posttoday

มองภาพรัฐบาลหลังเลือกตั้ง "เสียงปริ่มน้ำ-ขาดเสถียรภาพ"

01 เมษายน 2562

ส่องภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งผ่านสายตานักวิชาการ แนวโน้มเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ-อายุสั้น

ส่องภาพรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งผ่านสายตานักวิชาการ แนวโน้มเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ-อายุสั้น

แม้จะยังไม่ชัดเจนว่า พรรคการเมืองใดบ้างที่จะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นผลสำเร็จ แต่หากพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองขณะนี้ก็อาจพอประเมินได้ว่า รัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งอาจเป็นรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำค่อนข้างสูง

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา Thammasat Economic Focus (TEF) ครั้งที่ 16 และสัมมนาชุด 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เรื่อง "เดินหน้าเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้ง"ว่า ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลแม้พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นรวมคะแนนเสียงกันแล้วจะได้ประมาณ 252 เสียง ถึงแม้จะเกิดกรณีมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ที่เป็นงูเห่า 144 เสียง ก็ยังมองว่าเป็นไปได้ยากที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือหากรวมพรรคการเมืองอื่นๆก็เชื่อว่า ยังไม่มีเสถียรภาพ

ส่วนฝั่งพรรคพลังประชารัฐนั้น หากจับมือกับพรรคการเมืองที่เหลืออาจมีคะแนนเสียงเพียง 248 เสียง ยังไม่เพียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้ เว้นแต่สามารถดึง ส.ส.ในซีกฝั่งที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย หรืองูเห่าได้ แต่ก็เชื่อว่า รัฐบาลจะขาดเสถียรภาพและอาจมีการเลือกตั้งใหม่ในไม่ช้า

นิพนธ์ ยกตัวอย่างว่า หากพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้ สิ่งที่ต้องดำเนินคือ สร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับภาคเอกชนและประชาชน ด้วยการสานต่อนโยบายอีอีซี ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากเอกชนและต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งควรมีการบูรณาการนโยบายในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ให้รัฐบาลผสมสามารถจัดทำนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุด

"ควรจะสร้างโอกาสในการทำมาหากินให้กับประชาชนหรือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งต้องมีแผนงานและโครงการที่ทำให้ประชาชนมีงานที่ดีขึ้น"นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอระบุ

ลดความเหลื่อมล้ำนโยบายที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ

นิพนธ์ มองว่า นโยบายด้านสวัสดิการ ถือว่าสิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องดำเนินการ โดยต้องคัดเลือกนโยบายขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่รัฐมีงบประมาณเพียงพอและไม่เป็นการก่อหนี้เพิ่ม รวมถึงต้องมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งพบว่า คนจนสุดมีอยู่ 5% ซึ่งแก้ด้วยเรื่องสวัสดิการ และคนรวยสุดมี 1% ซึ่งควรมีหาแนวทางทบทวน เช่น เรื่องการคิดภาษีที่ดินใหม่

นอกจากนี้ควรมีการสร้างโอกาสกระจายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่ โดยอาจจะใช้แนวคิดบุรีรัมย์โมเดล มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจตามศักยภาพของแต่ละภูมิภาค

ด้าน อภิชาต สถิตนิรมัย อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์สิ่งที่เห็นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ยังมีความพยายามไม่ยอมรับถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 พยายามออกแบบให้การเมืองย้อนกลับไปในอดีตในยุคช่วงปี 2530 เพื่อให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค

"เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ยังเป็นการเมืองแบบเก่าที่เน้นที่ตัวบุคคล ซึ่งพรรคพลังประชารัฐถือว่าเป็นพรรคที่ลงทุนไปมาก แต่ยังไม่สามารถชนะขาดได้ และส่วนใหญ่ชนะในเขตที่ยังไม่มีเจ้าถิ่นชัดเจน โดยได้ ส.ส.จากพลังดูดประมาณ 33% จาก 7.9 ล้านเสียง"อภิชาต กล่าว

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย แม้จะคะแนนเสียงโดยรวมลดลง แต่ยังถือว่าได้บุญเก่าโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมกับการมาของพรรคใหม่ อย่างพรรคอนาคตใหม่ ที่สามารถครอบครองคะแนนเสียงในเขตเมืองและกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้

มองภาพรัฐบาลหลังเลือกตั้ง "เสียงปริ่มน้ำ-ขาดเสถียรภาพ"

รัฐบาลใหม่อาจมีอายุเพียง 6 เดือน ถึง 1 ปี

เขาวิเคราะห์การจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่คิดถึงเรื่อง ส.ส.งูเห่าว่า อาจจะเกิดรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำโดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรืออาจเป็นลักษณะเสียงข้างน้อย ซึ่งเชื่อว่า อายุรัฐบาลอาจอยู่ได้เพียง 6 เดือนถึง 1 ปีเท่านั้น

หากเป็นรัฐบาลในลักษณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องรับมือกับการถูกต่อรองตำแหน่งทางการเมืองจากคนในพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้แต่พรรคที่ได้เพียง 1 เสียง และอาจต้องยกกระทรวงเกรดเอให้กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อให้มาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจน้อยมากในการควบคุมคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้จะส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบายไร้ประสิทธิผล ผลงานที่ออกมาอาจเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าต่างๆ ที่ต้องทำตามสัญญา หรืออาจไม่มีผลงานด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่น และไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้เพราะอาจมีการขัดผลประโยชน์ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ส่งผลให้รัฐบาลอ่อนแอ ขาดความชอบธรรม อายุของรัฐบาลสั้นลง ซึ่งทั้งหมดสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้เกิดสายตาสั้นทางการเมือง แต่เชื่อว่า จากนี้ไปจะเริ่มมองเห็นกับดักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และทำให้สังคมตาสว่างมากขึ้น

ภาคเอกชนเรียกร้องรัฐบาลใหม่เร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันประเทศ

ขณะที่ เจน นำชัยศิริ อดีตประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจที่สุด คือความมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลัง ซึ่งยังเชื่อว่าไทยจะไม่ประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนในประเทศเวเนซูเอล่า หรือปัญหาความวุ่นวายเหมือนในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งหากพรรคการเมืองใดเลือกใช้นโยบายประชานิยมปูทางเพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีก อาจส่งผลทำให้เสียวินัยการเงินการคลัง เชื่อได้ว่า ความเชื่อมั่นในภาพรวมของการเงินการคลังจะหายไป ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทุนไหนออกนอกประเทศได้

นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลเร่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ทั้งในเรื่องการพัฒนาบุคลากรด้วยการศึกษา แก้ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น และการแก้ไขกฏกติกาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการประกอบธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่นโยบายหาเสียงของแต่ละพรรรคการเมืองไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้มากนัก และอยากให้มีการปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อดีตประธาน ส.อ.ท. ยอมรับว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจมีปัญหาเรื่องการออกกฏหมายใหม่ๆ ที่อาจผ่านการพิจารณาของรัฐสภายากขึ้น เพราะคาดว่าคะแนนเสียงทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะใกล้เคียงกัน