posttoday

จีน-อินเดีย บนเส้นทางสู่ยักษ์คู่แห่งศก.โลก

23 ธันวาคม 2553

การเดินทางเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า แห่งจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มิใช่เพียงสัญญาณที่ดีในทางการทูตเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มที่สดใสของเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีจีนและนายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย เห็นพ้องต้องกันที่จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการค้าระดับทวิภาคี ให้มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2558

การเดินทางเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า แห่งจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มิใช่เพียงสัญญาณที่ดีในทางการทูตเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มที่สดใสของเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีจีนและนายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย เห็นพ้องต้องกันที่จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการค้าระดับทวิภาคี ให้มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2558

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

 

จีน-อินเดีย บนเส้นทางสู่ยักษ์คู่แห่งศก.โลก

การเดินทางเยือนอินเดียของนายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า แห่งจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มิใช่เพียงสัญญาณที่ดีในทางการทูตเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มที่สดใสของเศรษฐกิจและการค้าระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่แห่งเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นายกรัฐมนตรีจีนและนายกรัฐมนตรี มันโมฮัน ซิงห์ แห่งอินเดีย เห็นพ้องต้องกันที่จะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการค้าระดับทวิภาคี ให้มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2558

เป้าหมายนี้ นับเป็นเป้าหมายล่าสุดที่มีโอกาสเป็นไปได้สูง หลังจากที่จีนได้กลายเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอินเดียตั้งแต่ปี 2551 โดยที่ในปีนี้ มูลค่าการค้าของทั้งสองประเทศสูงถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

อีกหนึ่งเป้าหมาย คือการลงนามด้านธุรกิจที่คาดว่าจะมีมูลค่ารวมสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีจีนพาคณะนักธุรกิจเยือนกรุงนิวเดลีถึง 400 คน

เป้าหมายนี้จะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญให้กับการผลักดันข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างสองประเทศ ซึ่งในระหว่างการเยือนอินเดียในครั้งนี้ของนายกฯ จีน FTA เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการหารือเช่นกัน โดยที่จีนได้เปรยถึงการวางรากฐานสำคัญในการผลักดัน FTA ของทั้งคู่ นั่นคือ การเปิดตลาดการเงินของอินเดียให้กับกลุ่มทุนสถาบันการเงินจีน ดังที่ธนาคารอินเดียสามารถเข้าไปเปิดกิจการในจีนแล้วถึง 10 ราย

ดูคล้ายกับว่าอนาคตของ 2 ยักษ์แห่งเอเชียกำลังไปได้สวย และน่าจะยิ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคโดยรวม

อย่างไรก็ตาม เส้นทางความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยังไม่พ้นจากสิ่งกีดขวาง

ประการแรก การบรรลุ FTA จะเป็นจริงได้ยาก หากอินเดียยังขาดดุลมหาศาลกับจีน โดยระหว่างปีงบประมาณ 25522553 อินเดียขาดดุลถึง 1.92 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าตัวเลข GDP ของหลายประเทศมีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างทัดเทียมกับอินเดีย เช่น โบลิเวีย (ซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าอินเดียเสียด้วยซ้ำ)

ประการต่อมา อินเดียมิได้หวังที่จะกระชับความสัมพันธ์กับจีนเพียงประเทศเดียว เพราะคล้อยหลังจากที่นายกฯ จีนกลับประเทศ ปรากฏว่า ประธานาธิบดีดิมิทรี เมดเวเดฟ แห่งรัสเซียผลัดไม้เข้าแทนที่จีนในทันที ยังไม่นับก่อนหน้านี้ ที่ประธานาธิบดี นิโกลาส์ ซาร์โกซี แห่งฝรั่งเศส เพิ่งเดินทางมาเยือน รวมถึงนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ยังมุ่งมาที่อินเดียเป็นประเทศแรกหลังรับตำแหน่ง

ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือการเยือนอินเดียของประธานาธิบดี บารัก โอบามา แห่งสหรัฐ ซึ่งไม่เพียงเป็นการเยือนอินเดียที่ใช้เวลานานที่สุดในบรรดาผู้นำสหรัฐที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการผ่านข้อตกลงในหลายด้าน รวมถึงด้านการเมือง

การที่อินเดียนิยมความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีมากกว่าสร้างหุ้นส่วนทวิภาคี จะเป็นน้ำหนักถ่วงมิตรภาพระหว่างจีนอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ในทางการเมือง จีนและอินเดียยังคงเผชิญหน้าในระดับที่เข้มข้น ในระดับที่แทบไม่ต่างอะไรกับสงครามเย็น

แท้จริงแล้ว จีนกับอินเดียยังไม่อาจสะสางกรณีพิพาทเรื่องดินแดน ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับรอยกันบริเวณแคว้นแคชเมียร์ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และในรัฐอรุณาจัลประเทศ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยที่พื้นที่แรกนั้นตกอยู่ในความควบคุมของจีน ขณะที่พื้นที่หลังอยู่ในการครอบครองของอินเดีย

ที่สำคัญก็คือ ทั้งสองแห่งอยู่ในทิเบต และทิเบตเองเคยเป็นช่องทางและเส้นทางสำคัญที่เชื่อมต่อทางการค้าระหว่างจีนและอินเดียมาแต่โบราณ

ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่โดย WikiLeaks พบว่า จีนพยายามสกัดกั้นมิให้ชาวทิเบตลี้ภัยมายังอินเดีย ด้วยการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลเนปาล เพื่อส่งตัวชาวทิเบตที่เดินทางผ่านเนปาลเข้าอินเดียกลับไปยังจีน ยังผลให้ในช่วงปีหลังๆ จำนวนชาวทิเบตที่เข้ามาลี้ภัยในส่วนต่างๆ ของอินเดียลดลงอย่างฮวบฮาบ

ทั้งนี้ แม้อินเดียจะกระชับสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อีกฉากอินเดียกลับให้การสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตที่นำโดยองค์ดาไล ลามะ อีกทั้งยังให้การโอบอุ้มชาวทิเบตลี้ภัย กว่า 8.5 หมื่นคน

มูลเหตุสำคัญที่อินเดียสนับสนุนทิเบต ก็เนื่องมาจากกรณีพิพาทเรื่องดินแดนในแถบพรมแดนประชิดชายเทือกเขาหิมาลัย อีกทั้งยังปรารถนาให้ทิเบตเป็นเสมือนรัฐกันชนกับจีน ซึ่งในกรณีหลังแม้นจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังสามารถอาศัยรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบต รบกวนหรือต่อรองจีนในทางอ้อมได้

กรณีทิเบตและกรณีพิพาทเรื่องดินแดนที่คาบเกี่ยวกับแผ่นดินทิเบตที่นี่เอง ที่เป็นเหมือนหนามยอกอกจีน

ความสำคัญของกรณีดังกล่าวอยู่ที่ข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้นำจีนและอินเดีย กลับไม่ปรากฏคำยืนยันของอินเดียที่จะเคารพต่อ “นโยบายจีนเดียว” ซึ่งบังคับให้อินเดียไม่ยอมรับฐานะของไต้หวัน อีกทั้งต้องยอมรับว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ผลก็คือ ข้อตกลงด้านการค้าทั้งหลายทั้งปวงที่อุตส่าห์ลงแรงเจรจาไป เกือบจะไร้ค่าในบัดดล

อย่างไรก็ตาม จีนจะไม่ลงมือตอบโต้อินเดียอย่างกระโตกกระตาก เช่นเดียวกับอินเดียที่พยายามจะไม่สูญเสียจีนเช่นกัน เพราะย่อมหมายถึงการสูญเสียพลวัตทางเศรษฐกิจที่จะช่วยพ่วงอินเดียสู่ศตวรรษแห่งการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก ดังที่ทั้งคู่ประกาศที่จะก้าวสู่ความเป็นหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ร่วมกันบนตำแหน่งมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกภายในปี 2593

แม้แต่ จางเหยียน เอกอัครราชทูตจีนประจำอินเดีย ยังยอมรับว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศเปราะบางอย่างมาก และจำต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการประคับประคองความสัมพันธ์นี้

หากทั้งสองประเทศสามารถเสริมความสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นมา จะช่วยเสริมฐานะที่แข็งแกร่งของผู้นำกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ BRICs ซึ่งนับเป็นธงนำของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย

แต่หากความสัมพันธ์ที่เปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งร้าวฉาน ผลเสียจะตกอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจของเอเชียอย่างไม่ต้องสงสัย