posttoday

ระวังวงจรอุบาทว์กลับมา!เร่งแก้รธน.ระงับวิกฤต

15 สิงหาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

**********************

ทางออกที่จะคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกกรุ่นและเสี่ยงเกิดความรุนแรง คือ รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้เกิดการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สถานการณ์ความขัดแย้งถูกยกระดับขึ้นทุกวัน เมื่อมีการจับกุมแกนนักศึกษา บีบให้พวกเขาต้องสู้ไม่ถอย มวลชนอีกกลุ่มออกโรง เสี่ยงเผชิญหน้านองเลือด

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความแตกแยกเพราะสร้างกลไกสืบทอดอำนาจให้กับคสช.ผ่านการแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน ผ่านบทเฉพาะกาลให้อำนาจพิเศษ ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วง 5 ปี

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีบอกว่า รัฐบาลมีหนทางแล้ว แต่ขออุบไว้ก่อน ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเพียงว่า พร้อมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขอหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อนำเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นทิศทางเดียว

วันนี้รัฐบาลไม่ควรเล่นเกมการเมือง ต้องประกาศได้แล้วว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ควรทอดเวลาปล่อยให้ความขัดแย้งขยายประเด็นเลยเถิด มิฉะนั้น อาจเกิดการปะทะกันของกลุ่มเห็นต่าง ไม่ต่างจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝ่ายขวามองว่านักศึกษาและผู้ประท้วงคือ คอมมิวนิสต์ต้องการล้มสถาบัน

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นเพียง 3 ปี หลังจากขบวนการนักศึกษาได้รับชัยชนะจากการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ 14 ตุลา 2516 ที่ขับไล่เผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ออกนอกประเทศสำเร็จ หลังจากนั้นบรรยากาศหลัง 14 ตุลา 2516 ก็เบ่งบานเสรีภาพระเบิดจากที่ถูกกดทับมาหลายปี

1 ปี หลัง 14 ตุลา มีการชุมนุมเรียกร้องสิทธินับร้อยๆ ครั้ง ทั้งการประท้วงของนิสิต กรรมกร ชาวนา จนฝ่ายขวา ชนชั้นนำกังวลกับชัยชนะของนักศึกษาและภัยคอมมิวนิสต์รอบบ้าน มีการจัดตั้ง องค์กรประชาชนหลายกลุ่ม กองกำลังฝ่ายขวา มาใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา สถานการณ์ถูกยกระดับเมื่อกลุ่มนักศึกษาคัดค้านการกลับประเทศของจอมพลถนอม เป็นฟางเส้นสุดท้าย การสังหารหมู่จึงเกิดขึ้น

6 ตุลา 2519 จบลงด้วยการเข่นฆ่า ล้อมปราบนักศึกษา เปิดทางให้ทหารทำรัฐประหารโดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”ที่มี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ ฟื้นอำนาจเผด็จการขึ้น

ผ่านมา 45 ปี มาถึงการชุมนุมประท้วงของพลังนักศึกษาวันนี้ แม้จะมีปัจจัยแตกต่าง แต่มีบางอย่างที่คล้ายกัน เช่น ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ระบอบกึ่งคสช.ในปัจจุบัน การพูดถึง "สถาบัน" ที่เห็นแตกต่างกัน เสรีภาพในการชุมนุมทั่วประเทศจากแฟลชม็อบหลังยุคคสช. 5 ปี ที่เติบโตไม่ต่างจากยุคเดือนตุลา แต่มีตัวเร่งใหม่ที่รัฐบาลคุมไม่ได้ คือ โซเชียลมีเดีย ทำให้การแพร่อุดมการณ์ ความคิดเรื่องการปฏิรูปสถาบันผ่านคนรุ่นใหม่จุดติดดังไฟลามทุ่ง

แกนนำม็อบนักศึกษา ขยายข้อเรียกร้องเดิม 3 ข้อ 1.แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2.หยุดคุกคามประชาชน 3. ยุบสภาแต่ปักธงเพิ่มข้อ 4. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ เป็นข้อเสนอที่ไม่มีใครคาคดิดเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทั้งยัง วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ที่เวทีธรรมศาสตร์ กระทั่ง ผู้บริหารมธ.ออกแถลงการณ์ยอมรับว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและขอโทษประชาชน

นับวันแฟลซม็อบนักศึกษายังคงนัดหมายชุมนุมตามมหาวิทยาลัยอย่างเข้มข้น มีการเปิดหน้า ผู้อยู่เบื้องหลังความคิดที่ชัดขึ้นจาก 3 กลุ่ม 1. นักวิชาการที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล , ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 2 ผู้ต้องหาที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศเพราะถูกข้อหาหมิ่นมาตรา 112 ซึ่งถูกใช้ขึ้นภาพ และนำคลิปสดพูดเรื่องสถาบันมาเผยแพร่บนเวทีธรรมศาสตร์

2. กลุ่มพรรคอนาคตใหม่เดิมที่มีบทบาทสำคัญมากคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล ไอดอลของนักศึกษาที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและทนไม่ได้ที่ถูกยุบพรรค 3. กลุ่มนักวิชาการที่เคยเป็นแกนนำนักศึกษาสมัยเหตุการณ์เดือนตุลาในอดีต

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า การขับเคลื่อนของขบวนการนักศึกษาได้เปลี่ยนเป้า พุ่งเข้าที่สถาบันกษัตริย์กับข้อเสนอให้ลดพระราชอำนาจ เช่น ยกเลิกองคมนตรี ยกเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบัน ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

หลายประเด็นเหล่านี้ หากจะเปลี่ยนแปลงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันและในอดีตส่วนใหญ่ระบุว่า ห้ามมิให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ หากจะแก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ จะต้องทำประชามติก่อน

ที่สำคัญ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อันเกี่ยวพันกับสถานะ “ประมุขของรัฐ” เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ควรใช้เวทีม็อบมานำเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลง หากแต่ควรเป็นเวทีสาธารณะ ทางวิชาการ ที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ใช้เวลา เพื่อหาจุดสมดุลในสังคมไทย

การของรุกม็อบนักศึกษาไปไกลมาก และแหลมคมทางความคิด สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนไม่น้อย กระทั่งมีภาคประชาชนหลายกลุ่มลุกฮือ ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีกับแกนนำนักศึกษาที่ขึ้นเวทีที่ธรรมศาสตร์ การจัดตั้งม็อบมาชน เช่น การตั้งกลุ่มอาชีวะ กลุ่มฝ่ายขวา เป็นเงาคัดค้านประกบกลุ่มนักศึกษา แม้แต่พรรคฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทยที่มีเสียงอันดับหนึ่งของสภาก็ประกาศว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันของม็อบนักศึกษา

หากแกนนำม็อบนักศึกษา ไม่ลดระดับมาอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อนาคตหนีไม่พ้น ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ประสบการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเกือบ 50 ปี นับแต่ 14 ตุลา 2516 ทุกครั้งที่เกิดม็อบ มักจะมี “มือที่สาม” ยกระดับสถานการณ์ความขัดแย้ง นำมาสู่การรัฐประหารกินรวบ

โดยเฉพาะช่วงม็อบเสื้อสีในช่วง 20 ปีมานี้ มีบทสรุปเห็นได้ชัด กลุ่มพันธมิตรขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ปี 2548 จบด้วย คมช. ยึดอำนาจในปี 2549 ม็อบเสื้อแดงขับไล่อภิสิทธิ์ปี 2553 จบด้วยแกนนำถูกจับกุมดำเนินคดี กลุ่ม กปปส.ชุมนุมยืดเยื้อขับไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปี 2556 จบด้วย คสช.ยึดอำนาจปี 2557

การแก้ปัญหาให้อยู่ในกรอบ สันติวิธี ทั้งสองฝ่ายจึงต้องลดการเต็มเชื้อไฟ ฝั่งนักศึกษาควรถอย 1 ก้าว เก็บข้อเรียกร้องที่ 4 เรื่องการปฏิรูปสถาบันไว้ กลับเข้าสู่ระบบ ตั้งหลักที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความชอบธรรม ซึ่งเป็นข้อเสนอที่วันนี้ขานรับกันหมดแล้ว ส่วนรัฐบาลต้องรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายวิกฤต

หากไม่รีบวงจรอุบาทว์ที่ทำให้ประเทศถอยหลังแบบเดิมๆ ก็จะกลับมา นั่นคือ การรัฐประหารโดยอ้างมูลเหตุการจาบจ้างสถาบัน สถานการณ์ประเทศวิกฤต .... เค้าลางกำลังบอกเหตุ การยึดอำนาจแค่เปลี่ยน “ผู้เล่นใหม่” ในอำนาจเดิมๆ 

**************************