posttoday

เฟด กับ QE3 การกระตุ้นที่ไม่เคยพอ

08 ธันวาคม 2553

เกิดปฏิกิริยาไปทั่วเมื่อ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจงัดมาตรการซื้อพันธบัตรมาใช้พยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง เพราะยังไม่ทันที่เฟดจะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณรอบ 2 หรือ QE2 ก็เริ่มเอ่ยถึง QE3 เสียแล้ว

เกิดปฏิกิริยาไปทั่วเมื่อ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจงัดมาตรการซื้อพันธบัตรมาใช้พยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง เพราะยังไม่ทันที่เฟดจะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณรอบ 2 หรือ QE2 ก็เริ่มเอ่ยถึง QE3 เสียแล้ว

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ


เฟด กับ QE3 การกระตุ้นที่ไม่เคยพอ

เกิดปฏิกิริยาไปทั่วเมื่อ เบน เบอร์แนนคี ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจงัดมาตรการซื้อพันธบัตรมาใช้พยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง เพราะยังไม่ทันที่เฟดจะใช้มาตรการผ่อนปรนทางการเงินเชิงปริมาณรอบ 2 หรือ QE2 ก็เริ่มเอ่ยถึง QE3 เสียแล้ว

เบอร์แนนคี ให้สัมภาษณ์กับรายการ 60 Minutes อันโด่งดังของสถานีโทรทัศน์ CBS ว่า การขยายมาตรการซื้อพันธบัตรจะช่วยลดอัตราดอกเบี้ยไปในตัว และด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวยิ่งขึ้น

แน่นอนว่า การกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ย่อมติดตามมาด้วยภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชีย ทว่าเบอร์แนนคี มั่นใจว่า ขณะนี้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐยังไม่น่าห่วงเท่ากับโอกาสที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด ซึ่งจะยิ่งบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคธุรกิจและผู้บริโภคจะใช้จ่ายลดลง

คำกล่าวของเบอร์แนนคีมีน้ำหนักไม่น้อย หากพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่ยังต่ำกว่า 2% และหากวัดจากมาตรวัดด้านอื่นๆ อาจต่ำกว่า 1% ด้วยซ้ำ

ด้วยภาวะเช่นนี้ เฟดยังมีพื้นที่ให้คงอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดขีดที่ประชิด 0%

แต่เฟดเลือกที่จะใช้การกดอัตราดอกเบี้ยทางอ้อม ด้วยมาตรการ QE ซึ่งก่อให้เกิดความกังขาและปฏิกิริยาในด้านลบจากนานาประเทศ มากกว่าเสียงตอบรับในด้านบวก

เพราะนานาประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย เกรงว่าการใช้มาตรการ QE ต่อเนื่องจะยิ่งทำให้สกุลเงินของตนแข็งค่าขึ้นจนกระทบต่อภาคส่งออก เพราะมาตรการดังกล่าวเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้สหรัฐอัดฉีดเงินเข้าระบบได้ตามใจชอบ หรือพูดในภาษาตลาด คือ สามารถพิมพ์เงินกระดาษได้เท่าที่ใจปรารถนา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แม้ว่าหลังจากที่เบอร์แนนคีได้ย้ำด้วยความมั่นใจว่า แนวโน้มที่สหรัฐจะหวนกลับไปเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น “แทบไม่มี” จนส่งผลให้เงินเหรียญสหรัฐแข็งค่าขึ้น

ปฏิกิริยานี้เป็นเพียงการตอบรับชั่วคราว และพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นปฏิกิริยาในทางตรงกันข้าม เมื่อสหรัฐเริ่มใช้มาตรการ QE2 อย่างเต็มที่ เพราะผลที่ตามมานั้น เป็นผลในเชิงกลไกทางการเงินที่แท้จริง มิใช่ผลในเชิงจิตวิทยาของนักลงทุนทางการเงิน

ดังจะเห็นได้จากปฏิกิริยาแรกที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นวอลสตรีต เต็มไปด้วยความสับสน หุ้นบางตัวดีดขึ้นมาได้ เนื่องจากคำมั่นสัญญาของประธานาธิบดี บารัก โอบามา ที่จะสานต่อนโยบายลดหย่อนภาษีที่ดำเนินมาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ทว่าหุ้นอีกหลายตัวซบเซาลง เพราะท่าทีล่าสุดของผู้ว่าการเฟด

น่าสนใจว่า การยืดอายุมาตรการลดหย่อนภาษีออกไปอีก 2 ปี มีส่วนช่วยกลบความกังวลของตลาดต่อท่าที “หลวมๆ” ของเบอร์แนนคี

เพราะการแย้มท่าทีเกี่ยวกับการต่ออายุมาตรการ QE มิใช่เพียงจะปลุกความหวาดหวั่นถึงแนวโน้มที่ไม่น่าพิสมัยของค่าเงินเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ยังบ่งชี้ด้วยว่า เบอร์แนนคียืดหยุ่นจนเกินไป จนอาจไม่หยุดแค่ QE3 หากพบว่าการใช้มาตรการ 2, 3 หรือกระทั่งรอบ 4 ไม่เพียงพอที่จะปลุกชีวิตของเศรษฐกิจให้กลับฟื้นคืนดีได้

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่านักลงทุนจะไม่มองเห็นแนว “หลวมๆ” ของเบอร์แนนคี เพราะมีการเอ่ยถึงการใช้ QE2 และ QE3 มาตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นอย่างช้า หรือก่อนที่เฟดจะประกาศใช้มาตรการดังกล่าวเสียด้วยซ้ำ

สิ่งที่นักลงทุนเห็นพ้องต้องกันประการหนึ่ง คือ เมื่อใดก็ตามที่เฟดเริ่มสานต่อมาตรการ QE อย่างเหนือความคาดหมาย (ซึ่งคือการต่อรอบที่ 3) เฟดจะยิ่ง “จบ” มาตรการนี้ยากเย็นขึ้นเท่านั้น

จนกว่าเฟดจะสามารถบรรลุเป้า 2 ประการได้อย่างแน่นอน นั่นคือ การควบคุมอัตราว่างงาน และภาวะการขยายตัวที่แข็งแกร่ง

เป้าหมายดังกล่าวจะบรรลุได้ ก็ด้วยการกระตุ้นมูลค่าของหลักทรัพย์ให้สูงขึ้น เพิ่มความมั่งคั่งในทุกๆ ภาค และกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจใช้จ่ายหรือว่างจ้างมากขึ้น

แต่กว่าจะถึงวันนี้ ดีไม่ดีปริมาณเงินที่ใช้คืนชีพเศรษฐกิจของพญาอินทรีผ่านมาตรการ QE รอบแล้วรอบเล่า อาจสูงถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากขณะนี้ที่ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ท่ามกลางความกังขา กังวล และไม่พอใจของนานาประเทศ ที่เริ่มมองมาตรการ QE ของสหรัฐ เป็นประหนึ่งยารักษาทางเศรษฐกิจที่ซ่อนพิษร้ายไว้

ด้วยเหตุผลที่แจ่มแจ้งยิ่งกว่าแจ่มแจ้ง ประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ต้องการสภาพคล่องส่วนเกินอีกต่อไป เพราะล้วนแต่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เกือบปกติอีกครั้ง

การกระทำของเฟดรังแต่จะฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกหวนหลับสู่ความเสื่อมถอย ก่อให้เกิดผลลัพธ์ข้างเคียง (อันไม่พึงประสงค์สำหรับบางคน) เช่น ราคาทองคำที่ถีบตัวสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างศัตรูให้กับสหรัฐอย่างไม่รู้ตัว

เบน เบอร์แนนคี และคณะกรรมการบริหารของเฟด คงลืม (หรือพยายาม) ว่า สหรัฐยังคงเป็นพลวัตหลักของเศรษฐกิจโลก และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับโลก จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศ

สหรัฐ ทั้งเฟดและรัฐบาล ไม่อาจลืมได้ว่า ความสำเร็จและล้มเหลวของนโยบายทางเศรษฐกิจ มิได้กระทบต่อชะตากรรมของตัวเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความเป็นและความตายของเศรษฐกิจทั่วโลก