posttoday

เสียบบัตรงบ'63บทเรียนราคาแพง'ผิดอาญา-ประเทศเสียหาย'

01 กุมภาพันธ์ 2563

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม

****************************

ยังไม่รู้ว่า ความเสียหายที่ดูเหมือนเล็กน้อยจากพฤติกรรมท่าน สส. เสียบบัตรแทนกันจะส่งผล กระทบต่อร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่ผ่านการลงมติทั้งสองสภาไปแล้ว จะโมฆะทั้งฉบับ หรือ เฉพาะบางมาตราอย่างไรก็ตาม การที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง จาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ยื่นเรื่องไม่นานเพียงแค่สัปดาห์เดียว แสดงให้เห็นเจตนาของศาลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน และผลการวินิจฉัยน่าจะจบเร็วภายในเดือนก.พ. เพราะศาล รธน. กำหนดให้ 3 ส.ส.ที่ถูกกล่าวหาเสียบบัตรแทนกันยื่นคำชี้แจงภายในวันที่ 4 ก.พ.

ผลกระทบจากการออกร่างพ.ร.บ.งบประมาณล่าช้า แน่นอนว่า ซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจในภาวะที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” เจอมรสุมมากมายทั้งปัญหาทัวร์จีน รายได้ด้านการท่องเที่ยวหายไปจากพิษไวรัสโคโรนา รวมถึง ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม

ความจริงร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ก็ออกล่าช้ามา 4 เดือนแล้ว ควรจะบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมตามกรอบเวลาปกติ แต่ปัญหาจากการประกาศผลเลือกตั้งล่าช้า การจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อ จึงกระทบเป็นลูกโซ่ สุดท้ายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 อาจออกช้ากว่ากำหนด เกินเวลาไปถึง 6 เดือนเลยก็ได้

ที่ต้องพิจารณา คือ คดีเสียบบัตรแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญเคยวางบรรทัดฐานไว้แล้วในการตัดสินเมื่อปีเดือนมี.ค. 2557 ครั้งนั้น พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ยื่นเรื่องให้ตีความว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ออกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ชอบด้วยรธน. จากปัญหาที่ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย นำบัตรลงคะแนนของ ส.ส. 4-5 ใบ ไปเดินเสียบลงคะแนนแต่ถูกถ่ายคลิปวิดีโอไว้ได้ระหว่างการออกเสียงในวาระ 2-3

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำครั้งนั้น ละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็น ส.ส. ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือการครอบงำใดๆ สมาชิก 1 คน จึงมีเพียง 1 เสียง มีผลให้การออกเสียงลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมพิจารณานั้น เป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต มีผลให้ร่างพระราชบัญญัติตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

กรณีเสียบบัตรครั้งนี้จึงมีพฤติกรรมไม่ต่างกัน ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งให้ 3 ส ส.ที่ถูกกล่าวหาส่งคำชี้แจงมา ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 2 คน คือ นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ และจากพรรคพลังประชารัฐ 1 คน คือ น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ ทั้งหมดล้วนเป็น ส.ส.หน้าใหม่สมัยแรกสส.ทั้งสาม มีพฤติกรรม 2 กรณี กรณีของนายฉลอง ไม่อยู่ในห้องประชุมสภา ไปออกงานต่างจังหวัดในจ.พัทลุง แต่กลับมีการลงมติให้ โดยอ้างว่า เสียบบัตรค้างไว้ ไม่รู้ใครกดให้ อีกกรณี คือ เสียบบัตรให้เพื่อน ส.ส. โดยอ้างว่า ห้องประชุมสภาที่กำลังสร้างอยู่นี้มีที่เสียบบัตรไม่พอ เพื่อน สส. จึงฝากเสียบให้เพราะเอื้อมไม่ถึง

ไม่เฉพาะสส. 3 รายที่ถูกกล่าวหา ยังมีเพิ่มอีก 3 ที่ถูกร้องเรียนเพิ่มภายหลังว่า ทำการเสียบบัตรลงมติแทนกัน ซึ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด ประกอบด้วย นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทุนใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังท้องถิ่นไท อดีตคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ น.ส.ธณิกาญจน์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ

หากประเมิน แนวทางคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จึงอาจไม่ต่างจากเดิม กล่าวคือ กระบวนการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ อาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มีผลให้ต้องตกไปทั้งฉบับ แม้รัฐบาลจะบอกว่าไม่กระทบ แต่ความจริงก็กระทบเต็มๆ เพราะงบประมาณเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ทั้งหมดก็ต้องรอฟังคำวินิจฉัยที่อาจจะออก หนักหรือ เบาเท่านั้น

ทางแก้ที่รัฐบาลเตรียมไว้ หากคำวินิจฉัยชี้ว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้ใช้ไม่ได้ หรือออกไม่ทัน ก็ให้ใช้งบประมาณฉบับปี 2562 ที่ยังมีเงินเหลือไปพลางก่อน ตรงนี้จะไม่กระทบกับเงินเดือนข้าราชการ ส่วนงบลงทุนที่มีอยู่หลายแสนล้านบาท มีส่วนที่เป็นงบผูกพันอยู่บ้าง หากจะกระทบก็เฉพาะโครงการใหม่เท่านั้นที่อาจต้องล่าช้าปัญหาที่ไม่ควรเกิดขึ้นนี้ กระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศชาติ จึงต้องเอาผิดกับ ส.ส.ที่ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ให้เข็ด เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก

คดีของ นายนริศรถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีเสียบบัตรแทนกันไปก่อนหน้านี้ ข้อหาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้การลงคะแนนเสียงถูกบิดเบือน ถือเป็นคดีเสียบบัตรนอมินีแรกในการเมืองไทย เมื่อปีที่แล้ว อัยการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนริศร ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 123 รวมถึงจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งศาลได้รับไว้เป็นคดีเสนอองค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องต่อไป

ความผิดจากการเสียบบัตรฝากลงมติแทนกันแม้ดูเล็กน้อย แต่ก็มีโทษถึงติดคุก เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง พฤติกรรมท่านผู้แทนจำนวนไม่น้อยมักไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ มาประชุมสาย ชอบโดดประชุม เป็นเหตุให้องค์ประชุมสภาล่มหลายครั้งในรัฐบาลที่ผ่านมา คดีนี้จึงต้องทำให้เป็นเยี่ยงอย่าง อย่าลืมว่า ส.ส.มีหน้าที่ออกกฎหมายมาบังคับใช้กับคนทุกกลุ่มในสังคม การปฏิบัติหน้าที่ มาตรฐาน และจริยธรรม ต้องอยู่สูงและมีความรับผิดชอบมากกว่าคนทั่วไป ทั้งยังถูกควบคุมภายใต้กฎหมายหลายฉบับ ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ป.ป.ช.