posttoday

ลุ้นยุบไม่ยุบ "ไทยรักษาชาติ" โค้งสุดท้ายเลือกตั้งเดือด

04 มีนาคม 2562

ทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติจะเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวแปรหนึ่ง

ทิศทางการเมืองไทยจะเป็นอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติจะเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวแปรหนึ่ง

**********************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

สัปดาห์นี้วันที่ 7 มี.ค.จะเป็นวันกำหนดทิศทางทางการเมืองอีกครั้ง ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญเตรียมอ่านคำวินิจฉัยคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

อย่างที่ทราบกันดีว่าเหตุผลของเรื่องที่ทำให้ กกต.ตัดสินใจยุบพรรคอยู่ที่การเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่ง กกต.มีความเห็นว่าเป็นการกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่ผ่านมา พรรคไทยรักษาชาติพยายามต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาทุกประตู โดยได้ชูประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญเห็นถึง 8 ประเด็นว่าเพราะเหตุใดการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติจึงไม่เป็นความผิดตามกฎหมายพรรคการเมือง

“มติในการประชุมครั้งที่ 18/2562 เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 ของ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กกต.จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามมาตรา 41 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และมีพฤติกรรมไม่สุจริต” หนึ่งในประเด็นข้อต่อสู้ของพรรค

เดิมทีภายในพรรค ทษช.มีการคาดการณ์กันว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนัดสืบพยานหลักฐานบ้าง เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่สำคัญแห่งคดี แต่ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินใจไม่ไต่สวน เพราะเห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมายทุกประการ

การไม่นัดไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ สร้างความระทึกให้กับพรรคไทยรักษาชาติไม่น้อย ซึ่งบางส่วนก็เตรียมยอมรับกับชะตากรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับทิศทางของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญสามารถออกมาในทางใดทางหนึ่งจากสองทาง ดังนี้

1.ไม่ยุบพรรค แม้จะมีผู้สันทัดกรณีบางส่วนออกมาบอกว่าโอกาสไม่ยุบพรรคนั้นมีความเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าดูจากข้อต่อสู้ของพรรคไทยรักษาชาติแล้ว ก็พอให้เห็นถึงโอกาสที่จะชนะเช่นกัน

โดยเฉพาะการยกประเด็นที่ว่า กกต.ไม่ได้ทำการไต่สวนพรรคไทยรักษาชาติตามกฎหมายก่อน ซึ่งการไต่สวนเป็นหนึ่งในหลักของการอำนวยความยุติธรรมให้กับผู้ถูกกล่าวหา แต่เมื่อ กกต.ถูกพาดพิงว่าไม่ได้ดำเนินตามขั้นตอนดังกล่าว ก็อาจเป็นประเด็นที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญรับฟังเช่นกัน

นั่นอาจหมายความว่าโอกาสที่พรรคไทยรักษาชาติจะชนะคดีด้วยเหตุผลทางเทคนิคก็พอมีความเป็นไปได้พอสมควร

หรือไม่ก็อาจชนะด้วยเหตุผลทางกฎหมาย ในแง่ที่ว่าการเสนอชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งกฎหมายยังไม่ได้ระบุว่าการเสนอชื่อบุคคลที่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ จะมีความรับผิดแต่อย่างใด

ถ้าผลคำวินิจฉัยออกมาเช่นนี้ พรรคไทยรักษาชาติจะกลับมาสู่ลู่วิ่งอย่างเต็มตัวในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

2.ยุบพรรค การยุบพรรคเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในทางการเมืองไทย ซึ่งในกลุ่มของพรรคเพื่อไทยก็เคยถูกยุบพรรคนมาแล้วถึง 2 ครั้ง จากกรณีของพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

ผลของการยุบพรรคที่จะตามมามีด้วยกันอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองตลอดชีวิตจำนวน 14 คน นำโดย ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค และมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค

ประการต่อมา การเสียสถานะการเป็นผู้สมัคร สส.ของพรรคทุกคน ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค จะมีผลให้การเป็นสมาชิกพรรคซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของผู้สมัคร สส.สิ้นสุดลงด้วย ครั้นจะย้ายพรรคการเมืองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะจะมีอายุความเป็นสมาชิกไม่ถึง 90 วัน เพื่อให้ได้สิทธิในการสมัครเลือกตั้ง สส.

อย่างไรก็ตาม ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าวหากมีการยุบพรรคจริง ยังจะเป็นการวางหลักการของศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าการกระทำแบบใดที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย

อย่าลืมว่าปัจจุบันคดียุบพรรคการเมืองในปัจจุบันไม่ได้มีแค่พรรคการเมืองเดียว แต่ได้มีการยื่นยุบพรรคการเมืองอื่นๆ ด้วย เช่น กรณีของพรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง กกต.อาจรอดูแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีของพรรคไทยรักษาชาติ เพื่อเอามาเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นกัน

ดังนั้น กาารชี้ชะตาในวันที่ 7 มี.ค.ไม่ได้มีเพียงแต่พรรคไทยรักษาชาติที่ต้องลุ้นระทึกแล้ว แต่พรรคการเมืองก็เฝ้ามองอย่างใกล้ชิดไม่ต่างกัน

การเมืองจะมีทิศทางเป็นอย่างไร คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวแปรที่สำคัญตัวแปรหนึ่ง