

แต่สุดท้ายนโยบายจะเข้าเป้าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับภาคปฏิบัติว่าจะขับเคลื่อนให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

ถ้าประชาชนเห็นว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ดีแต่พูด ทำไม่ได้อย่างที่คิด ก็ย่อมไม่พอใจวาทกรรมนโยบายที่สวยหรู

แต่หากปฏิบัติได้จริงจะยิ่งสร้างคะแนนนิยมให้รัฐบาลมาร์คแบบถล่มทลาย...