posttoday

พรบ.ข้าว-หนักแผ่นดินปมร้อน ฉุดคะแนนนิยม'บิ๊กตู่'

21 กุมภาพันธ์ 2562

เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช่ว่า จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแรงเสียดทานที่ก่อตัวรุนแรงขึ้นในช่วงนี้จาก 2 ปมร้อน พรบ.ข้าว-หนักแผ่นดิน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

บรรยากาศการเมืองช่วง 30 วันสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง 24 มี.ค. เริ่มกลับมาร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยยุทธศาสตร์ และนโยบายที่แต่ละพรรคต่างงัดมาเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน สอดรับกับวิวาทะการพาดพิงไปมาที่ล้วนแต่มีผลต่อทิศทางการลงคะแนนที่จะเกิดขึ้น

สำหรับในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกจับจ้องจากสังคมเป็นพิเศษในฐานะที่เชื่อมโยงกับ ทั้งอำนาจรัฐและอำนาจพิเศษ และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบรับ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรค

ทำให้กระบวนการขับเคลื่อนแนวนโยบายและการหาเสียงดูชัดเจนและได้เปรียบคู่แข่งในบางมุม จนคะแนนนิยมในหลายพื้นที่เริ่มกระเตื้องขึ้นมา ในช่วงที่ผลจากนโยบายประชารัฐ ทั้งหลายที่เริ่มต้นไปก่อนหน้านี้เริ่ม เห็นผล รวมทั้งการต่อยอดเพิ่มส่วนขยายให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มประชาชน หลากหลายและทั่วถึงมากขึ้น

ขณะที่พรรคแนวร่วมพันธมิตรที่มีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้เปิดหน้าแสดงความชัดเจน ในการเป็นกองหนุนร่วมผลักดันภารกิจนี้ให้สำเร็จลุล่วงอย่างที่ตั้งใจ

คู่ขนานไปกับขั้วตรงข้ามอย่าง เพื่อไทย ที่กำลังเผชิญกับมรสุมที่ถาโถมอย่างรุนแรง ทั้งกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติ กำลังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในความผิดอันอาจนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับ การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต

แต่ทว่าปัญหาเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ใช่ว่า  จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแรงเสียดทานที่ก่อตัวรุนแรงขึ้นในช่วงนี้จากสองประเด็นที่เป็นเสมือนระเบิดเวลาซึ่งไม่รู้ว่าจะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่และรุนแรงมากน้อยเพียงใด

เริ่มตั้งแต่วิวาทะเรื่อง "หนักแผ่นดิน" ซึ่ง "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก  (ผบ.ทบ.) ออกมาจุดประเด็น มอบบทเพลงแฝงความนัยหลังถูกผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีของคุณหญิงสุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศนโยบายปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดงบกระทรวงกลาโหม 10% กลายเป็นเชื้อไฟปลุกให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ตัว "บิ๊กแดง" และ "กองทัพ" มากขึ้น

ไม่ว่าจะในแง่มุมของการตั้งเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งของประชาชนในสังคมให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายซ้ำเติมปัญหาความขัดแย้งในอดีตให้หวนกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

ยังไม่รวมกับประเด็นเรื่องที่สังคมกำลังจับตาไปยังงบประมาณในส่วนของกองทัพที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดกระแสเรียกร้องให้ปรับลดลง  โดยเฉพาะในส่วนของการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ที่หลายฝ่ายเคยออกมาท้วงติงในแง่ของความคุ้มค่ากับความจำเป็น อย่างเรือดำน้ำ

อันจะกลายเป็นจุดอ่อนที่ต้อนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปสู่ในมุมอับ และเปิดทางให้คู่แข่งมาไล่ถลุงเอาได้แบบไม่อาจป้องกันตัว ซึ่งมีแต่จะฉุดคะแนน นิยมให้ลดลงไป

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ ระบุว่า เรายอมรับความเป็นจริงว่าเมื่อมีการยึดอำนาจ ทุกครั้ง งบประมาณของกระทรวงกลาโหมก็จะเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเดือดร้อนของประชาชน

"ถามว่าความอดอยากของประชาชนกับเรือดำน้ำ อันไหนจะมีความสำคัญมากกว่ากัน ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะเลือกนำเงินส่วนนี้ไปแก้ไขปัญหาความยากจนก่อน แต่หลักคิดของผู้ยึดอำนาจถือว่าเป็นการลงทุน ก็ต้องไปซื้อเรือดำน้ำ ซื้ออาวุธก่อน เพราะฉะนั้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น งบในส่วนของกองทัพได้เติบโตในสัดส่วนที่มากกว่าในยามบ้านเมืองเป็นปกติ เพราะฉะนั้นใน 4 ปี      ต่อไป ก็ควรจะให้ประชาชนมากบ้าง"

ยังไม่รวมถึงประเด็นการดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมือง มากขึ้น และเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม ถึงขั้นเรียกร้องให้ "กองทัพ" วางตัวเป็นกลางทางการเมืองเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม

อีกประเด็นคือเรื่อง พ.ร.บ.ข้าวที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ซึ่งกำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์รุนแรง  ทั้งการกำหนดกฎเกณฑ์ การจัดทำเขตศักยภาพการผลิตจะนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพทางการผลิตข้าวของชาวนา นำไปสู่การสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศการผลิต ซึ่งในวิถีวัฒนธรรมทางการเกษตรของประเทศไทยที่มีความหลากหลายภูมินิเวศ

รวมทั้งประเด็นว่าด้วยเมล็ดพันธุ์เข้าควบคุมจนชาวนาสูญเสียอำนาจทางการผลิตข้าว และหันไปสู่การปลูกพืชอุตสาหกรรมอื่น จนนำไปสู่การทำลายระบบนิเวศทางการผลิต จนกระทั่งจะทำให้ชาวนาก่อหนี้ จากการเพาะปลูกพืชอุตสาหกรรมอื่นแทนข้าว หรืออาจกลายเป็นการเอื้อให้นายทุนหรือไม่

นำมาสู่การรวมตัวคัดค้านของเกษตรกรชาวนา และหลายฝ่ายในสังคม พร้อมเรียกร้องให้ยุติการพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อเปิดให้รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งพิจารณาว่าจะเอาอย่างไรต่อไป

แต่กระนั้นท่าทีของ สนช.ก็ยังดูจะไม่สิ้นความพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้ เพียงแต่เลื่อนวาระการพิจารณาออกไปเป็นสัปดาห์หน้า

เผือกร้อนสองเรื่องในมือรัฐบาลเวลานี้จึงถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังจะต้องเผชิญ และหาทางรับมือว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ซึ่งทุกย่างก้าวล้วนแต่มีผลต่อคะแนนนิยมและคะแนนเสียงในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น