posttoday

รับขึ้นเงินเดือน อบต. 'มาร์ค' เสียเหลี่ยม ภท.

16 ธันวาคม 2553

การเบรกการขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถึงสองครั้งสองคราสองสัปดาห์ติดต่อกันของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งเกมการเมืองระหว่างเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดระหว่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

การเบรกการขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถึงสองครั้งสองคราสองสัปดาห์ติดต่อกันของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งเกมการเมืองระหว่างเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดระหว่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

โดย...ทีมข่าวการเมือง

 

รับขึ้นเงินเดือน อบต. 'มาร์ค' เสียเหลี่ยม ภท.

การเบรกการขึ้นค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถึงสองครั้งสองคราสองสัปดาห์ติดต่อกันของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งเกมการเมืองระหว่างเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดระหว่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) กับพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

เพราะต้องยอมรับว่าบทบาทของ อบต.ในปัจจุบัน คือหัวคะแนนชั้นดีที่ทุกพรรคการเมืองอยากจะครอบครองไว้ เพราะนั่นหมายถึงการมีกลไกสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายในการเลือกตั้ง เพราะผู้นำท้องถิ่นเหล่านี้มีอิทธิพลที่ชี้ซ้ายชี้ขวาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ว่าผู้สมัครคนใดควรจะเข้าวินชนะการเลือกตั้ง ทำให้หัวคะแนนวีไอพีอย่างนายก อบต. กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดไปโดยปริยายในการแจกกระสุนชนิดต่างๆ เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็วในปีหน้านี้อย่างแน่นอนตามที่ “อภิสิทธิ์” ได้ส่งสัญญาณมาเป็นระยะๆ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ หมายปองที่จะครองใจหัวคะแนนระดับวีไอพีกลุ่มนี้ยิ่งนัก

โดยเฉพาะ ภท. ที่มี “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” เป็นหัวหน้าพรรค และ รมว.มหาดไทย ภายใต้การกำกับดูแลของคนโตบุรีรัมย์ ที่มองเห็นความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในทุกระดับ จึงเลือกยึดกระทรวงมหาดไทยและกำกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ด้วย เพื่อหวังที่จะใช้ประโยชน์เหล่านี้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งในฐานะพรรคการเมืองเกิดใหม่ที่รุ่งเรืองที่สุดด้วยอำนาจรัฐและอำนาจเงิน

จุดนี้จึงเป็นที่มาของการเสนอให้เพิ่มเงินค่าตอบแทนรายเดือนให้กับผู้บริหาร อบต.ฝ่ายการเมือง หรือคนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งนายก อบต. และประธานสภา อบต.ที่จะได้ถึง 100% เต็ม คือจาก 9,200 บาท เป็น 18,400 บาท ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ ก็ได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้แบบลดหลั่นกันไป ตั้งแต่รองนายก อบต. รองประธานสภา อบต. สมาชิก อบต. เลขานุการนายก อบต. เลขานุการสภา อบต. รวมทั่วประเทศประมาณ 8.4 หมื่นคน ถ้าสามารถทำได้จะทำให้ ภท.มีหัวคะแนนใหญ่ในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 8 หมื่นคน เลยทีเดียว

เหตุผลดังกล่าว ทำให้ “ชวรัตน์” จรดปากกาลงนามอนุมัติการขึ้นค่าตอบแทนดังกล่าวทันที เพราะแค่ออกกฎกระทรวงประกาศใช้เท่านั้น ซึ่งเป็นอำนาจรัฐมนตรีที่สามารถทำได้ แต่ทว่าในเชิงการเมืองคงไม่มีอะไรง่ายเหมือนการปอกกล้วยเข้าปากแบบนั้น เพราะ ปชป.คงยอมไม่ได้ที่จะให้ ภท. ได้ความดีความชอบดังกล่าวตามลำพัง

เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมือนการแย่งซีน ปชป.อย่างรุนแรงที่กำลังมีการประกาศนโยบายเอาใจทุกชนชั้นรากหญ้าทุกกลุ่มอาชีพ ทั้งสามล้อรับจ้าง แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มอาชีพทำงานกลางคืน กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีหลักประกัน ฯลฯ รวมถึงการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกันแบบทั่วหน้าในวันที่ 1 เม.ย. 2554 นี้ ถือว่าเป็นการปาดหน้าเค้กกันชัดๆ เพราะ ปชป.อุตส่าห์สร้างความนิยมในรากหญ้าแบบปูพรม แต่กลับถูกแย่งชิ้นปลามันเป็นหัวคะแนนชั้นดีแบบหมดเข่งแบบนี้เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

เพราะแม้จะเป็นอำนาจรัฐมนตรีที่จะทำได้ แต่ในระเบียบว่าด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีอยู่หนึ่งข้อที่ระบุว่า “นายกฯ ในฐานะผู้บริหารสูงสุด ถ้ามีความเห็นหรือพิจารณาเรื่องใดๆ สามารถนำเรื่องเข้า ครม. เพื่อหารือได้” ทำให้การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา “อภิสิทธิ์” ได้สอบถาม “ชวรัตน์” ว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนให้ผู้บริหาร อบต.จริงหรือไม่อย่างไร

ผลจากการหารือครั้งนั้น ทำให้ “อภิสิทธิ์” แตะเบรกครั้งที่ 1 โดยยังไม่ให้ “ชวรัตน์” อนุมัติ เพราะเห็นว่าควรมีการศึกษาอย่างเรื่องเงินเดือนของ อปท. ที่ต้องยึดโยงกับการขึ้นค่าตอบแทนของส่วนอื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็น สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และสมาชิกสภาเขต (สข.) ที่เคยขอขึ้นเงินเดือนมานานแล้วแต่รัฐบาลก็ไม่ให้ และได้สั่งให้กระทรวงมหาดไทยไปจัดทำรายละเอียดเรื่องนี้ทั้งหมด และให้กลับมารายงาน ครม.ครั้งต่อไป

การหักหน้าในครั้งนั้นแม้จะสร้างความไม่พอใจให้กับ ภท. แต่ “ชวรัตน์” ก็รับลูกเรื่องนี้ว่าจะศึกษาทั้งระบบ แต่ยืนยันว่าจะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับผู้บริหาร อบต.100% เหมือนเดิม โดยนำเรื่องเข้าสู่การประชุม ครม.อีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา และถูกเบรกจนหน้าคะมำอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 จาก “อภิสิทธิ์” ที่ท้วงว่าควรมีการศึกษาให้รอบคอบว่าการขึ้นค่าตอบแทนครั้งนี้จะกระทบต่องบการพัฒนาในท้องถิ่นหรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีรายได้น้อย เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดผลกระทบต่อประชาชนได้ ผู้บริหารท้องถิ่นต้องชี้แจงกับประชาชนในพื้นที่ให้ได้ จึงเห็นควรชะลอเรื่องนี้ไปอีก 1 สัปดาห์

แน่นอนว่าในเชิงหลักการถือเป็นเรื่องที่ดีต่อทั้ง ภท. และ ปชป. ที่ควรจะมีเวลาศึกษาให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นอาจจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจได้ หากมีการเพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้บริหารจนประชาชนผู้เสียภาษีในพื้นที่ต้องเดือดร้อน เพราะถูกเบียดบังงบพัฒนาโดยผู้บริหารทำให้ท้องถิ่นแย่ลง

แต่ทว่าในเชิงการเมืองกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการที่ “อภิสิทธิ์” ออกตัวคัดค้านเรื่องดังกล่าวอย่างออกหน้าแบบนี้ ถือเป็นการตกหลุมพรางที่ ภท.ขุดบ่อล่อปลาไว้ทันที เพราะทันทีที่เสียงเบรกดังเอี๊ยด! สนั่นห้องประชุม ครม. เสียงฮือ! ของผู้บริหาร อบต. รวมถึง อปท.ในระดับต่างๆ ทั่วประเทศก็ดังขึ้นทันที เพราะเสียประโยชน์อย่างชัดเจน ในที่สุดจะทำให้หัวคะแนนวีไอพีเหล่านี้ต่อต้าน และ ปชป. จะกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาหัวคะแนนเกรดเอเหล่านี้ทันที ทั้งที่ ปชป.เป็นพรรคที่สนับสนุนการกระจายอำนาจ จนทำให้ อบต.มีตัวตนอยู่จนถึงทุกวันนี้ก็ตาม

ดังนั้น การที่ ปชป.ทำท่ายึกยักแบบนี้ถือว่าไม่เป็นผลดีกับ ปชป.เลย ถือเป็นก้าวที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ ในการสร้างศัตรูกับหัวคะแนนกว่า 8 หมื่นคนแบบนี้ แม้ว่าในที่สุดแล้ว ปชป.จะยอมให้มีการขึ้นค่าตอบแทน 100% ตามที่ ภท.เสนอมาก็ตาม แต่ความรู้สึกที่เสียไปแล้วคงคืนกลับมายาก และไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาเท่าใดที่จะซื้อใจกลับคืนมาได้

ตรงกันข้ามกับ ภท. ที่จะได้แรงสนับสนุนเพื่อให้การผลักดันการขึ้นค่าตอบแทนไปถึงฝั่งฝันให้ได้ โดย อปท.ทุกระดับจะเอาใจช่วยอย่างเต็มที่ เรียกว่า ภท.ได้ใจชาว อบต.อปท.ไปเต็มๆ โดยตอนนี้ ภท.แทบจะนอนเกาพุงรอความเห็นของ “อภิสิทธิ์” ในการประชุม ครม.สัปดาห์หน้าเท่านั้น เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่า ไม่ว่า “อภิสิทธิ์” จะตัดสินใจอย่างไร ภท.ก็มีแต่ได้กับได้เท่านั้น

เพราะถ้ามีการอนุมัติก็จะได้ใจชาว อปท.ในฐานะผู้ผลักดัน แต่ถ้ายังไม่อนุมัติก็จะได้ใจเช่นกัน เพราะทำให้เห็นว่า ภท.ทำเต็มที่เพื่อชาว อบต.แล้ว แต่ถูก ปชป.เตะตัดขา ภท.ก็จะได้รับการสนับสนุนและเห็นใจจาก อปท.มากขึ้น ไม่นับรวมถึงกลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สก. สข. ที่ตบเท้าเข้าพบ “ชวรัตน์” เพื่อขอขึ้นค่าตอบแทนตัวเองเหมือนกับ อบต.บ้าง ในสภาพแบบนี้ยิ่งทำให้ฐานเสียงของ ภท.มีความเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ต้องติดตามว่า ปชป.จะแก้เกมอย่างไร จะอนุมัติทันทีเพื่อให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2554 ตามที่ ภท.เสนอหรือไม่ หรือจะดึงเรื่องค่าตอบแทนทั้งหมดไปจ่ายพร้อมกันทีเดียว ทั้งข้าราชการการเมือง ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการประจำ ในวันที่ 1 เม.ย. 2554 ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้เป็นผลงานของ ปชป.

แต่ที่แน่ๆ ยิ่งนานมากเท่าไหร่ ความรู้สึกของหัวคะแนนจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการอย่างผู้บริหาร อบต.ยิ่งติดลบ ปชป.มากขึ้นเท่านั้น เพราะวันนี้หลังจากต้องวืดไป 2 ครั้งซ้อน ผู้บริหาร อปท. ประมาณ 8.4 หมื่นคน คงเริ่มเบื่อหน้านายก รัฐมนตรีที่ชื่อ “อภิสิทธิ์” กันแล้ว