posttoday

ครึ่งทางหาเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองแบ่งขั้วชัดเจน

20 กุมภาพันธ์ 2562

กระบวนการหาเสียง เดินหน้ามาจนถึงครึ่งทาง ยิ่งเห็นความชัดเจนของจุดยืนและท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ อันอาจสะท้อนต่อไปถึงทิศทางการ จับมือตั้งรัฐบาลในอนาคตได้เป็นอย่างดี

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กระบวนการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ เดินหน้ามาจนถึงครึ่งทางกับเวลาที่เหลืออีกเพียงแค่เดือนกว่าๆ ก็จะถึงวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ที่ประชาชนทั่วประเทศจะได้ออกมาใช้สิทธิลงคะแนนตัดสินอนาคตประเทศว่าจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใดรวมทั้งได้รู้ใครจะได้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ทว่า หากพิจารณาจากทั้งเนื้อหาการหาเสียงและท่าทีการประกาศตัวของพรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จะยิ่งเห็นความชัดเจนของจุดยืนและท่าทีของพรรคการเมืองต่างๆ อันอาจสะท้อนต่อไปถึงทิศทางการ จับมือตั้งรัฐบาลในอนาคตได้เป็นอย่างดี

เริ่มตั้งแต่ขั้วแรกฝั่งที่นิยามตัวเองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย อันมีจุดยืนอยู่ตรงข้ามฝั่งรัฐประหาร ต่อต้านการสืบทอดอำนาจ รวมทั้งมีแนวนโยบายจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นมรดกบาปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่แอบทิ้งเงื่อนปมการสืบทอดอำนาจไว้ในหลายมาตรา

กลุ่มนี้นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นหัวขบวนสำคัญในการเดินหน้ายืนหยัดสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พุ่งเป้าเจาะจงไปยังประเด็นคัดค้านการสืบทอดอำนาจ คสช. รวมทั้งกลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นจาก คสช.ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ดังจะเห็นจากท่าทีการปราศรัยใหญ่ครั้งแรกในพื้นที่ กทม.ที่ลานคนเมืองศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร โภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ทำงานการเมืองไม่น้อยกว่า 35 ปี ถูกยึดอำนาจ 2 รอบ อำนาจถูกใช้ผ่านคนหยิบมือเดียวจากปลายกระบอกปืน ดังนั้น ประชาชนต้องกลับมาเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ไม่ใช่คนกลุ่มเดียวที่พยายามจะสร้างระบบราชการให้ข้าราชการเป็นใหญ่

เช่นเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ขอให้เลือกพรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียวเพื่อยึดอำนาจจากเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยหัวใจคือประชาชน ต้องการให้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวในการล้มการสืบทอดอำนาจ

ในกลุ่มนี้นอกจากพรรคเพื่อไทยแล้วยังมีพรรคแบงก์ร้อย อาทิ พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยรักษาชาติ ที่แตกออกไปด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์การแก้เกมระบบการเลือกตั้งใหม่ ดังจะเห็นจากอาการถ้อยทีถ้อยอาศัยการปราศรัย การจัดวางคน ที่หลบเลี่ยง ไม่ปะทะกันแบบเปิดหน้าชนในพื้นที่ ต่างจากการเปิดหน้าชนขั้วตรงข้าม

ยังไม่รวมกับพรรคที่มีจุดยืนอุดมการณ์ในทิศทางเดียวกัน ทั้งพรรคเสรีรวมไทยของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และพรรคประชาชาติของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา และพรรคอนาคตใหม่ของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กำลังถูกพูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างร้อนแรง

จุดยืนของธนาธรเป็นที่ชัดเจนเริ่มตั้งแต่คัดค้านการรัฐประหาร ต่อสู้เผด็จการและล่าสุดเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในฐานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

ขณะที่พรรคการเมืองอีกขั้วหนึ่งคือ ฝั่งที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ และยืนหยัดสกัดกลุ่มอำนาจเก่าหวนคืนการเมือง นำโดยพรรคพลังประชารัฐ หลังเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคที่กำลังดึงมาเป็นจุดแข็งเรียกคะแนนจากฝั่งกองเชียร์ คู่ขนานไปกับบรรดาแพ็กเกจนโยบายลด แลก แจก แถม ที่โหมกระหน่ำอย่างหนักในช่วงเวลาที่ผ่านมา

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค กล่าวระหว่างการปราศรัยกับคนกรุงเทพฯ ว่า พรรคกำลังนำเสนอทั้งนโยบายและว่าที่นายกฯ ของพรรคเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้ได้ ซึ่งยืนยันว่าด้วยระบอบประชาธิปไตย และจะอาสาต่อสู้กับคนที่บอกว่านำพาประเทศไทยกลับไปสู่วงจรเดิม

"วันนี้พรรคพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตยและอาสาเป็นคนเปลี่ยนแปลงจุดผ่านของประเทศ เพื่อให้ประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามอดีตที่เจ็บปวดของพวกเรา"

สอดรับกับพรรคที่เปิดตัวสนับสนุนขั้วอำนาจฝั่งนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ตลอดจนพรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เปิดตัวประกาศจุดยืนเป็นที่ชัดเจนก่อนหน้านี้

ล่าสุด เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย กล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า การต่อสู้ครั้งนี้ของเราเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวร้ายตัวเก่ากลับมาสร้างความเสียหายแก่บ้านเมือง

เราไม่ได้มาเลือกตั้งเพื่อเพียง แค่เอาชนะ แต่เราต้องพยายามรวบรวมคะแนนให้มากที่สุดเพื่อให้เข้าไปบริหาร เพื่อไม่ให้ตัวร้ายเข้ามาทำลายประเทศชาติ

"การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ธรรมดา เพราะไม่ได้มีแค่ตัวร้ายตัวเก่าเท่านั้น แต่ยังมีตัวร้ายตัวใหม่ที่มีหัวหน้าพรรคอายุประมาณ 40 ปีอีกด้วย"

ในขณะยังมีกลุ่มการเมืองอีกบางพรรคที่พยายามวางตัวเป็นกลางโดยไม่เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้ง หรือเอนเอียงไปอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่าง ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทย อันอาจจะถือเป็นตัวแปรทางการเมืองต่อไปหลังการเลือกตั้ง โดยต้องรอดูผลการเลือกตั้งต่อไป

การเปิดหน้าแสดงท่าทีและจุดยืนของแต่ละพรรคในช่วงเวลานี้ จึงถือเป็นการประกาศตัวอันสะท้อนให้เห็นขั้วการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ง่ายและมีส่วนต่อประชาชนในการตัดสินใจลงคะแนน