posttoday

9 ธ.ค. ปิดฉากคดียุบ ปชป. เสียงข้างน้อยดันเข้าวิน?

08 ธันวาคม 2553

โล่งอก...แบบยังไม่ทันหายใจทั่วท้อง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนคดีการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท “ประชาธิปัตย์” ยังต้องมารอลุ้นกับ “ฉากจบ” ปิดคดียุบพรรคในรอบนี้ กับคดี 258 ล้านบาท ว่าจะประทับใจคนดูหรือไม่

โล่งอก...แบบยังไม่ทันหายใจทั่วท้อง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนคดีการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท “ประชาธิปัตย์” ยังต้องมารอลุ้นกับ “ฉากจบ” ปิดคดียุบพรรคในรอบนี้ กับคดี 258 ล้านบาท ว่าจะประทับใจคนดูหรือไม่

โดย...ทีมข่าวการเมือง


9 ธ.ค. ปิดฉากคดียุบ ปชป. เสียงข้างน้อยดันเข้าวิน?

โล่งอก...แบบยังไม่ทันหายใจทั่วท้อง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 ต่อ 2 ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนคดีการใช้เงินกองทุนสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท “ประชาธิปัตย์” ยังต้องมารอลุ้นกับ “ฉากจบ” ปิดคดียุบพรรคในรอบนี้ กับคดี 258 ล้านบาท ว่าจะประทับใจคนดูหรือไม่

แน่นอนว่ามติศาลรัฐธรรมนูญรอบแรกที่ส่งผลให้ประชาธิปัตย์ “ชนะฟาวล์” บนตาชั่งก่อนขึ้นชกจริง ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อคำตัดสินที่ออกมาไม่ได้กล่าวถึงเนื้อหาว่าใช้เงินกองทุนผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ใบเสร็จ หลักฐาน การโอนเงินไปยังคนใกล้ชิดผู้บริหารพรรคยุคนั้นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร กลับเป็นเพียงคำวินิจฉัยเรื่อง ขั้นตอนกฎหมายในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองที่ยังไม่ทำความเห็นให้ยุบพรรค

ส่งผลให้กระบวนการที่ตามมาไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย จนไม่สามารถนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ ทั้งที่ใช้เวลานานนับปีกับการไต่สวนพยานสองฝั่งรวมนับ 30 ปาก เอกสารหลายพันหน้า

ดีเดย์ 9 ธ.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดพร้อมคู่คดี 2 ฝ่าย ระหว่างประชาธิปัตย์ผู้ถูกร้อง และอัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้อง เพื่อหารือกรอบการพิจารณาคดี จึงถูกจับตาว่าคดีนี้จะเดินต่อไปอย่างไร จำหน่ายคดี หรือเดินหน้าไต่สวนแล้วค่อยพิจารณาตัดสิน

ในวันที่คำวินิจฉัยเมื่อ 29 พ.ย. ออกมานำร่องเรื่องความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่า อภิชาต สุขัคคานนท์ ยังไม่ได้ทำความเห็นในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองส่งเรื่องยุบพรรคประชาธิปัตย์ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นี่จึงทำให้หลายเสียงขณะนี้เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีคำวินิจฉัย “ยกคำร้อง” ในคดีเงินบริจาคจากบริษัท ทีพีไอโพลีน จำนวน 258 ล้านบาท ไปในทิศทางเรื่องข้อกฎหมายเช่นเดียวกับคดี 29 ล้านบาท

“คมสัน โพธิ์คง” อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มองว่ากระบวนการพิจารณาในส่วนของคดี 258 และ 29 ล้านบาท แม้จะมีความแตกต่างในส่วนของ “ผู้ฟ้องร้อง” คือ คดี 29 ล้านบาท ให้อำนาจนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของ กกต.ส่งฟ้อง แต่ในคดี 258 ล้านบาท ให้ส่งเรื่องผ่านไปยังอัยการสูงสุดก่อนที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

“ดังนั้นกระบวนการขั้นตอนต้นน้ำยังเหมือนกัน คือ ต้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทำความเห็นส่งฟ้องก่อนให้ที่ประชุม กกต.ให้ความเห็นชอบ และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยออกมาแล้วว่ากระบวนการที่ผ่านมาในคดี 29 ล้านบาท ทั้งเดือน ธ.ค. 2552 และ เม.ย. 2553 นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ทำความเห็นก่อนส่งให้ กกต.พิจารณา ดังนั้นกระบวนการทั้งหมดจึงไม่น่าจะถูกต้อง เช่นเดียวกับคดี 29 ล้านบาท” คมสัน ระบุ

ยิ่งจับสัญญาณจาก “ประชาธิปัตย์” ที่อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 24 ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดี 29 ล้านบาทก่อนหน้านี้ ในประเด็นนายทะเบียนยังไม่มีความเห็นก่อนส่งให้ กกต.เห็นชอบ

ด้วยผลของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อทุกองค์กร รวมถึงผลผูกพันต่อศาลรัฐธรรมนูญเอง ดังนั้น คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 29 พ.ย. จึงเป็นแนวทางสำคัญสำหรับกรอบการพิจารณาคดี 258 ล้านบาท โดยเฉพาะประเด็นวินิจฉัยเรื่องการทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง

โดยเฉพาะหลักฐานสำคัญที่ประชาธิปัตย์หยิบยกขึ้นมาประกอบคำร้องให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น อันได้แก่คำให้การจาก อภิชาต สุขัคคานนท์ ที่เคยให้ไว้กับคณะกรรมการร่วมระหว่าง กกต. และอัยการสูงสุด ซึ่งยืนยันว่ายังไม่ได้ทำความเห็นยุบพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนส่งเรื่องให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา โดยคำชี้แจงนี้มีหลักฐานเป็นเอกสารชัดเจน

โอกาสที่คดีนี้จะเดินไปในรูปเดียวกับคดี 29 ล้านบาท จึงเป็นไปได้สูง ขึ้นอยู่กับว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณายกคำร้องก่อนออกนั่งบัลลังก์นัดพร้อมคู่ความทั้งสองฝ่าย หรือดำเนินการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาก่อนแล้วค่อยมีคำวินิจฉัยตามมาภายหลัง

ทั้งนี้ แม้คดี 258 ล้านบาท จะเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาก่อน แต่ด้วยพยานหลักฐาน เอกสาร และพยานบุคคล ล้วนเป็นชุดเดียวกับคดี 29 ล้านบาท ดังนั้นหากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจริงก็น่าจะใช้เวลาไม่นาน ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีนี้

ทว่า “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ผ่านเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคดีนี้ ซึ่งจากทั้งหมด 7 เสียง เป็นไปได้ที่ 3 เสียง ซึ่งเคยลงมติว่ากระบวนการขั้นตอนดำเนินคดียุบพรรคในส่วน 29 ล้านบาท ไม่ถูกต้องจากปัญหาเรื่องการทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง

ดังนั้น จึงต้องรอดูว่า 1 เสียง ที่เคยเห็นว่ากระบวนการยื่นเรื่องยุบพรรค 29 ล้านบาท ไม่ถูกต้องในเงื่อนเวลา 15 วัน ซึ่งจะต้องยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หลังความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ตามมาตรา 93 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550

ทว่า ในคดี 258 ล้านบาท แม้จะใช้ พ.ร.บ.เดียวกัน แต่เป็นคนละมาตรา คือ 9495 ซึ่งไม่มีเงื่อนเวลา 15 วันมาเป็นกรอบแล้ว จึงต้องรอดูว่าตุลาการ 1 เสียงนี้จะมีมติอย่างไรในคดี 258 ล้านบาท

อีกทั้งยังต้องติดตาม 2 เสียงข้างน้อยในคดี 29 ล้านบาท ที่เห็นว่าประเด็นข้อกฎหมายในส่วนการทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีความผิด และในคดีนี้จะมีความเห็นอย่างไร

โดยเฉพาะสิ่งที่ “ปริญญา” ตั้งข้อสังเกตว่ามีรายละเอียดแตกต่างจากคดี 29 ล้านบาทเล็กน้อย คือ ความเห็นของ “อภิชาต” ในการลงมติของที่ประชุม กกต. ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยจากการลงมติ 4 ต่อ 1 เสียง เห็นควรยุบประชาธิปัตย์

นั่นหมายความว่า คดี 258 ล้านบาท “อภิชาต” แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม กกต. ไม่ว่าจะในฐานะนายทะเบียน หรือประธาน กกต. ได้ลงมติเห็นควรไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ นี่จึงเป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่างกัน คดี 29 ล้านบาท ที่ต้องดูว่าตุลาการ 2 เสียงข้างน้อยในคดี 29 ล้านบาท จะมีมติกับคดี 258 ล้านบาทอย่างไร

ที่สำคัญ ผลคดีนี้จะไม่ออกมา 3 ต่อ 3 อย่างที่เคยเป็นห่วงในคดี 29 ล้านบาท เมื่อเสียงตุลาการที่ขอถอนตัวออกไปยังเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนี้ จึงต้องรอดูว่าวันที่ 9 ธ.ค.นี้ ตุลาการจะจำหน่ายคดี หรือเดินหน้ากระบวนการพิจารณาก่อนวินิจฉัยแบบคดี 29 ล้านบาท ก่อนมีคำวินิจฉัย

งานนี้ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร เสียงวิจารณ์ที่ตามมาคงไม่เผ็ดร้อนไปกว่าคดี 29 ล้านบาทอยู่แล้ว จึงเหลือเพียงแต่ว่า “ประชาธิปัตย์” จะปิดฉากคดียุบพรรครอบนี้ได้อย่างแฮปปี้เอนดิงหรือไม่เท่านั้น