posttoday

บิ๊กตู่ยังไม่เข้าตาจน ทางออกปรับครม.อยู่ต่อครบ8 ปี

29 มกราคม 2565

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

***************

ปัญหาความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ 21 สส. กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ถูกขับออกจากพรรค ลามสู่เสียรภาพรัฐบาลนำมาสู่การคาดการณ์ต่างๆว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจตัดสินใจ ผ่าทางตันยุบสภาก่อนเดือนพ.ค. ที่ฝ่ายค้านจองกฐินยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย

แต่เชื่อว่า ในปีนี้ "บิ๊กตู่" ต้องรักษาอำนาจไว้ให้ได้เพราะต้องการอยู่ครบเทอม (มี.ค.2566) และขอชิงเก้าอี้นายกฯสมัยสามอีก อาจยอมอ่อนข้อ ด้วยการปรับครม.ดึงพรรคเศรษฐกิจไทยที่ล่าสุดเหลืออยู่ 18 สส. เข้าร่วมรัฐบาล

พรรคเศรษฐกิจไทย พรรคสำรองของ พปชร. ยุทธการแตกแบงค์พันในการเลือกตั้งครั้งหน้า "บิ๊กป้อม" ปูทางไว้ให้น้องรัก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา "บิ๊กน้อย" ประธานยุทธศาสตร์พปชร. ลาออกมารับนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค วางแผนแยกเสือออกจากถ้ำ หาบ้านใหม่หวังแก้ปัญหา ความขัดแย้งระหว่าง "บิ๊กตู่" และ ผู้กองธรรมนัส ที่ไม่ลงรอยกัน หลังจากฟางเส้นสุดท้ายที่แกนนำก๊วนลุงตู่ไม่พอใจ ร.อ.ธรรมนัส โยนบาปให้ว่า เหตุที่แพ้เลือกตั้งซ่อมสงขลาให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ก็เพราะผู้กองธรรมนัสปราศรัยหมิ่นศักดิ์ศรีคนใต้

"บิ๊กตู่" ไม่เผาผีกับ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเชื่อว่า จ้องโค่นล้มให้หลุดเก้าอี้นายกฯ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปีที่แล้ว หลังได้ข่าวว่า ผู้กองธรรมนัสเดินเกมต่อรองในสภาร่วมกับฝ่ายค้านเพื่อคว่ำพล.อ.ประยุทธ์ แลกกับการต่อรองขอเก้าอี้รมว.มหาดไทย ทำให้ "บิ๊กตู่" ฉุนจัด ปลดเขา และ นฤมล ภิญโญ ศิริวัฒน์ มือซ้ายของ"บิ๊กป้อม" อีกคนพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี สร้างความไม่พอใจให้กับ "บิ๊กป้อม" มาก เพราะ "บิ๊กตูู่" ไม่บอกกล่าวมาก่อน

ร.อ.ธรรมนัส ประกาศลาออกจากพปชร.ตั้งแต่ตอนนั้น แต่ "บิ๊กป้อม" รั้งไว้ ให้เป็นเลขาธิการพปชร.ตามเดิมอยู่ช่วยบิ๊กป้อมสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมีขึ้น แต่สุดท้ายความขัดแย้งระหว่างผู้กองธรรมนัสกับแกนนำพรรค ก็ไม่มีวี่แววดีขึ้น แถมยังบานปลายเป็นพรรคที่ส่อแตกดับในอนาคต

ตลอดการเป็นนายกฯสมัยสอง ความระหองระแหงระหว่าง "บิ๊กตู่"กับ "บิ๊กป้อม" มีมาเป็นระยะ เพราะ "บิ๊กตู่"ลดบทบาทการเมืองพี่ใหญ่คสช.ลง จากภาพลักษณ์ที่เป็นจุดอ่อนของรัฐบาล ไม่มีอำนาจตรงในครม. โดยเฉพาะเมื่อ "บิ๊กป้อม" ต้องมารับบทเป็นหัวหน้าพปชร.อีกตำแหน่ง เพื่อแก้ปัญหาในสภาให้ "บิ๊กตู่" แต่กลับถูก "บิ๊กตู่" ตัดแขนตัดขามือทำงานไปหมด ในกลุ่ม สส.บิ๊กป้อม ยังวางแผนให้ไปยึดเก้าอี้ รมว.มหาดไทยจาก "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะที่ "บิ๊กตู่" เองก็ลอยตัว ไม่รู้ไม่เห็น ไม่ลงแรงมานั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคพปชร. ปล่อยให้ บิ๊กป้อม จัดการปัญหาความเดือดร้อนของ สส. และเกมในสภาแทน

มาถึงรอบนี้ แผนของ "บิ๊กป้อม" ที่สั่งการให้ พรรคขับ 21 สส.ก๊วนธรรมนัสเพื่อแก้ปัญหาความแตกในพรรค เมื่ออยู่กันไม่ได้ ก็ต้องแยกทางไปอยู่บ้านใหม่ ด้านหนึ่ง เป็นเกมกดดันให้ "บิ๊กตู่" ต้องปรับครม. ยอม ร.อ.ธรรมนัส และกลุ่มก๊วนเข้าร่วมรัฐบาลอีกครั้งพร้อมกับเรียกร้องให้คืน 2 ตำแหน่งรมต.ที่ถูกปรับออก ถ้าไม่ดึง พรรคเศรษฐกิจไทยเข้าร่วม "บิ๊กตู่" ก็อาจหลุดเก้าอี้นายกฯ

มีข่าวว่า 2 เก้าอี้ตัวแทนของพรรคเศรษฐกิจไทยที่จะมาเป็นรัฐมนตรี อาจเป็น 1."บิ๊กน้อย" พล.อ.วิชญ์ และ 2. อภิชัย เตชะอุบล สส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์ ทุนใหญ่ที่จะย้ายมารับเก้าอี้เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ไม่ก็เป็น ร.อ.ธรรมนัส ที่จะกลับมาเป็นรัฐมนตรี

การที่พปชร. หายไป 21 เสียง ย่อมสร้างความหวาดเสียวให้กับ "บิ๊กตู่" ที่จะเป็นจุดตายคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ปัจจุบัน สภามีสส. 475 เสียง องค์ประชุมกึ่งหนึ่งคือ 238 คน รัฐบาลมี 268 เสียง ฝ่ายค้าน 207 ขาดเสียงก๊วนผู้กองธรรมนัสไป 18 เสียง รัฐบาลก็เริ่มปริ่มน้ำเพราะทุกวันนี้ขนาดมี 268 เสียง ยังมีปัญหาสภาล่ม เสียงที่เปราะบางยิ่งสร้างอำนาจต่อรองให้พรรคเล็กในรัฐบาลอีก 9 เสียง ที่จะเรียกร้องตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ผลประโยชน์อื่นใดแลกกับไม่ให้ "บิ๊กตู่" ตกเก้าอี้นายกฯ

ถ้า ผู้กองธรรมนัสกับพรรคเล็กรวมกันจะเป็น 27 เสียง เกิดแผลงฤทธิ์ ไม่พอใจ"บิ๊กตู่" ขึ้นมา เปลี่ยนขั้วไปอยู่ฝ่ายค้าน และหากมีการยื่นญัตติซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ พรรคเศรษฐกิจไทยกับพรรคกล้วยต่างๆ ไปยกมือไม่ไว้วางใจด้วย ฝันของบิ๊กตู่ที่หวังจะเป็นนายกฯสมัยสามพังครืนทันที

การลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า เมื่อมีการยื่นญัตติแล้ว นายกฯจะยุบสภาไม่ได้ และมติไม่ไว้วางต้องเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภา ในทีนี้คือ 238 เสียง ถ้าเกิน นายกฯหรือรัฐมนตรีคนใดที่ถูกอภิปรายจะต้องพ้นจากตำแหน่ง

ฝ่ายค้านประกาศแล้วว่า จะยื่นอภิปรายแน่ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่สามารถยื่นได้ และใกล้ครบ 4 ปี เพื่อตอกฝาโลงความล้มเหลวของพล.อ.ประยุทธ์ ก่อนถึงการเลือกตั้ง และทันทีที่ยื่นญัตติ รธน.ห้ามยุบสภา แน่นอน "บิ๊กตู่" จะไม่มีทางยอมให้ฝ่ายค้านมาอภิปรายตัวเองแน่ ถ้าไม่มั่นใจว่า จะสามารถคุมการลงมติซักฟอกได้

หลายคนยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมอ่อนข้อให้ ร.อ.ธรรมนัส และ "บิ๊กป้อม" เพื่อแลกกับความอยู่รอด ด้วยการต้องยอมปรับครม.ก่อนมีการยื่นญัตติอภิปราย ดึงพรรคเศรษฐกิจไทย ร่วมรัฐบาล เป้าหมายเพื่ออยู่ยาวให้พล.อ.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธานในที่ประชุมเอเปคปลายปี 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ และต่อเนื่องชิงนายกฯ อีกสมัยในการเลือกตั้งปี 2566

แต่ระหว่างทางจากนี้ถึงสิ้นปี มีวาระหลายเรื่องที่อยู่ในมือ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาและปูทางอำนาจ ทั้งเงินกู้เแก้ปัญหาโควิดอีกแสนล้านบาท การจัดทำ ร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในช่วงกลางปี การโยกย้ายแต่งตั้ง บิ๊กข้าราการ ที่จะเกษียณ

ลำพังถ้า "บิ๊กตู่" แก้วิกฤตการเมือง ด้วยการยุบสภาภายในช่วง 3 เดือนจากนี้ (ก.พ.-เม.ย.) ไม่ต้องหวังว่า พปชร.จะได้ สส.เกิน 100 สุดท้ายอาจกลายเป็นขนาดกลาง เพราะปัญหาความขัดแย้งในพรรค ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ปัญหาค่าครองชีพ สินค้าพาเพรดขึ้นราคา

แต่ระยะยาวก็เช่นกัน ถึงแม้ "บิ๊กตู่" จะประคับประคองตัวเองไปได้ จนถึงปลายปี ทว่า พปชร.ก็ยังไม่ฟื้นจากอาการสะบักสะบอม สส.อาจไหลออก ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอบช้ำหนัก ความขัดแย้ง แก่งแย่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น ในพปชร.สะท้อนความเป็นพรรคเฉพาะกิจ การกดดันขอเก้าอี้รัฐมนตรี สะเทือนความรู้สึกประชาชนในภาวะวิกฤตค่าครองชีพ สินค้าราคาแพง อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงจากปัญหาความเครียด จากสถานการณ์โควิด

ประเมินสถานการณ์ไปถึงเลือกตั้งครั้งหน้าอย่าว่า พปชร. จะเป็นพรรคอันดับ 1 หรือ 2 พรรคเพื่อไทยยังมาแรง เป็นตัวยืน ขณะที่พรรคภูมิใจไทยเป็นเสือซุ่มเก็บแต้มไปเรื่อยๆ ส่วน "บิ๊กตู่" ถึงวันนั้น ยังมีกระแสเพียงพอให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัยหรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยลบที่กระหน่ำรุมเร้า

*************************