posttoday

ระทึก!โควิดระยะ 3 เดิมพันชะตา "ลุงตู่"

14 มีนาคม 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

************************

วิกฤตจากมหาภัยไวรัสโควิด-19ทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในแผนการรับมือของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังถูกวิจารณ์หนักถึงการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกิดความสับสน ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทำให้บุคลากรทางแพทย์และและคนไทยขาดแคลน เกิดขบวนการหากินกับความเดือดร้อนประชาชน กินส่วนต่างหาประโยชน์ส่งออกหน้ากากไปขายต่างประเทศ ซึ่งกำลังพิสูจน์ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนในรัฐบาลหรือไม่

ที่น่ากังวลว่า โอกาสที่การแพร่ระบาดในไทยจะเข้าสู่ “ระยะ 3” ในช่วงอันใกล้นี้ เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นแล้วเพราะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน รัฐบาลจะรับมือได้แค่ไหน แม้จะยืนยันว่า เตรียมความพร้อมไว้หมดทุกด้าน พอถึงวันนั้น ความตื่นกลัว ความโกลาหล จะมากเป็นทับทวี รัฐบาลจะสกัดการแพร่ระบาด จัดหาหน้ากากอนามัย ให้เพียงพอได้หรือไม่ สินค้าอุปโภคบริโภคจะมีทั่วถึงหรือไม่ เพราะวันนี้ผู้คนตื่นตระหนก แห่เข้าห้างซื้อของกักตุนกันเป็นจำนวนมากแล้ว

แค่ระยะแรกของ โรคไวรัสโควิด ที่อยู่ในช่วงแพร่เชื้อ ยังไม่รู้ว่า จะสิ้นสุดเมื่อไร องค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับว่า โควิด-19 เป็นโรคระบาดระดับโลก มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้มากร่วมแสนคน เสียชีวิตอีก 5 พันราย โดยเฉพาะขณะนี้ระบาดหนักทั่วยุโรป และอเมริกา แต่เชื่อว่า จะกินเวลาหลายเดือน บ้างก็ประเมินว่า อาจยาวนานเป็นปีกว่าจะคลี่คลาย

หากสกัดได้ ก็เข้าสู่ระยะสองที่รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ ต้องใช้เวลาเยียวยาอีกหลายปี แต่ก็ไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียวเพราะป่วยกันทั้งโลก ภาวะเศรษฐกิจโลกจะซึมยาว เมื่อทุกอย่างเป็นโลกาภิวัฒน์ กระทบเป็นลูกโซ่หมด

นี่เป็นงานหนักของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะฟื้นฟูวิกฤตครั้งนี้ หากแต่เรือเหล็กลุงตู่ ลำนี้ดูจะโคลงเคลงเร็วกว่าที่คาด จากมรสุมข้างนอกและความไม่เป็นเอกภาพในเรือลำนี้ ถ้าพาประเทศและคนไทยรอดพ้นจากไวรัสโควิดมาได้ก็คงต้องยกนิ้วให้ แค่รับมือ สกัดการแพร่ระบาด ก็สะบักสะบอมพอควร ประชาชนดูจะหมดความเชื่อมั่นกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

ปัญหาใหญ่ คือ การสื่อสารข้อมูลข่าวสารในภาวะวิกฤตของรัฐบาลเกิดความผิดพลาด ประชาชนสับสน เช้าแถลงอย่าง เย็นแถลงแก้อีกอย่าง เช่น การปิดไม่ปิดศูนย์กักตัวกลุ่มเสี่ยง การให้ข้อมูลหน้ากากอนามัย คนละทิศละทาง การเกิดข่าวลือผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดในแต่ละวันสร้างความตื่นตระหนกในวงกว้าง

สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง ในภาวะที่เรากำลังเผชิญวิกฤต คือ รัฐบาลผู้แก้ปัญหาอยู่ในสภาพต่างคนต่างทำ พรรคร่วมรัฐบาล ที่รับผิดชอบแต่ละด้าน เช่น พรรคประชาธิปัตย์เป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์ดูแลเรื่องการจัดหาหน้ากากอนามัย พรรคภูมิใจไทย มีรมว.สาธารณสุข ทำงานด่านหน้าสกัดไวรัสโควิด ส่วนพรรคพลังประชารัฐ คุมด้านคลัง /มหาดไทยที่ดูแลท้องถิ่น ก็ทำงานไม่เป็นทิศทางเดียวกัน

การจัดหาหน้ากากอนามัยก็โยนกันไปมา พรรคภูมิใจไทยบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของสาธารณสุข แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องเร่งจัดหา กระทรวงมหาดไทยของพลังพรรคประชารัฐ โยนให้กระทรวงสาธารณสุข ดูแลการกักตัวผีน้อยหลายพันคน กระทั่ง ผู้อำนวยการสนามบินสุวรรณภูมิ ทนไม่ไหว ยื่นใบลาออกแสดงความรับผิดชอบที่บริหารจัดการ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน ไม่ดีจนมีผีน้อยหลุดออกจากการคัดกรอง ซึ่งปัญหาลึกๆมาจากการไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น

ที่เสียภาพรัฐบาลเอง กรณี รมว.พาณิชย์จากพรรคประชาธิปัตย์ ให้อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งความหมิ่นประมาทกับ โฆษกกรมศุลกากรซึ่งพรรคพลังประชารัฐดูแลหน่วยงานนี้ โดยอ้างว่าโฆษกแถลงข้อมูลเท็จ ว่าอนุญาตให้มีการส่งออกหน้ากากอนามัย 330 ตัน ทำให้คนเข้าใจผิดว่า มีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศจำนวนมาก ไม่เก็บไว้ให้คนไทยเลย

หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐที่ต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนมาฟ้องร้อง ทะเลาะกันเองว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง แล้วประชาชนจะเชื่อข้อมูลอะไรได้จากรัฐบาลในยามที่ขวัญผวา รอฟังข่าวสาร ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลอยู่

ปัญหาความขัดแย้งในการทำงานของรัฐบาล สะท้อนภาพเรือผุ ทั้งความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล ทีมเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการแก้วิกฤตครั้งนี้ ไปคนละทิศคนละทาง กระทรวงหนึ่งเห็นอย่าง อีกกระทรวงทำอย่าง ทั้งที่นี่เป็นวิกฤตของชาติ และวิกฤตโลก ที่แต่ละประเทศต้องสามัคคีร่วมกันมือ

ขณะที่ ความรู้สึกประชาชน แม้แต่ฝ่ายหนุน พล.อ.ประยุทธ์ ก็วิจารณ์รัฐบาลหนักขึ้น ท่ามกลางความตื่นกลัว ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ตกงาน ปัญหาสุขภาพที่ต้องป้องกันตนเองให้พ้นจากไวรัสโควิด

ในภาวะเปราะบางของรัฐบาลที่โดน “สงครามโรค” เล่นงาน ยังมีปัญหาการเมืองนอกสภา ฝ่ายค้านและม็อบนักศึกษา กดดันขับไล่รัฐบาลอยู่ ทั้งยังเกิดข่าวลือเข้ามามาก เช่น การรัฐประหาร หรือ กระแสกดดันให้พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แล้วล้างไพ่ตั้งรัฐบาลใหม่ ผ่านกลไกรัฐสภาเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา กอบกู้วิกฤต หรือที่เรียกว่า “รัฐบาลช่วยชาติ” เปิดทางให้ “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็น สส. หรืออยู่นอกบัญชีผู้เสนอตัวเป็นนายกฯ มาเป็นนายกรัฐมนตรี

โมเดลหลังนี้เป็นไปตามเงื่อนไขมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดว่า รัฐสภา หรือ สมาชิกทั้งสองสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งสามารถเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเพื่อเปิดทางเสนอชื่อ “นายกฯคนนอก” แต่รัฐสภาต้องมีเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาให้ยกเว้นได้ ซึ่ง 500 เสียงจาก 750 เสียง ซึ่งลำพังเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันบวกกับ ส.ว. 250 คนก็เกิน 500 เสียงสามารถตั้งนายกฯคนใหม่ได้สบาย แต่ต้องเป็นฉันทามติร่วมกันจริงๆ สิ่งสำคัญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกก่อน นั่นก็คือ ต้องเกิดกระแสขับไล่ไม่พอใจอย่างรุนแรงในทุกภาคส่วน

กระแสล้างไพ่ใหม่ มีความเคลื่อนไหวภายในจริง เพราะถือโอกาสตั้งรัฐบาลใหม่ ดึงผู้มีความรู้ ความสามารถ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย มากู้วิกฤตทั้งแก้ปัญหาไวรัสโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งการเมือง โดยอาจใช้เวลา 2-3 ปี ระหว่างที่มีรัฐบารลใหม่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้ง ก่อนจะเลือกตั้งใหม่

ในภาวะวิกฤตที่ไวรัสโควิดยังต้องอยู่กับประเทศระยะใหญ่ ในเวลาที่เหลืออยู่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งแสดงภาวะผู้นำ สร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา เพราะระยะ 2 รัฐบาลก็จะเอาตัวไม่รอดแล้ว นี่ใกล้เข้าระยะ 3 เต็มทน ต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันไวรัสโควิดให้เพียงพอ หน้ากากอนามัย เจล สินค้า อาหาร สร้างความกระจ่างที่ประชาชนสงสัย ใครงาบหน้ากากอนามัย ให้ได้ กล้าปรับรัฐมนตรีที่ไม่มีประสิทธิภาพ เลิกคำนึงระบบโควต้า มิฉะนั้น ประเทศชาติจะไปไม่รอด กระแสรัฐบาลขณะนี้ ต้องบอกได้ว่า ตกไม่ต่างจากตลาดหุ้นแล้ว

**************************