posttoday

รัฐบาล"ครม. - สภา" ระส่ำ พรรคร่วมเขย่าพร้อมเลือกตั้ง

12 กุมภาพันธ์ 2565

โดย....ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

********************

นับวันสัญญาณนับถอยหลังของรัฐบาลก็เด่นชัด เราเห็นอาการพรรครัฐบาล แยกกันเดินเมินลุงตู่ ถึงขนาดที่ "บิ๊กตู่" เองหลังประชุมศบค.วันศุกร์ที่ผ่านมาออกปาก "ขอให้หนู (อนุทิน) ช่วยด้วย" ระหว่างแถลงข่าวที่ดึง"หัวหน้า-เลขา" พรรคภูมิใจไทย (ภท) .มาประกบฉากหลัง ลบภาพความขัดแย้งในรัฐบาล

รอบสัปดาห์เกิดภาพกระเทือนรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในสภาและ ครม. ส่อถึงความแตกแยกในพรรคร่วมรัฐบาล

หนึ่ง ปรากฎการณ์ในครม. การดับเครื่องชนบิ๊กตู่ของพรรคภูมิใจไทย โดย 7 รัฐมนตรีของพรรค นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย คว่ำบาตรไม่เข้าร่วมประชุมครม. หลังประกาศชัดไม่เห็นด้วยกับที่กระทรวงมหาดไทยเสนอขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและขยายสัญญาสัมปทานให้กับบริษัทบีทีเอสเพื่อแลกกับเก็บค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย

ภท.เล่นบทยืนข้างประชาชน ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับค่าโดยสารขึ้นไปถึง 65 บาทในระยะทางสูงสุดต่อเที่ยว เป็นการสร้างภาระประชาชน

ทำไมภท.ถึงกล้าหักพล.อ.ประยุทธ์ .... เพราะวันนี้ ภท.มีความพร้อมเต็มพิกัด ที่จะรับศึกเลือกตั้งแล้วไม่ต้องรอให้พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบวาระมี.ค. ปี 2566

นโยบายการเมืองทำสำเร็จ คำสัญญาจะทำให้กัญชาปลอดจากสารเสพติดปลูกในบ้านได้ตามที่หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ถือว่า บรรลุ เพราะได้ปลดล็อคกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด และสามารถนำมาใช้ทั้งทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ ต่างจากพรรคพลังประชารัฐที่โดนทวงสัญญาหาเสียงค่าแรง 400 บาทต่อวันสุดท้ายยังทำไม่ได้จริง

การแก้ปัญหาโควิด ในฐานะภท.ดูแลกระทรวงสาธารณสุข ประเมินแล้วไม่มีได้ ไม่มีเสีย แต่หากเป็นบทเสียเมื่อปีที่แล้วที่ไทยเจอจุดพีคของสถานการณ์โควิดมากที่สุด ก็โยนให้บิ๊กตู่รับผิดไปเพราะรวบอำนาจเป็น ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด(ศปก.ศบค.) เพียงฝ่ายเดียว เมินบทบาทจาก สธ.และภท. แต่ภท. สามารถเครมด้านบวกที่ดูแลระบบสาธารณสุุข ดูแล อสม. จนนานาชาติยกย่องให้ไทยระบบสาธารณสุขดีเยี่ยมในการแก้ปัญหาโควิด

ภท.มีความพร้อมด้านเงินทุน อนุทิน หัวหน้าพรรค รองนายกและรมว.สธ. เป็นเจ้าของยักษ์ใหญ่ก่อสร้าง ซิโนไทย ในปี 2562 ที่นายอนุทินเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาลนี้ ได้แจงบัญชีทรัพยสินถึง 4,198 ล้านบาท และการได้ดูแลกระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคและรมว.คมนาคม น้องเนวิน ผู้ทรงอิทธิพลในพรรคตังจริง รับผิดชอบเมกกะโปรเจคส์คมนาคมเล็กกลางใหญ่ รวมหลายแสนล้านบาทในช่วง 3 ปี

ภท.เป็นพรรคเนื้อหอม ตลาด สส. ไหลเข้าไปอยู่ใต้ชายคา ช่วง 3 ปี สามารถดูด สส. ฝ่ายค้านที่ได้รับผลกระทบยุบพรรคต้องหาสังกัดใหม่ เป็นงูเห่าจากพรรคอนาคตใหม่+ก้าวไกล รวม 9 คน เป็นพรรคเดียวที่มี สส.ไหลเข้า ขอย้ายพรรคมากที่สุดโดยไม่ต้องเลือกตั้ง จาก 52 สส. รวมปัจจุบันมี สส. 61 คน

ยังไม่รวมการเตรียมผู้สมัครลง สส. หลายพรรคมีดิวเตรียมย้ายเข้าภท. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว คาดว่า ภท.อาจชนะมาเป็นพรรคอันดับ 2 จากปัจจุบันอันดับ 3 เป็นรองพท.และ พปชร. เชื่อว่า ความขัดแย้งของสองขั้วการเมือง เผลอๆ นายกฯ "ตาอยู่" อาจเป็น "อนุทิน ชาญวีรกูล" หัวหน้าพรรคที่จะมาเป็นนายกฯ ในขั้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลางๆ เพราะไม่สุดขั้วแบบ คสช.

สถานการณ์จากนี้ของภท. ในทางการเมือง ทุกก้าวเดิน ทั้งในครม. ในรัฐบาล หรือ การพิจารณากฎหมายในสภา จึงต้องเก็บแต้มบวกกับพรรคให้มากที่สุด

สอง ปรากฎการณ์ในสภา เกิดพฤติกรรมแปลกๆ ของฝ่ายัฐบาลที่แหกคอก นอกลู่ การพิจารณร่างกฎหมาย ล่าสุด พรรคร่วมรัฐบาล ไม่เป็นเอกภาพกันแล้ว ไปจับมือกับฝ่ายค้านหนุนร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่ สส.พรรคก้าวไกล สนับสนุนการทำสุราพื้นบ้านของชาวบ้าน ไม่เห็นด้วยที่เจ้าสัวรายใหญ่ผูกขาด

ร่างพรบ.ฉบับนี้ มี สส.พรรครัฐบาล 3 พรรค ไปสนับสนุน ประกอบด้วย ภท. ปชป. และ พรรคเศรษฐกิจไทยของธรรมนัส พรหมเผ่า ลงมติช่วยพรรคก้าวไกล เป็นมติสภาส่งร่างพรบ.ฉบับนี้ให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งภายใน 60 วัน ก่อนจะส่งกลับสภาถือเป็นชัยชนะเล็กๆ ก้าวแรกของภาคประชาชนที่ผลักดันมานาน

เรายังเห็น ปรากฎการณ์สภาล่มทุกสัปดาห์ที่ สส.ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมในภาวะเสียงปริ่มน้ำ ส่วนฝ่ายค้านใช้จังหวะนี้เขย่าด้วยไม่อยู่ในห้องประชุมเพื่อเปิดแผลรัฐบาลต่อเนื่อง

จากนี้เชื่อว่า เราจะเห็นบท ภท.มากขึ้นอีก เป็น "ฝ่ายอิสระ" ในรัฐบาล ไม่หนุนลุงตุู่ทุกเรื่อง ไม่มีคำว่า มารยาททางการเมือง ไม่มีมติรัฐบาลมาผูกขาด คำว่า "พวกมากลากไปใช้ไม่ได้" "ขออยู่เคียงข้างผลประโยชน์ประชาชน" จะเป็นคำที่มาใช้อธิบายหากต้องลงมติ สวนกับรัฐบาลในเรื่องที่ค้านสายตาประชาชน

ความจริงปรากฎการณ์ พรรคร่วมรัฐบาล ตีตัวออกจาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เกิดกับภท. แต่ปชป. เริ่มแสดงออกมาก่อนแล้วตั้งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือ โวย"บิ๊กตู่" ห้ามเหมาเข่งนโยบายคนละครึ่งว่าเป็นผลงานของพปชร.

ที่ต้องจับตาคือ พรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส หลักแยกตัวจากพปชร. มาตั้งพรรคใหม่ แม้บิ๊กป้อมส่งสัญญาณว่า คุมพรรคนี้ได้และยังให้พรรคนี้อยู่ในซีกรัฐบาลแต่ล่าสุดการส่งสัญญาณของผู้กองธรรมนัสกับสส.ในพรรค ด้วยการโหวตคนละฝั่งกับรัฐบาลในร่างพรบ.สุราก้าวหน้า ตอกย้ำความกังวลเสียงรัฐบาลที่ยังอยู่ในภาวะง่อนแง่น

สิ่งที่ "บิ๊กป้อม" บอกว่า พวกนี้อยู่กับรัฐบาล จึงอาจไม่ใช่ ถ้า "บิ๊กตู่" ไม่รีบปรับครม.ให้โควต้าเก้าอี้กับ พรรคเศรษฐกิจไทยก่อนเปิดสภาเทอม2 ปลายเดือนพ.ค. มิฉะนั้นแล้ว "บิ๊กตู่" จะอยู่ในสถานการณ์โดดเชือดและถูกโดดเดี่ยวพ้นจากเก้าอี้นายกฯ มากขึ้น

หลายฝ่ายเริ่มจับตาพรรคเศรษฐกิจไทย ตัวแปรที่เร่งความร้อนทางการเมืองและเตรียมกดดันพล.อ.ประยุทธ์ในครั้งต่อไป นั่นคือ การอภิปรายทั่วไปเวทีของฝ่ายค้าน ตามด้วย การพิจารณา กม.ลูก 2 ฉบับ พรบ.ประกอบรธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พรบ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ทั้งสองวาระจะเข้าสภาในสัปดาห์หน้าและสัปดาห์ถัดไป

แว่วว่าท่าทีของพรรคเศรษฐกิจไทยจะวางตำแหน่งให้เป็นฝ่ายอิสระก่อน ไม่เป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลเพื่อกดดันต่อรอง พล.อ.ประยุทธ์ และอาจโหวตไม่รับหลักการกม.ลูกทั้งสองฉบับด้วย แต่การพิจารณากฎหมายลูกจะไม่มีปัญหาต่อรัฐบาล แม้ว่า วิษณุ รองนายกฯบอกว่า หากไม่ผ่าน นายก อาจต้องลาออก หรือยุบสภา เพราะต้องใช้องค์ประชุมรัฐสภา (สส.+ สว. )

เสียงจากภาคเอกชน เห็นว่า บรรยากาศการเมืองขณะนี้ขาดความเชื่อมั่นทั้งปัญหาองค์ประชุมสภา ปัญหาในครม. พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ดีกว่า อยู่แบบช้ำๆ ไม่มีความชัดเจน เพราะเชื่อว่า หากเลือกตั้งแล้ว การเมืองจะมีเอกภาพ ได้ล้างไพ่ใหม่ มีคนใหม่เข้ามาทำงานบริหารประเทศ น่าจะส่งผลดีต่อภาคประชาชน ภาคเศรษฐกิจ

ฐานอำนาจของ 3 ป.ที่เคยเข้มแข็งกำลังสั่นคลอน พรรคสำรองเกิดขึ้นเพื่อรองรับพล.อ.ประยุทธ์ คนใกล้ตัวบิ๊กตู่ - "เสกสกล อัตถาวงศ์" ผู้ช่วยรมต.ผู้รับหน้าที่หัวหมู่ทะลวงฟันฝ่ายค้าน ลาออกจากพปชร. มาตั้งพรรคใหม่ "รวมไทยสร้างชาติ" ประกาศชูพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เลือกตั้งครั้งหน้า ลั่นว่าจะไม่ยอมให้คนพปชร มาบีบไข่รังแก นายกฯ แบบนี้อีกแล้ว เตรียมดึงคนใหญ่คนโตจำนวนไม่น้อยเข้าร่วมพรรคนี้แข่งกับพปชร. เพื่อหนุนบิ๊กตู่ โดยมี "พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค" ที่ปรึกษานายกฯ เตรียมนั่งหัวหน้าพรรค

อนาคตบิ๊กตู่จึงลำบาก แม้จะออกถ้อยแถลงย้ำพร้อมเป็นเจ้าภาพAPEC 2022 ต้อนรับผู้นำนานาชาติสู่ประเทศไทยพ.ย.นี้ท่ามกลางกระแสยุบสภา แต่ใครเล่าจะเชื่อลุงตู่จะได้อยู่ยาวถึงการประชุมเอเปค

พล.อ.ประยุทธ์ และ พปชร. นับวันตกเป็นรองทุกแต้มในกระดานการเมืองจากปัญหาในรัฐบาลและ ภาวะขาลง การเผชิญมรสุมปัญหาค่าครองชีพ น้ำมันแพง นี่ไม่เป็นผลดีต่อบิ๊กตู่ หากคิดจะอยู่ลากยาว ไม่ต้องหวังจะถึงปลายปี แค่ถึงเปิดสภาเดือนพ.ค.เป็นต้นไปก็ยาก หากไม่รีบตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนเพื่อคลายวิกฤตให้ประเทศ