posttoday

ประชาธิปไตยของ ไชยันต์ ไชยพร

07 พฤศจิกายน 2553

ควันหลงที่ติดตามมาจากคดีนี้ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการ เป็นต้นว่า นั่นคือการกระทำที่เป็นการสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ไชยันต์เป็นวีรบุรุษจริงหรือ....

ควันหลงที่ติดตามมาจากคดีนี้ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการ เป็นต้นว่า นั่นคือการกระทำที่เป็นการสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ไชยันต์เป็นวีรบุรุษจริงหรือ....

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

คําพิพากษาของศาลจังหวัดพระโขนง เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2553 ได้สร้างปรัชญาการเมืองเล็กๆ แต่มีความสำคัญไม่น้อยเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย ที่ผู้เขียนขอเรียกอย่างง่ายๆ ว่า “ประชาธิปไตยของไชยันต์ ไชยพร” ถ้าใครสนใจรายละเอียดก็ไปหาข่าวอ่านดูได้

อาจารย์ไชยันต์สอนอยู่ที่คณะรัฐ ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งบริหารก็เป็นหัวหน้าภาควิชาการปกครอง วันดีคืนดีก็สร้าง “วีรกรรม” ด้วยการฉีกบัตรประท้วงการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ในคราวการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ที่ตอนแรกๆ ต้องเป็น “วีรกรรมเวร” เพราะกว่าที่จะพ้นเวรกรรมของข้อกล่าวหานั้นก็ใช้เวลากว่า 4 ปี

ประชาธิปไตยของ ไชยันต์ ไชยพร

อาจารย์ไชยันต์เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ในอีกหลายๆ มหาวิทยาลัย วันหนึ่งหลังจากที่ไปรับทราบเป็นผู้ต้องหาแล้วก็ไปสอนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เขียนกับพรรคพวกที่รักในตัวอาจารย์ไชยันต์สักสิบกว่าคนก็นัดกันไปให้กำลังใจ ตัดรูปหนังสือพิมพ์และข่าวที่แกฉีกบัตรแปะบนกระดาษแข็งขนาดเอสี่ ใส่กรอบไม้ฉำฉาราคาไม่ถึงร้อยบาทไปมอบให้ พอดีมีน้องผู้สื่อข่าวที่ทราบเรื่องมาทำข่าวอยู่ด้วย ผู้เขียนเลยถือโอกาสอ่านบทกลอนสั้นๆ ให้เป็นข่าวไปด้วย มีเนื้อความโดยรวมว่า “นี่แหละคือการสร้างสรรค์ในระบอบประชาธิปไตยอย่างหนึ่ง”

อาจารย์ไชยันต์ยิ้มเหมือนไม่อยากจะรับในคำสรรเสริญดังกล่าว!

ควันหลงที่ติดตามมาจากคดีนี้ก็คือการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการ เป็นต้นว่า นั่นคือการกระทำที่เป็นการสร้างเสริมระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ ไชยันต์เป็นวีรบุรุษจริงหรือ และ ฯลฯ แม้กระทั่งประเด็นจุ๋มจิ๋มอย่างการที่อาจารย์ไชยันต์เอาลูกชายไปร่วมรับรู้กับการฉีกบัตรของแกด้วยนั้น เป็นวุฒิภาวะของบิดาที่พึงกระทำต่อบุตรแล้วหรือ
ผู้เขียนในฐานะที่เป็นอาจารย์รัฐ ศาสตร์ก็ได้อยู่ร่วมในวงโต้เถียงเหล่านี้อยู่หลายครั้ง ส่วนหนึ่งก็เป็นอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ผู้เขียนสอนอยู่ อีกส่วนหนึ่งก็บนเวทีอภิปรายสัมมนาในหลายๆ ที่ ที่มีผู้ถามปัญหาขึ้นมา เมื่อทราบว่าผู้เขียน “โปร” อาจารย์ไชยันต์

ผู้เขียนมารู้จักกับอาจารย์ไชยันต์จริงๆ ก็ล่วงเข้า 2546 แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะเคยอ่านข้อเขียนของแกมาบ้าง รวมทั้งทราบฉายาที่นิสิตเรียกแกว่า “อาจารย์ผมยาวรองเท้าแตะ” มาแล้วเช่นกัน รวมถึงความเข้าใจผิดที่เคยคิดว่าแกเป็นลูกของรัฐมนตรีของพรรคกิจสังคมในสมัยรัฐบาลป๋าเปรมที่ชื่อไพโรจน์ ชัยพร นั้นด้วย (ที่จริงน่าจะสังเกตว่านามสกุลนั้นเขียนผิดกัน)

ปี 2546 เป็นปีที่สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดสอนในระดับปริญญาโทเป็นปีแรก ผู้เขียนรับผิดชอบผลิตชุดวิชาที่จะใช้สอนวิชาหนึ่งชื่อว่า “แนวคิดทางการเมืองและสังคม” มีกรรมการในกลุ่มผลิตท่านหนึ่งเสนอว่าให้ไปเชิญอาจารย์ไชยันต์มาเขียนซิ รวมทั้งอาจารย์ท่านอื่นอีกหลายท่านที่เป็นกลุ่มแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งทราบต่อมาว่าทั้งหมดนี้เป็น “กลุ่มก๊วน” เดียวกัน

หลังจากที่ได้ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการติดต่อไปก็ทราบว่าในเวลาราชการท่านเหล่านี้ไม่ค่อยสะดวก แต่นอกเวลาราชการ (บางวันเกือบทั้งหมดมักจะไป “สุมหัว” กันที่ร้านอาหารระดับหรูแห่งหนึ่งในซอยประสานมิตร ผู้เขียนจึงไปขอพบอาจารย์เหล่านี้ที่ร้านอาหารดังกล่าวในยามวิกาลวันหนึ่ง โดยพาอาจารย์อีกคนหนึ่งที่คุ้นเคยเพราะเป็นลูกศิษย์กับอาจารย์ท่านหนึ่งในกลุ่มนี้ไปด้วย เผื่อว่าจะได้ช่วยกันออกแรง “อ้อนวอน” ให้มาช่วยเขียนได้บ้าง

ต้องยอมรับว่าการ “เคี่ยวเข็ญ” ให้อาจารย์กลุ่มนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ซึ่งก็ไม่ใช่อุปสรรคจากความเป็นส่วนตัวของท่านอาจารย์เหล่านั้น แต่เป็นปัญหาในส่วนชื่อเสีย (ง) ในความ “เค็ม” ของสถาบันที่ผู้เขียนทำงานอยู่นั้นมากกว่า แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากอาจารย์ไชยันต์ ที่นอกจากจะช่วยอ้อนวอนให้อาจารย์ในกลุ่มนี้บางท่านมาช่วยเขียนจนได้แล้ว ยังมาร่วมเป็นกรรมการในกลุ่มผลิต ทั้งช่วยเขียนและอ่านงานของอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกด้วย

จำได้ว่าในเทอมแรกที่เปิดตอนปลายปี 2546 อาจารย์ไชยันต์ก็ได้มาร่วมบรรยายในการสัมมนาเข้ม (คล้ายๆ กับการปฐมนิเทศ) ของชุดวิชาแนวคิดทางการเมืองและสังคมนี้ด้วย ผู้เขียนจึงได้เห็นลีลาของอาจารย์ “มาดเซอร์” คนนี้ว่า ไม่ได้ “ซอมซ่อ” อย่างการแต่งกายของแกเลย (ที่จริงเสื้อและกางเกงแม้กระทั่งรองเท้าแตะที่แกใส่มาล้วนเป็นของมียี่ห้อและสะอาดสะอ้านมาก เพียงแต่ยับย่นบ้างเพราะห่างไกลเตารีด ซึ่งคนรู้ดีบอกว่าแกประหยัดพลังงานไม่ให้โลกร้อน)

เรื่องที่แกบรรยายในวันนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยตั้งแต่ยุคกรีกมาจนถึงปัจจุบัน โดยย้ำประเด็นที่ว่า ประชาธิปไตยนี้แม้จะไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เพราะประชาธิปไตยให้เสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด

พอดีในช่วงเวลาต่อมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่มีผู้นำรัฐบาลปิดกั้นเสรีภาพบางอย่างของนักวิชาการ คือในกรณีที่ท่านอาจารย์อมรา พงศาพิชญ์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในช่วงนั้นไปวิพากษ์วิจารณ์การขายหุ้นของผู้นำรัฐบาลโดยไม่เสียภาษีให้รัฐเลยแม้แต่สลึงเดียว ผู้นำคนนั้นเลยให้ลูกน้องออกมาถล่มด้วยสื่อต่างๆ อาจารย์ไชยันต์นี่แหละที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการตั้ง “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นมาปกป้องสิทธิเหล่านี้ของนักวิชาการ ต่อมาเครือข่ายนี้ก็แผ่ขยายออกไป กระทั่งได้รับเชิญจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยให้ไปขึ้นเวทีต่อต้านความเลวร้ายของนักการเมืองในยุคนั้น อาจารย์ไชยันต์จึงเป็นโรคดีซ่านเพราะถูกป้ายว่าเป็นเหลือง

แล้วก็มาถึงเหตุการณ์ในวันที่ 2 เม.ย. 2549 ซึ่งสังคมรับรู้กันถ้วนทั่วว่า อาจารย์ไชยันต์จะไปฉีกบัตรในวันนี้อย่างแน่นอน รวมทั้งรับทราบเหตุผลที่แกจะทำเช่นนั้นด้วยว่า แกต่อต้าน “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ที่มีอยู่ (ซึ่งคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญในปลายปีนั้นกับคำพิพากษาของศาลจังหวัดพระโขนงในครั้งนี้ก็กล่าวไว้อย่างชัดเจน) บางคนและสื่อส่วนหนึ่งยังติงว่าแกอยากเป็นฮีโร่หรือ แต่แกก็ปฏิเสธพร้อมกับย้ำว่า แกพร้อมรับผิดชอบในสิ่งที่แกทำทุกประการ

ยิ่งเมื่อได้มาอ่านคำตอบที่มีผู้สื่อข่าวไปถามแกหลังการตัดสินคดีเมื่อวันที่ 29 ต.ค. นั้นว่า แกรู้สึกอย่างไรกับการกระทำดังกล่าวที่แกเรียก ว่า “อารยะขัดขืน” ก็ยิ่งทำให้มีความเข้าใจในหลักประชาธิปไตย (ส่วนหนึ่ง) หรือ “ประชาธิปไตยของไชยันต์ฯ” นี้ได้ดีว่าคืออะไร

โดยแกตอบว่า ใครจะทำอะไรก็ตามในระบอบประชาธิปไตย หนึ่ง ต้องทำด้วยเหตุผลหรือความรู้สึกที่แยกแยะชั่วดี และสองต้องมีความรับผิดชอบหรือยอมรับผลของการกระทำ
ไม่ใช่คิดชั่วทำชั่วแล้วหลบหนีอย่างพวกที่ชอบเอาประชาธิปไตยมาบังหน้าบางคน!