posttoday

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง "ปชป." ปิดประตูร่วม "เพื่อไทย" ตั้งรัฐบาล

11 มีนาคม 2562

ท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งเป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

ท่าทีจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งเป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย

******************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัญญาณการเมืองชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับท่าทีความชัดเจนจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. เมื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์คลิปวิดีโอแสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านเฟซบุ๊กความยาว 40 วินาที ตอบคำถามว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีประวัติทุจริตหรือไม่

“ผมไม่มีวันจะยอมให้พรรคที่ทุจริตนำประเทศ ไม่เอาทั้งพวกบกพร่องโดยสุจริต หรือทุจริตเชิงนโยบาย เอาเสียงของประชาชนมาหาผลประโยชน์ให้กับคนกลุ่มเดียว นายกฯ 4 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เคยมีมลทินเรื่องทุจริต รัฐมนตรีในรัฐบาลเรามีเรื่องอื้อฉาว ทุจริต ลาออกทันที เพราะสำหรับประชาธิปัตย์ ประชาธิปไตยจะใช้การได้ ต้องสุจริตเท่านั้น หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ”

ในมุมหนึ่งท่าทีดังกล่าวถือเป็นการแสดงศักยภาพเน้นจุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์โดยชูเรื่องสุจริตมาเป็นจุดขาย เพื่อเรียกคะแนนในช่วงโค้งสุดท้าย กับการสร้างความแตกต่างกับพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วยการหยิบยกประวัติทางการเมืองมาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ดังจะเห็นจาก นายกรัฐมนตรี 4 คนของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยมีมลทินเรื่องทุจริต ไปจนถึงเรื่องสปิริตทางการเมืองที่ให้รัฐมนตรีที่มีเรื่องอื้อฉาวทุจริตลาออกในทันที

แต่นัยที่สำคัญจากคลิปดังกล่าว คือ การประกาศความชัดเจนต่อทิศทางการร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต ที่พูดชัดเจนว่าจะไม่ให้พรรคที่ทุจริตมานำประเทศ ทั้งบกพร่องโดยสุจริต หรือทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งถูกมองว่าเป็นความตั้งใจเจาะจงไปถึงพรรคเพื่อไทย ที่แกนนำในพรรคหลายคนมีคดีความพัวพันกับเรื่องอื้อฉาวในช่วงที่ผ่านมา

ท่าทีดังกล่าวของประชาธิปัตย์จึงเท่ากับเป็นการประกาศตัดสัมพันธ์ไม่ร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยในอนาคต จากก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เคยประกาศเต็มปากเต็มคำ มีเพียงแค่พูดถึงภาพรวมกว้างๆ เกี่ยวกับการเลือกร่วมรัฐบาลหลังเลือกตั้งกับพรรคหนึ่งพรรคใดที่จะต้องพิจารณาแนวนโยบายและจุดยืนทางการเมืองที่สอดรับกัน จนทำให้ถูกมองว่าการไม่ปฏิเสธให้ชัดเจนเสมือนเป็นการเปิดทางให้ร่วมงานกันได้ในอนาคต

โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหน้านี้ อภิสิทธิ์ เคยออกมาประกาศเรียกร้องว่า หลังจากได้การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลต้องเคารพเสียงประชาชน แม้ว่า สว.250 คน จะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการให้เสียง 250 สว. เคารพการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

หมายความว่า ถ้าพรรคการเมืองรวมกลุ่มกันได้เกิน 250 สว. ควรสนับสนุนให้เขาตั้งรัฐบาล จึงจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง จึงอยากให้ทุกพรรคการเมืองตกลงกันว่าเลือกตั้งเสร็จอย่าวิ่งไปหาสว.250 คน แต่ควรตกลงกันว่าใครอยากจับมือกับใคร

พร้อมกันนี้ อภิสิทธิ์ ยังระบุด้วยว่า “ผมพูดไปแล้วว่าประชาธิปัตย์ต่ำกว่า 100 ผมลาออก และขอถามพรรคการเมืองอื่นว่าถ้าได้ต่ำกว่าร้อยยังจะกล้าเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรคตัวเองหรือไม่”

ในครั้งนั้นนอกจากจะมองว่าเป็นการสกัดพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการเรียกร้องให้บรรดาพรรคการเมืองผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งไม่ให้ 250 สว.เข้ามามีบทบาทจนสามารถแทรกแทรงกลไกการจัดตั้งรัฐบาลได้

แต่อีกด้านหนึ่งกลับถูกตีความว่าเป็นการเปิดช่องสำหรับการจับมือพรรคเพื่อไทย ในกรณีที่จำเป็นต้องผนึกกำลังไม่ให้ สว. 250 เสียง เข้ามามีบทบาทจนเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ของคนที่ออกมาลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้ง

ดังนั้น ผลจากการประกาศจุดยืนของอภิสิทธิ์ในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการประกาศความชัดเจนจากฝั่งประชาธิปัตย์ว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้ทิศทางการเมืองในอนาคตเริ่มเห็นเค้าลางเพิ่มมากขึ้น

เริ่มตั้งแต่กรณีหากพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เสียงมากเป็นอันดับแรก แต่โอกาสที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งประกาศไม่ยอมให้พรรคที่ทุจริตมานำประเทศ ไม่ร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

แม้ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมจะมีเสียงรวมกันเกิน 250 เสียง แต่หากไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีเสียงเกิน 376 เสียงจาก 750 เสียง เมื่อ 250 เสียงของ สว.เฉพาะกาลคงไม่เทเสียงไปสนับสนุนไปให้พรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว

อีกทั้งการที่เพื่อไทยจะรวมเสียงให้ได้ อีก 126 เสียง โดยไม่มีเสียงสนับสนุนจากประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ ย่อมเป็นไปได้ยาก ขึ้นอยู่กับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะสามารถชนะการเลือกตั้งได้เมื่อไหร่

ในทางกลับกัน เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะประชาธิปัตย์ได้ออกตัวไปแล้วว่าต้องการให้เสียง 250 ของ สว.เคารพการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังนั้นลำพังที่ฝั่งประชาธิปัตย์จะสามารถรวมเสียงให้ได้เกิน 376เสียง ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

หรือแม้แต่จะหวังให้พรรคเพื่อไทยมาเทคะแนนสนับสนุนประชาธิปัตย์ร่วมเป็นรัฐบาลเพื่อสกัดพรรคพลังประชารัฐก็เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

สุดท้ายแล้ว บรรยากาศหลังการเลือกตั้งจึงมีแนวโน้มที่อาจเกิดสภาวะอึมครึมยากที่จะมีพรรคหนึ่งพรรคใดได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจนสามารถจัดตั้งรัฐบาล