posttoday

ดัมพ์ 'งบการศึกษา'ผลลัพธ์ยังไม่คุ้มค่า

16 พฤศจิกายน 2553

แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมีความคาดหวังกับนโยบายขยายโอกาสการศึกษาอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายเรียนฟรี 15 ปี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วยการจัดงบประมาณลงไปจำนวนมหาศาล

แม้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมีความคาดหวังกับนโยบายขยายโอกาสการศึกษาอย่างต่อเนื่องผ่านนโยบายเรียนฟรี 15 ปี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วยการจัดงบประมาณลงไปจำนวนมหาศาล

 

ดัมพ์ 'งบการศึกษา'ผลลัพธ์ยังไม่คุ้มค่า

ล่าสุด ถึงกับประกาศว่าจะสะสางปัญหาในเรื่องของโอกาสและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนพิการ กลุ่มที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษา และกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ได้มีโอกาสรับการศึกษาสูงเท่ากับคนในยุคปัจจุบัน แต่ว่ามีความจำเป็นในการที่จะต้องพัฒนาความรู้ในเรื่องทักษะ เพื่อที่จะสร้างโอกาสเพิ่มเติมให้กับตัวเอง

เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ความเสมอภาคทางด้านการศึกษา ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาส

ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในการพัฒนาคน

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น รายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษาและการบริการสาธารณสุข ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปีงบประมาณ 2552 ไทยมีงบประมาณด้านสังคมและสวัสดิการชุมชนกว่า 7.6 แสนล้านบาท คิดเป็น 44.8% ของงบประมาณรายจ่ายรวม โดยงบประมาณส่วนใหญ่ได้จัดสรรให้กับด้านการศึกษาและสาธารณสุขเป็นหลัก

ปัจจุบันประเทศไทยมีโครงการสวัสดิการสังคมที่สำคัญกับการศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากงบประมาณด้านสังคมและสวัสดิการทางชุมชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นรายจ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 4 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 52.9% ของงบประมาณด้านสังคมและสวัสดิการ

โครงการ/มาตรการด้านการศึกษาหลักๆ ที่รัฐบาลจัดสรร ได้แก่ นโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ เป็นโครงการที่รัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนได้มีโอกาสในการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และลดภาระด้านการศึกษาของผู้ปกครอง จากข้อมูลล่าสุด มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 12.3 ล้านคน โดยใช้งบประมาณในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในภาคการศึกษาที่ 1/2553 จำนวน 1.87 หมื่นล้านบาท ซึ่งจำแนกได้ ดังนี้

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อให้เงินกู้ยืมแก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา กยศ.ได้ให้กู้ยืมไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท และมีผู้กู้ยืม 3.5 ล้านคน

งบประมาณผ่านโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐบาล โดยปัจจุบันมีโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐบาลมากกว่า 3.7 หมื่นแห่ง และจากผลการสำรวจในปี 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการ พบว่ามีนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่ศึกษาอยู่ในสถานศึกษาภายใต้กำกับของรัฐบาลจำนวน 14.1 ล้านคน และมีบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งหมด 7 แสนคน แยกเป็นในกรุงเทพฯ 9.4 หมื่นคน และจังหวัดอื่นๆ ประมาณ 6.1 แสนคน

ในด้านของรายจ่ายในภาคการศึกษาของรัฐบาล พบว่ารายจ่ายด้านการศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากงบประมาณด้านการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้งบประมาณสำหรับภาคการศึกษาเป็นอย่างมาก สะท้อนจากค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาของไทยที่อยู่ในระดับสูงถึง 44.8% ของงบประมาณทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายลงทุนด้านการศึกษาผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 อีกจำนวน 5.2 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2553-2555

ดัมพ์ 'งบการศึกษา'ผลลัพธ์ยังไม่คุ้มค่า

เมื่อพิจารณาประเมินรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยอ้างอิงข้อมูลจาก International Institute for Management Development (IMD) ที่มีการจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 57 ประเทศ พบว่าในปี 2552 ประเมินได้ว่าผลของรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมของไทยที่สำคัญมีดังนี้

รายจ่ายด้านการศึกษา IMD ได้ศึกษาประเด็นสมรรถนะการศึกษา (Education) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา การถ่ายทอดความรู้ คุณภาพ และทักษะต่างๆ พบว่าสมรรถนะการศึกษาของประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 47 โดยใช้หลักเกณฑ์การวัดสมรรถนะการศึกษาในมิติต่างๆ ดังนี้

มิติโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา พิจารณาจากอัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา และอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป การจัดอันดับของ IMD พบว่าอัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับมัธยมศึกษาของไทยอยู่ที่ 71% (อันดับที่ 49) และอัตราการไม่รู้หนังสือของผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 5.9% (อันดับที่ 42) ซึ่งสะท้อนว่าโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาของไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ

มิติคุณภาพการศึกษา พิจารณาจากอัตราส่วนนักเรียนต่อครูระดับประถมศึกษา ผลสัมฤทธิ์ของระดับอุดมศึกษา และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ การจัดอันดับของ IMD พบว่ามีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพียง 18% (อันดับที่ 43) และความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษยังอยู่ในระดับที่ไม่ดี (อันดับที่ 51) สะท้อนว่าคุณภาพการศึกษาของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำกว่าหลายประเทศ

มิติประสิทธิภาพการจัดการศึกษา พิจารณาจากงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาต่อจีดีพี และรายจ่ายด้านการศึกษาต่อคน การจัดอันดับของ IMD พบว่างบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 4.4% และรายจ่ายด้านการศึกษาคนละ 165 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสะท้อนว่าสัดส่วนรายจ่ายด้านการศึกษาต่อจีดีพีของไทยอยู่ในระดับที่สูง

เมื่อพิจารณาประเด็นประสิทธิภาพการใช้จ่ายด้านการศึกษาของไทย โดยวิเคราะห์ถึงคุณภาพการศึกษาและเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (AsiaPacific) นั้น พบว่าสัดส่วนรายจ่ายด้านการศึกษาต่อจีดีพีของไทยอยู่ที่ 4.2% ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 3.9% ของจีดีพี

แต่ปรากฏว่าในด้านของคุณภาพการศึกษาของไทยกลับอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อมีการนำคะแนนผลสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของคุณภาพการศึกษา

นอกจากนี้ ยังพบว่าสัดส่วนคนที่เข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาของไทยอยู่ที่ 76.1% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอยู่ที่ 84% อีกด้วย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลจึงพบว่าสมรรถนะการศึกษาของไทยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ทั้งด้านโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ด้านประสิทธิภาพการจัดการศึกษา และด้านคุณภาพการศึกษา

ภาพเหล่านี้สะท้อนได้จากผลสัมฤทธิ์ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยโครงการ Program for International Student Assessment (PISA) ของกลุ่มเยาวชนอายุ 15 ปี ได้แสดงให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาของไทยที่ยังตัองพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แรงงานไทยสามารถมีทักษะและคุณภาพที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และยังเป็นการช่วยสร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานไทย อีกทั้งยังส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

ถ้ารัฐบาลเพิ่มแต่งบประมาณในการสร้างสวัสดิการสังคมด้านการศึกษา แต่ไม่มีกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพแล้วไซร้

ขีดความสามารถของแรงงานไทยใอนาคต ก็ยังวิ่งตามเงาอยู่เหมือนเดิม ขณะที่ภาระการใช้จ่ายด้านงบประมาณของรัฐบาลยิ่งเพิ่มขึ้นจนทำให้โครงสร้างด้านอื่นๆ ด้อยลงได้