posttoday

ปมขาดคุณสมบัติตามหลอน'บิ๊กตู่'

20 กรกฎาคม 2562

การที่ศาลรธน.รับพิจารณาคุณสมบัติ"บิ๊กตู่"ย่อมเพิ่มน้ำหนักให้ฝ่ายค้านซักฟอกนโยบายในสภาหนักหน่วงขึ้น

การที่ศาลรธน.รับพิจารณาคุณสมบัติ"บิ๊กตู่"ย่อมเพิ่มน้ำหนักให้ฝ่ายค้านซักฟอกนโยบายในสภาหนักหน่วงขึ้น

กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง กรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน 7 พรรค ยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา160 (6) และมาตรา 98 15) กรณีเป็นลูกจ้างหรือพนักงานหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือไม่ นั้น ย่อมทำให้เก้าอี้ นายกรัฐมนตรีของบิ๊กตู่ สั่นคลอน อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันก็จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายในเวที การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค. นี้ เพื่อขยายบาดแผลให้บิ๊กตู่ ลดความน่าเชื่อถือลง โดย "สุทิน คลังแสง" ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย บอกว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องดังกล่าวหมายถึงการมีน้ำหนักเบื้องต้นต่อปัญหาในคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ แม้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ระบุให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว และ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถแถลงนโยบายรัฐบาลได้ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนจะลดน้อยลง และเป็นโอกาสที่จะเพิ่มน้ำหนักให้กับการอภิปรายของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

แม้เรื่องคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีของบิ๊กตู่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มีมติยุติการวินิจฉัยคำร้องของ"ศรีสุวรรณ จรรยา"เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ไปแล้วว่า ตำแหน่งหัวหน้า คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ มิได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เพราะไม่เข้าองค์ประกอบเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้ง 4 ข้อ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัย ที่ 5/2543 คือ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ 4.มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ เข้าเงื่อนไขเพียง 2 ข้อ คือ ข้อ 2 และข้อ 4 จึงถือว่า ไม่ครบองค์ประกอบในการเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งมา จากการเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง ไม่ได้เข้ามาตามกฎหมายปกติ และยังใช้อำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ด้วย ดังนั้น การที่ กกต.ประกาศรับรองรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐไม่ขัดกฎหมาย จึงให้ยุติการวินิจฉัย และไม่ต้องส่งเรื่องให้ศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทว่าประเด็นที่น่าสนใจ อยู่ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ออกมาฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่สามารถได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยร.ต.อ.เฉลิม อธิบายว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 98 ซึ่งมีข้อห้ามในการสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งมีทั้งหมด 18 อนุมาตราด้วยกัน แต่อนุมาตราที่เป็นข้อต้องห้าม คือ มาตรา 98 (15) ความว่า บุคคลใดเป็นพนักงาน หรือ ลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

ข้อห้ามข้อนี้ ตรงกับคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3578/2560 ซึ่งตัดสินเมื่อวันที่ 1มิ.ย.2560 เพราะเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทำการปฏิวัติรัฐประหาร ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ ในนามหัวหน้า คสช. ได้มีหนังสือเรียก นายสมบัติ บุญงามอนงค์ มารายงานตัว แต่ นายสมบัติ ไม่มา พล.อ.ประยุทธ์ จึงดำเนินคดี นายสมบัติ ต่อสู้คดีตั้งแต่ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ สุดท้าย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็ตัดสินว่า นายสมบัติ มีความผิด เพราะขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จึงขาดคุณสมบัติมาตรา 98 (15)

นอกจากนี้ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติไม่ขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 160 มีใจความสรุปว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติไม่ขัดแย้งกับมาตรา 160 ซึ่งมีทั้งหมด 8 อนุมาตราด้วยกัน แต่คุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ขัดและต้องห้ามตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ความว่า การจะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (15) แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) จึงมีคุณสมบัติขัดตามมาตรา 160 (6) ซึ่งไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ถูกบัญญัติขึ้นในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มีเนื้อหาสาระ ความหมายของคำว่า เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 4 ซึ่งระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐ หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายความว่า ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีตำแหน่ง หรือ เงินเดือนประจำ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ หรือในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งจากข้อกฎหมายโดยมีคำพิพากษาเป็นหลัก และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 4 จึงมีความชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ

ฉะนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับปมขาดคุณสมบัติไว้พิจารณา ผนวกกับการที่ฝ่ายค้านรุกเขย่า ย่อมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะประมาทไม่ได้ เพราะนี้เป็นเพียงแค่การถูกตรวจสอบยกแรกของการเริ่มเข้าสู่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งจากนี้ไปเมื่อไม่มีมาตรา 44แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องถูกตรวจสอบหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีกส่วนจะทนได้หรือไม่อีกไม่นานรู้กัน