posttoday

‘สนธิ–จตุพร’ ชี้จุดเสี่ยงม็อบธนาธร

25 ธันวาคม 2562

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, เอกราช สัตตะบุรุษ

โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, เอกราช สัตตะบุรุษ

สถานการณ์การเมืองไทยกลับมาเป็นที่สนใจด้วยปัจจัยร้อนคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 2 คดีที่อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท และ คดีล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอีกคดีที่กำลังมาแรงแซงทางโค้ง คาดว่า ในต้นปีหน้า อาจรู้ชะตากรรมพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเงื่อนไขของคดีความที่ธนาธรเผชิญอยู่ มีคำถามมากมายว่า ม็อบภาค 4 หรือ “ม็อบสีส้ม” ของธนาธร ที่ปลุกคนหนุ่มสาวออกมาสู้รอบใหม่ ด้วยกลุยุทธ์โซเชียลมีเดีย จะจุดติดหรือไม่ และจะขยายผลเป็นเหมือนการชุมนุมใหญ่ที่ฮ่องกงแค่ไหน

"แฟลชม็อบ"ที่จัดโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อกลางเดือนธันาวคมที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่า ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่วงจร สงครามเสื้อสี อีกครั้ง หรือไม่ หลังจากสงบเงียบมาได้ 5 ปีครึ่ง นับแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพ.ค. 2557

“ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคการเมืองอันดับสองที่ถือว่า มาแรงหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้แรงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่มากมายมหาศาล เขาประกาศรบกับกองทัพอย่างชัดเจน เป็นฝ่ายค้านตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ถูกกลไกอำนาจรัฐ และการตรวจสอบเล่นงานหนักเช่นกัน จากคดีถือหุ้นสื่อจนเจ้าตัวขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. และคดีเงินกู้ที่ให้กับพรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาท หลังกกต.ชงเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเตรียม “ยุบพรรคอนาคตใหม่” ที่กำลังเป็นชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่

“ธนาธร “ได้ปลุกให้ผู้สนับสนุนเขา ออกมาสู้กับอำนาจรัฐ การจัดแฟลซม็อบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นจุดเริ่มต้นที่เขาประกาศจะกลับมาชุมนุมใหม่อีกครั้ง ซึ่งคาดว่า จะเป็นช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรคในช่วงต้นปี 2563 ที่หลายฝ่ายกังวลว่า การเมืองนอกสภาจะกลับมายกระดับเข้มข้นขึ้น

"สนธิ"ชี้สถานการณ์ยังไม่สุกงอม
แต่ปีหน้ามีโอกาส/ มั่นใจไม่ใช่ฮ่องกง

“สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตผู้นำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งนำม็อบขับไล่ทักษิณถึง 2 รอบ 2 รัฐบาล กล่าวว่า ม็อบธนาธรคงจุดไม่ติดตอนนี้ แต่ถ้ารัฐบาลแก้เกมไม่เป็นคงจุดติดแน่นอน แม้สิ่งที่ธนาธรพูดทุกเรื่อง เป็นความจริงหมด ยกเว้นเรื่อง คดีเงินกู้ ธนาธรจะพลาดตรงที่มาเล่นการเมืองในระบบเก่า แล้วไม่มีวิชามารพอที่จะเอาตัวรอดในเรื่องข้อกฎหมายต่างๆ

“ธนาธร มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากจนเกินไป หรืออาจเป็นเพราะบรรดาที่ปรึกษาของธนาธร ไร้เดียงสา ไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายให้เรียบร้อย เพราะแต่ละเรื่องที่ธนาธรโดนคดี เป็นเรื่องที่เขาใช้ช่องโหว่ที่ธนาธรเปิดโดยไม่ได้ตั้งใจ จึงนำมาสู่การชงให้ยุบพรรค การที่ธนาธรเรียกระดมพลด้วยเหตุผลเพื่อตัวเองจึงไม่ถูก แต่เหตุที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยมาชุมนุม เพราะอึดอัดใจไม่พอใจกับกองทัพ ความไม่โปร่งใสของกระทรวงกลาโหม และระบบการเมืองน้ำเน่าแบบนี้”

สนธิ กล่าวว่า การจัดแฟลซม็อบเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มากกว่า และคงจุดไม่ติด หรือ ถ้าม็อบลงถนนก็ไม่สำเร็จในตอนนี้ ถ้าได้ก็หลักพันหรืออย่างมากก็ไม่เกิน 1-2 หมื่นคน เพราะสถานการณ์ยังไม่สุกงอม 100% ดังนั้นธนาธร ต้องรอให้ทุกอย่างสุกงอมก่อน ซึ่งก็คือ รอปัญหาความไม่โปร่งใสที่อาจเกิดขึ้นภายในรัฐบาลที่จะต้องมีมาไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งรัฐบาลนี้มีปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันสูง

“ตอนนี้ ธนาธร ปลุกม็อบในโซเชียลมีเดียก่อน ให้ทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน จากนั้นเมื่อถึงเวลาสุกงอมก็จุดไฟให้ลุกทั้งท้องทุ่ง เมื่อถึงตอนนั้น ม็อบจะมากันเยอะแน่ มีโอกาสจุดติดได้แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้ ที่แน่ๆ ทราบว่า ตอนนี้สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งทั้ง รอยเตอร์ และบีบีซี เริ่มเตรียมคนมาลง เพราะเขาคิดว่า ประเทศไทยจะเป็นเหมือนม็อบฮ่องกง”

อย่างไรก็ตาม ผู้นำม็อบพันธมิตรรายนี้ มองว่า ประเทศไทยจะไม่เป็นเหมือนฮ่องกงเพราะเงื่อนไขของไทยกับฮ่องกงแตกต่างกันมาก กล่าวคือ 1.คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงรู้สึกไม่เห็นอนาคตตัวเอง 2.เขาไม่เชื่อมั่นในประเทศจีน 3.มันมีกลุ่มคนรวยในฮ่องกง หรือไทคูนไม่เกิน 10 คนที่ไปยืนข้างจีน แต่เมืองไทยไม่มีไทคูนอย่างฮ่องกง

"ธนาธร"นำม็อบ ระวังบาดเจ็บ
“ตาอยู่” รอคว้าพุงปลามันไปกิน

หากให้เปรียบเทียบระหว่างม็อบพันธมิตรฯสมัยที่เขาเป็นผู้นำ กับ ม็อบที่มีธนาธรนำในอนาคต แตกต่างอย่างไร นายสนธิ กล่าวว่า ธนาธรมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก มุทะลุ แต่ระหว่างตนเองกับธนาธรแตกต่างกัน นายธนาธรสู้ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามเล่นงานพรรคการเมืองเขา แต่ตอนนั้น ตนสู้ในฐานะสื่อมวลชน ที่ไม่พอใจรัฐบาลทักษิณใช้อำนาจปิดปากคนไม่ให้พูดความจริง ข้อแตกต่างจึงมีมหาศาล การต่อสู้ของเขาจึงไม่บริสุทธิ์เท่าไร มันต่างจากตน

“ผมไม่มีตำแหน่งแห่งที่ อีกอย่างที่เขากับผมต่างกันเยอะ เขาเพิ่งจะเริ่มต้น ส่วนผมผ่านศึกสงคราม บาดแผลเต็มตัว ผมโดนทั้งยิง คดีความ หมดทุกอย่าง แต่ผมกล้าพูดตรงนี้โดยไม่เกรงใจว่า ถ้าคุณธนาธร นำม็อบลงถนนก็จะจบลงเหมือนสนธิ ลิ้มทองกุล คนที่สอง ซึ่งโดนหลอก และบาดเจ็บสาหัส และในที่สุด คนอื่นก็เอาพุงปลามันไปกิน แต่ก่อนมันเป็นอย่างนี้ วันนี้ก็เป็นอย่างนี้ และอนาคตก็เป็นอย่างนี้เช่นกัน”

ก่อนหน้านี้สนธิ เคยระบุว่า ม็อบลงถนนจะเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย เพราะสังคมผ่านบทเรียนมามาก อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์สนธิบอกว่า แม้ม็อบขนาดใหญ่จะจุดติดยาก แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ หากมีปัจจัยใหญ่เข้ามา ซึ่งไม่รู้ว่า คือ อะไร แต่ขณะนี้มีคนจองกฐินรัฐบาลนี้พอสมควร ขาดอยู่อย่างเดียว หาวัดทอดกฐินเท่านั้นซึ่งธนาธร อาจจะเป็นตัวกลางตรงนี้ สิ่งที่น่าห่วง คือ ธนาธรเอาคนรุ่นใหม่ คนหนุ่มสาวเข้าร่วม ซึ่งคนกลุ่มนี้มีพลังในการต่อสู้มาก

สิ่งที่สนธิ เตือนธนาธร ในฐานะผู้มีประสบการณ์จัดม็อบ จนมีคดีติดตัวเช่นเดียวกับแกนนำม็อบรายอื่น นั่นก็คือ คดีความต่างๆ ที่จะเข้ามาหา รวมถึง ธุรกิจส่วนตัวของธนาธรจะได้รับผลกระทบตามมาแน่นอน

“ถ้าเขาจะสู้ ก็ให้กำลังใจเขา ให้อดทน เพราะสิ่งเขาจะเจอในอนาคต trust me มันยิ่งกว่า นรกอีก และเขามีธุรกิจครอบครัวเขาที่อาจถูก harass ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประเด็นสำคัญที่สุดคือ มันลำบากมากที่คุณจะสู้กับอำนาจรัฐ แต่คุณต้องค่อยๆ สร้างฐานขึ้นไป คุณต้องไม่ใจร้อน แต่ตอนนี้คุณใช้วิธีเปิดหน้าชก ใจร้อนมาก ถ้าผมสอนในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ถ้าเขาจะฟังผม ก็คือ เขามุทะลุ ใจร้อนเกินไป และถ้าเป็นแกนนำมวลชน คุณไม่รู้หรอก เมื่อถึงจุดๆ นึง คุณจะเหมือนผีเข้าได้”

“จตุพร” เตือนอย่าเอาเรื่องตัวเองมาชุมนุม
เสี่ยงบานปลาย – มือที่สามจ้องป่วน

ขณะที่ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำม็อบเสื้อแดง ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ม็อบภาคสองต่อจากม็อบเสื้อเหลืองวิเคราะห์ว่า การชุมนุมของธนาธรขณะนี้ยังไม่ประเมินอะไรในระยะยาวได้ แต่ถ้าจะนัดหมายในลักษณะแฟลซม็อบมันง่ายต่อการถูกแทรกแซงโดยเฉพาะมือที่สาม เพราะไม่มีระบบบริหารจัดการ ถ้าเกิดแล้วจะมีผลตามมามากมาย เมื่อถูกแทรกแซงทำลายความเป็นสันติวิธี เพื่อจะสร้างภาพว่า มันไม่สันติวิธี ก็นำไปสู่การปราบปรามบาดเจ็บล้มตาย แล้วยิ่งต่างคนตามมาแบบนี้ยิ่งง่าย ไม่สามารถที่จะระวังป้องกันได้

“จุดสำคัญของการชุมนุมสำคัญคือ ประชาชนจะมีจุดร่วมกันอย่างไร บรรดาแกนนำต้องคิดว่าคือเรื่องอะไร ซึ่งต้องเลยจากเรื่องส่วนตัวของตัวเอง เอาเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เห็น เขาต้องไปคิดอ่านกัน เพราะอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวจะเป็นการตีกรอบวงจำกัด ฉะนั้นต้องเป็นเรื่อง เป็นประเด็นสาธารณะ เป็นหลักของการชุมนุม”

จตุพร กล่าวว่า ถ้าหากสถานการณ์ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล ก็คงหาทางออก 3 รูปแบบ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่ยุบสภา ก็ยึดอำนาจ หรือปรับขบวนทัพคือครม. แต่คงยังไม่ทำในทันที

อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองในช่วง 10 กว่าปีมานี้ ของ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้มีการเตรียมการจัดการกันมาร่วมปี เป็นไปด้วยบทเรียนมากมาย หากธนาธรจะจัดม็อบ ก็ต้องเตรียมใจรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในทุกเรื่องราว ต้องรู้ว่ามวลชนมักจะล้ำหน้าแกนนำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม จะเห็นได้ชัดเจนว่า การชุมนุมจะยกระดับอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการนัดหมายแบบเดิมไม่ใช่ง่าย เพราะท้ายที่สุดมวลชนจะไม่ยอม ถ้าชุมชุมสักชั่วโมงแล้วแยกย้ายอย่างนี้ ครั้งแรกอาจจะแค่บ่นๆ แต่พอครั้งต่อมามวลชนจะเริ่มบีบ บอกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ห่วงม็อบขึ้น ล้มตายอีกรอบ
อีกฝ่ายปลุกชังชาติ เผชิญหน้าซ้ำรอย 6 ตุลา

แกนนำนปช. เป็นห่วงว่า การชุมนุมถ้าประเมินในช่วง 10 ปี้นี้มา มักจะมีปัจจัยอื่นเข้ามาเสมอ ซึ่งลงท้ายด้วยความบาดเจ็บล้มตาย แล้วถูกดำเนินคดีกันทุกฝ่ายมากน้อยต่างกันไป นปช.ก็ตายมากที่สุด ถูกจับ ติดคุกมากที่สุด

“การปลุกม็อบเป็นเรื่องที่ง่าย แต่การรักษาการชุมนุมให้เดินไปถึงจุดสุดท้าย ได้เห็นคำตอบกันอยู่แล้ว การชุมนุมในช่วง 10 ปีมานี้ มันเป็นเรื่องอื่นๆเข้ามาแทรกแซงทั้งสิ้น เช่น การชุมนุมนำไปสู่การยึดอำนาจ หรือถูกปราบ”

การชุมนุมจะรุนแรงในอนาตตของม็อบสีส้ม จะนำไปสู่ความรุนแรงอีกหรือไม่ จตุพร ตอบว่า วิเคราะห์ไม่ได้ แต่สถานการณ์มันจะพาไปเอง พร้อมกับกล่าวเตือนธนาธรว่า

“ผมเชื่อว่าพอถึงเวลาจุดหนึ่งไม่ใช่จะเอาลงกันง่ายๆ คนมาชุมนุมต้องการชัยชนะ เป็นแรงกดกันแกนนำอยู่แล้ว มันไม่ง่ายเหมือนครั้งแรก ครั้งที่สอง ที่สาม ก็จะยากขึ้นตามลำดับ โจทย์จะยากมากยิ่งๆขึ้นไป ต้องรู้ว่า เมื่อลงเข้าสู่สนามแล้ว สิ่งที่ยากที่สุดคือการออกจากสนามแล้วจะออกมาแบบไหน เพราะเมื่ออยู่ในสนามแล้ว ประชาชนที่มาเขามีความหวัง เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็ต้องเตรียมใจ เตรียมตัว ต้องรู้ปลายทางจะต้องโดนอะไรบ้าง”

ผู้ผ่านประสบการณ์ม็อบโชกโชนอย่างจตุพร บอกด้วยว่า ตนเองเต็มไปด้วยคดีความากมายจากการทำม็อบ แล้วก็ไม่ต้องการให้ใครบาดเจ็บล้มตายอีกแล้ว จึงพยายามเสนอแนะอะไรที่จะลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่การชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพ ก็ต้องเคารพการตัดสินใจกัน ที่น่าเป็นห่วงคือ การจัดทัพต่อต้านพวกชังชาติ มันจะเพิ่มอุณหภูมิให้ร้อยอย่างรวดเร็ว มันกลายเป็นเวทีคู่ขนาน ซึ่งน่ากังวลมาก กลายเป็นโจทย์เดิมที่จะสร้างความเสียหายมากในอนาคต การสร้างความเกลียดชัง ทำให้คิดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 มันจะหนักกว่าช่วง 10 กว่าปี้นี้

คดียุบพรรคตัวเร่งจุดติด
เชื้อสะสมจากความรู้สึกไม่เป็นธรรม

ความเห็นจากนักวิชาการ อย่าง ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า ทุกฝ่ายอย่าเพิ่งตกใจกับการชุมนุมแฟลซม็อบเพราะเป็นแค่การแสดงออกของกลุ่มคนที่ไม่พอใจกับการปฏิบัติที่ดูแล้วไม่เป็นธรรมจากคดียุบพรรค ส่วนจะจุดติดหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ม็อบ อยู่ที่การกระทำของรัฐบาล และการปฏิบัติขององค์กรอิสระที่ต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะฝ่ายสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่มองว่า ฝั่งตนทำอะไรก็ผิดไปหมด ต่างจากฝ่ายตรงข้ามถูกทุกเรื่อง ดังนั้น เรื่องนี้ ลำพังเพียงธนาธร คนเดียวคงปลุกไม่ได้

“ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่มันมากเข้า มันก็อาจเป็นปัญหาให้ม็อบจุดติด เหมือนเช่น ตอนที่ กปปส. ชุมนุม ถ้าไม่มีพรบ.นิรโทษกรรมให้ทักษิณ ก็จุดไม่ติดหรอก คนไม่ออกมาชุมนุมมากมาย ดังนั้น ถ้ารัฐบาล หรือ องค์กรอิสระที่เป็นเหมือนกรรมการตรวจสอบ ต้องปฏิบัติให้ดูเป็นกลางเพราะอย่าลืมว่า องค์กรอิสระในปัจจุบันตั้งขึ้นมาในยุค คสช. ประชาชนจึงคลางแคลงใจว่า เป็นพวกเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ มันก็เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอล มันจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสนาม ถ้ากรรมการว่าตามกติกา แต่ถ้าคนรู้สึกว่า กรรมการไม่เที่ยงธรรม มันก็แข่งกันต่อไม่ได้ มันจึงเป็นรีแอคชั่นต่อต้านที่เกิดขึ้น”

ปริญญา กล่าวว่า ส่วนตัว เห็นว่า คดีเงินกู้ที่กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคนั้นไม่เข้าข่ายต้องถึงขั้นถูกยุบพรรค เพราะการที่หัวหน้าพรรคให้เงินกู้อย่างเปิดเผย ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่ถ้าเป็นเงินบริจาคให้พรรคที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันนี้เข้าข่ายถูกยุบพรรคได้ และการยุบพรรคควรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ สิ่งสำคัญ การยุบพรรคเป็นเรื่องใหญ่เท่ากับประหารชีวิตพรรคการเมือง ถ้ายุบพรรคด้วยคดีเงินกู้ ผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรมได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ พรรคอนาคตใหม่ เกิดขึ้นมาได้ก็เพราะคนมองว่า รัฐบาลคสช.สืบทอดอำนาจ ถ้าออกไปเล่นนอกสภา ก็อาจจะถูกวิจารณ์ได้ว่า ควรสู้กันในสภา แต่ถ้ามีการยุบพรรคก็เป็นเหตุผลที่ไปอ้างสู้นอกสภากันไม่จบ

“บทเรียนความขัดแย้งของเรา ตั้งแต่ปี 2549 เราได้ข้อสรุปว่า การแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งหลาย ควรเป็นไปตามวิถีทางของประชาธิปไตย ยึดตามกฎหมาย กติกา ถ้ามีการละเมิดขึ้นมาก็ต้องยอมรับผลของการละเมิด และสภาผู้แทนราษฎรคือ ที่ที่ตัวแทนประชาชนมาแก้ปัญหา การชุมนุมเป็นสิทธิโดยสงบของประชาชน แต่การชุมนุมที่เป็นปัญหา คือ การเรียกร้องว่า ถ้าไม่ชนะไม่เลิก และถ้าเริ่มต้นด้วยมาตรการยกระดับถึงขั้นที่ละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือผิดกฎหมาย ไม่สงบ อันนี้จะเป็นปัญหาต่อเนื่องไม่จบอีก”

สุรชัย ศิริไกร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การชุมนุมของธนาธร น่าจะจุดไม่ติด แต่มันก็อยู่ที่รัฐบาลเองด้วย ที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชน รวมถึงคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ได้เข้าใจชัดเจนว่าข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นกับธนาธร ซึ่งพยายามจะบอกว่าเป็นการกลั่นแกล้งของรัฐบาลนั้น รัฐบาลจะต้องชี้แจงให้ได้ว่า มันเป็นความเข้าใจที่ผิด ในทางกลับกันคิดว่าทางพรรคอนาคตใหม่เอง หรือตัวธนาธร มีความประมาณเลิ่นเล่อในข้อกฎหมาย คือก่อนที่จะดำเนินการอะไรมีไม่พิจารณาข้อกฎหมายให้ดีให้รอบคอบ เช่นเรื่องการเงิน ที่ไม่ได้สนใจระเบียบกฎหมายเท่าที่ควร แล้วมาถึงตอนนี้เขาคิดว่าถ้าดึงคนลงถนนได้ ให้คนออกมาต่อต้านได้ ทุกอย่างจะสำเร็จ เขาคิดอยู่แค่นี้

“ถ้ารัฐบาลทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้กลั่นแกล้ง แต่ว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมายจริงๆ พูดให้ชัดเจน ให้ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้ว่ านี่ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง ก็อาจจะทำให้ประชาชนไม่กล้าเข้าร่วมม็อบมากนัก แต่หากรัฐบาลชี้แจงแล้วแต่ไม่สำเร็จ ประชาชนฟังไม่ขึ้น ตรงนั้นประชาชนก็จะสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเศรษฐกิจมันอึมครึมมานาน แล้วรัฐบาลก็อ้างอย่างเดียวคือ ผลมาจากเศรษฐกิจโลก แต่รัฐบาลไม่มีฝีมือในการแก้ปัญหาเลยหรือ ตรงนี้ก็ส่งผลต่อคนจำนวนมาก”

ขณะที่ โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แฟลชม็อบ คือ วิธีการส่งสัญญาณ ให้สังคมและคนมีอำนาจได้รับรู้ แต่ถ้ารัฐบาลมองว่า เป็นการท้าทาย เขาจะทำอย่างไร แล้วถ้าออกมาปราบ หรือออกมาจับ ก็จะมีการขยายประเด็นการต่อสู้ เหมือนที่ฮ่องกงได้ แต่ไม่ได้บอกว่า จะเหมือนฮ่องกง

“มันเป็นกิริยากับปฏิกิริยา กิริยาที่หนึ่งขณะนี้เริ่มจากการกระทำของกกต. ปฏิกิริยาก็คือ มีการชุมนุมแบบวูบวาบ แต่ถ้ามีปฏิกิริยาตอบโต้มาอีก จะปราบปรามจะทำโน้นทำนี่ ก็ต้องดูปฏิกิริยาม็อบว่า มันสมเนื้อสมน้ำกับเหตุแค่ไหน ถ้าไปกันใหญ่ ก็ลากไปกันใหญ่ได้ โดยเฉพาะถ้ามีการยุบพรรคอนาคตใหม่ คนก็จะมองว่า ไม่ยุติธรรม”โคทม กล่าว

อย่างไรก็ตาม โคทม ยอมรับว่า สำหรับคนกลางๆนั้น มีเยอะที่อยากจะเข้าร่วมชุมนุม แต่ก็กลัวการชุมนุมยืดเยื้อ เพราะกลัวมันจะปานปลาย ถามว่า จะเหมือนในอดีตม็อบสีเสื้อหรือไม่ ต้องบอกว่ารัฐแข็งแรงเกินกว่าที่ล้มเขาได้ด้วยวิธีนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าม็อบไม่สำเร็จสักรายเลย ซึ่งรัฐบาลนี้ก็แข็งแรงเพราะเขาใช้ทหารค้ำจุนอยู่ ดังนั้นรัฐเขาแข็งแรงชุมนุม 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำอะไรเขาไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง หรือกปปส. สุดท้ายก็เป็นอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง คือราชการ