posttoday

'จุรินทร์'ยึดปชป.ขั้วที่3ลุ้นนายกฯพปชร.เหนื่อย

15 พฤษภาคม 2562

"จุรินทร์"กุมบังเหียนปชป.พลังประชารัฐตั้งรัฐบาลยากโอกาส"อภิสิทธิ์-อนุทิน"นั่งนายกฯไม่ปิดตาย

"จุรินทร์"กุมบังเหียนปชป.พลังประชารัฐตั้งรัฐบาลยากโอกาส"อภิสิทธิ์-อนุทิน"นั่งนายกฯไม่ปิดตาย

พลันที่ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" ได้รับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมทำให้การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคพลังประชารัฐ ยากยิ่งขึ้น เนื่องจากแนวคิดของ "จุรินทร์ "เป็นไปลักษณะสอดคล้องต้องกัน กับ "ชวน หลีกภัย" ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ "อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องการเป็นฝ่ายค้านอิสระ ผสมกับความไม่พอใจที่ กลุ่ม "จุรินทร์" มองว่า มีความพยายามจากฝ่ายผู้มีอำนาจพยายามแทรกแซงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งทำให้ความไม่พอใจ พรรคประชารัฐสูงขึ้น

ยิ่งเมื่อทางกลุ่ม 7 พรรคที่ ประกาศตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทย มีเสียงรวมกันอยู่ 245 เสียง ยื่นข้อเสนอพร้อมสนับสนุนขั้วที่ 3 ซึ่งประกอบด้วย 4 พรรค "ประชาธิปัตย์ -ภูมิใจไทย -ชาติไทยพัฒนา -ชาติพัฒนา" รวมกัน 116 เสียง ให้มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยพร้อมเสียสละเปิดทาง ให้คนจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคภูมิใจไทย เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันสกัดกั้นการสืบทอดอำนาจ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย่อมทำให้พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย มีความหวังขึ้นมาทันที

ทั้งนี้คนของขั้วที่ 3 ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ มีเพียง"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ "อนุทิน ชาญวีระกูล" หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากทั้งคู่อยู่ในบัญชีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ของพรรค เพราะถ้าเป็นคนอื่นที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ อย่าง"ชวน หลีกภัย"จะกลายเป็นการเสนอชื่อนายกฯคนนอก ซึ่งจะต้องใช้เสียง 2ใน 3 ของ 750 เสียง คือต้องได้ 501 เสียงขึ้นไป ซึ่งจะยิ่งทำให้การรวบรวมเสียงยากขึ้นไปอีก และในขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมา"อนุทิน" แสดงท่าทีไม่อยากจะเป็นนายกรัฐมนตรี ตัวเลือกจึงเหลือเพียง"อภิสิทธิ์"

'จุรินทร์'ยึดปชป.ขั้วที่3ลุ้นนายกฯพปชร.เหนื่อย

ความจริงดีลนี้เกิดขึ้นมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากแกนนำ พรรรคพลังประชารัฐ พยายามที่ฟอร์มรัฐบาลให้สำเร็จ แต่ต้องล้มเหลว เพราะตัวเองฮุบโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีเกรดเอไว้หมด เพื่อล็อกเก้าอี้ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณรองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นรมว.มหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคุมเศรษฐกิจ ทำให้พรรคภูมิใจไทย ที่หมายปองกระทรวงมหาดไทย และ คมนาคม ต้องผิดหวัง จึงหันไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับมีกระแสข่าวพรรคร่วมตั้งเงื่อนไขไม่เอา พล.อ.ประวิตร และพล.อ.อนุพงษ์

หมากเกมนี้พรรคพลังประชารัฐรู้ทัน จึงได้สั่งการให้ 11พรรคเล็ก ซึ่งได้มีการเจรจาเข้าร่วมรัฐบาลกันอยู่แล้ว ออกมาแถลงสนับสนุนบิ๊กตู่นั่งนายกฯทันที เพื่อสกัดพรรคขั้วที่ 3 และปิดทางการต่อรอง เสมือนส่งสัญญาณให้พรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ ได้ประจักษ์ว่า พรรคพลังประชารัฐ มีเสียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วในเบื้องต้น โดยไม่ต้องอาศัยเสียงของทั้งสองพรรค เพราะเพียงแค่พรรคพลังประชารัฐมี 115 เสียง บวกกับ 11 พรรคเล็ก จะมีเสียงเท่ากับ 126 เสียง และเมื่อรวมกับเสียงส.ว.250 เสียง จะมีเสียงโหวตนายกฯ376 เสียงซึ่งเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 750 เสียง แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การประกาศของ11พรรคเล็ก ก็ไม่ได้ส่งผลทำให้ขั้วที่ 3 ต้องล้มเลิกไป เพราะต้องมารอผลชี้ขาดกันที่ผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ครั้นเมื่อชัดเจนว่า "จุรินทร์"ได้รับเลือก โอกาสในการเดินหน้าตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 ก็คึกคัก ซึ่งจากนี้ตามขั้นตอนของพรรคประชาธิปัตย์ คณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่กับส.ส.จะประชุมเพื่อลงมติว่า จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หรือจะเดินหน้าตั้งรัฐบาลขั้วที่ 3 และทางออกสุดท้ายคือฝ่ายค้านอิสระ แต่แนวโน้มเดินหน้าขั้วที่ 3 ค่อนข้างสูงเพราะประชาธิปัตย์มีแต่ได้กับได้

อย่างไรก็ตามใช่ว่า ทีม"จุรินทร์"จะกำหนดทิศทางการลงมติในการร่วมหรือไม่ร่วมรัฐบาลได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะเมื่อดูจากผลคะแนนโหวตของส.ส.ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจร่วมกับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล ปรากฎว่า คะแนนของ นายจุรินทร์ มีเพียง 25 เสียงจาก 52 เสียง นอกนั้น เป็นของ "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" 20 เสียง "กรณ์ จาติกวิณิชย์" 5 เสียง และ "อภิรักษ์ โกษะโยธิน" 2 เสียง รวมกันเป็น 27 เสียง ซึ่งคะแนนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ที่โหวตให้ "พีรพันธุ์ -กรณ์ -อภิรักษ์" มีความชัดเจนที่ต้องการจะเข้าร่วมรัฐบาลกับบิ๊กตู่

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับเสียงของส.ส.บางส่วน แม้จะลงให้ "จุรินทร์" แต่ยังอยากจะให้ร่วมรัฐบาลกับ บิ๊กตู่ แต่ทั้งหมดต้องไปวัดกับเสียงของกรรมการบริหารพรรคอีก แต่งานนี้"จุรินทร์"ยังเหนื่อย และดีไม่ดี ถ้ามติไม่หนุน "พล.อ.ประยุทธ์"เป็นนายกฯ ประชาธิปัตย์เสี่ยงเกิดงูเห่าเต็มพรรค

แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้การเมืองมีการพลิกขั้วเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จากนี้ต้องติดตามกันอย่ากระพริบเพราะทุกอย่างจะชัดเจนเมื่อมีการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ฝั่งไหนได้ไป โอกาสตั้งรัฐบาลก็จะตามมาทันที