posttoday

โค้งสุดท้าย แบ่งขั้วการเมืองชัดเจน

06 มีนาคม 2562

นับถอยหลัง 18 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

นับถอยหลังสู่ 18 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ สอดรับไปกับการขยับของแต่ละพรรคการเมืองเริ่มปล่อยหมัดเด็ดออกมาเรียกคะแนนเสียง ที่ต่างฝ่ายต่างต้องช่วงชิงคะแนนเสียงให้ได้มากที่สุด

เริ่มตั้งแต่นโยบายลดแลกแจกแถมที่แต่ละพรรคพร้อมใจกันอัดแคมเปญ ซื้อใจประชาชน จนเริ่มเห็นปรากฏการณ์ "ประชานิยม" แข่งกับ "สวัสดิการแห่งรัฐ" ที่คอนเซ็ปต์หลักดูจะคล้ายคลึงกันในแต่ละพรรค จะมีเพียงก็แค่รายละเอียดที่แตกต่างกันไปบ้างในบางส่วน

โดยเฉพาะกับเรื่องปัญหาปากท้องที่ถือเป็นเรื่องใหญ่และได้รับความสนใจจากประชาชนคนทั่วไป สืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหลายปี หลายพรรคจึงเริ่มโหมประเด็นนำเสนอตัวเป็นทางเลือก เพื่อนำพาประเทศออกจากสภาพ ดังกล่าวด้วยชุดนโยบายที่คิดค้นกันมา

แต่สุดท้ายการแข่งขันทางการเมืองในรอบนี้อาจจะไม่ได้ชี้วัดกันแค่รายละเอียดนโยบายที่ว่าพรรคไหนน่าสนใจมากกว่ากัน หรือผู้สมัคร สส.ในพื้นที่ของพรรคไหนโดดเด่นกว่าพรรคไหน เพราะปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ เรื่องของจุดยืนหรือทิศทางการเมืองทั้งในอดีตและอนาคต ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในเวลานี้ไม่มากก็น้อย

วาทะกรรมเรื่องฝั่งประชาธิปไตยและฝั่งสืบทอดอำนาจ หรือฝั่งขั้วอำนาจเก่าที่จะนำไปสู่วังวนความขัดแย้ง กับฝั่งทางเลือกใหม่ที่จะมาสานต่อภารกิจการปฏิรูปจึงดูชัดเจน ดังจะเห็นจากการแสดงออกและประกาศตัวของแต่ละฝั่งที่เริ่มเปิดเผยตัวตนมากยิ่งขึ้น

เริ่มตั้งแต่ฝั่งพรรคเพื่อไทยเวลานี้ที่ถือเป็นหัวขบวนของฝั่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝั่งเสรีประชาธิปไตย อันมีจุดยืน ต่อต้านการรัฐประหาร และคัดค้านการสืบทอดอำนาจทุกรูปแบบ

อีกทั้งการลงพื้นที่หาเสียงในช่วงหลังจะสะท้อนให้เห็นถึงการเปิดหน้าชนกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบบเต็มรูปแบบ ล่าสุด การหาเสียงที่โคราช พงศ์เทพ เทพกาญจนา ระบุว่า 5 ปีที่ผ่านมา หลังจาก คสช.เข้ามายึดอำนาจตกต่ำอย่างหนักส่งผลให้ประชาชนเดือดร้อน โดยเฉพาะเกษตรกรได้รับความลำบากยากแค้น ราคาพืชผลทางการเกษตรราคาตกต่ำ

"ขณะเดียวกัน คสช.ได้วางแผนสืบทอดอำนาจและต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกถึง 8 ปี เพราะฉะนั้นถ้าประชาชนต้องการหยุดยับยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช.ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จะต้องรวมพลังกันเลือกพรรคเพื่อไทยทั้ง 14 เขต ใน จ.นครราชสีมา เพื่อให้พรรคเพื่อไทยเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง พรรคเพื่อไทยทำได้และทำมาแล้ว"

ทว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของฝั่งเสรีประชาธิปไตยดูจะไม่สดใสมากนัก เมื่อพรรคไทยรักษาชาติเวลานี้กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาคดียุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญ จากกรณีเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคน ดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 7 มี.ค.นี้

อันอาจถือเป็นตัวแปรสำคัญต่อทิศทางการเลือกตั้งในรอบนี้ โดยเฉพาะกับฝั่งเพื่อไทยที่หยิบยกยุทธศาสตร์เรื่องแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยขึ้นมาแก้เกมกฎกติกาเลือกตั้งใหม่

ไม่เพียงแค่นี้พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองฝั่งเสรีประชาธิปไตยที่คะแนนนิยมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่ถูกพูดถึงอย่างร้อนแรงก็กำลังเผชิญหน้ากับคดีความที่ถูกร้องให้ยุบพรรค จากรณีเว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่เผยแพร่ประวัติของ ธนาธร หัวหน้าพรรคว่าเคยเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 2 สมัย ทั้งที่ไม่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ในกลุ่มนี้ยังมีพรรคอื่นทั้งพรรคเพื่อชาติ พรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และพรรคประชาชาติของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งแต่ละพรรคล้วนแต่เปิดหน้าแสดงจุดยืนความชัดเจนว่าอยู่ตรงข้ามฝั่ง คสช.และ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ

ขณะที่พรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่งคือ ฝั่งที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 และยืนหยัดสกัดกลุ่มอำนาจเก่าหวนคืนการเมือง นำโดยพรรคพลังประชารัฐที่หลังได้ไฟเขียวจาก กกต.เตรียมผลักดัน พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมเดินสายหาเสียง โดยเล็งที่โคราชเป็นพื้นที่แรกในวันที่ 10 มี.ค. ท่ามกลางความเป็นห่วงเรื่องการวางตัวเป็นกลางอันอาจมีปัญหาใน ภายหลัง

นอกจากพรรคพลังประชารัฐยังมีพรรคอื่นที่ประกาศตัวอยู่ฝั่งนี้ ทั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า การต่อสู้ครั้งนี้ของเราเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวร้ายตัวเก่ากลับมาสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง ตลอดจนพรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เปิดตัวประกาศจุดยืนเป็นที่ชัดเจนก่อนหน้านี้

ส่วนบางพรรคที่พยายามวางตัวเป็นกลางอย่างประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทย ที่ต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อนจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป

ทั้งหมดล้วนแต่เป็นท่าทีที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการ เลือกตั้งอันจะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนในการหย่อนบัตรลงคะแนน รวมไปถึงการวางแผนจับกลุ่มตั้งรัฐบาลในอนาคตอย่างคร่าวๆ ในเวลานี้