posttoday

ระฆังยกแรกดังขึ้น พรรคใหญ่สำแดงพลัง

06 กุมภาพันธ์ 2562

หลังปิดรับสมัครเลือกตั้ง คนไทยทั้งประเทศจะได้เห็นโฉมหน้าว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อไป

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มต้นอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับการเลือกตั้ง 2562  ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิด รับสมัคร สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งตามกำหนดการของ กกต.นั้นการสมัครทั้ง สส.แบ่งเขตเลือกตั้ง ระบบบัญชีรายชื่อ รวมไปถึงการเสนอชื่อบุคคลในนามของพรรคที่จะชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ก.พ.

เท่ากับว่าภายหลังปิดรับสมัครเลือกตั้งในวันดังกล่าว คนไทยทั้งประเทศจะได้เห็นโฉมหน้าว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ต่อไป

ภาพรวมและบรรยากาศของการสมัครรับเลือกตั้งในรอบ 8 ปี (ไม่นับการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะเมื่อปี 2557) ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่คึกคักมากนัก ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะกติกาการควบคุมการหาเสียงเลือกตั้งนั้นค่อนข้างเข้มงวดกับผู้สมัครและพรรคการเมืองพอสมควร

โดยเฉพาะการจัดขบวนรถแห่ ผู้สมัคร สส. ซึ่ง กกต.ถึงขั้นออกมาเตือนว่าให้ระมัดระวัง เพราะอาจเข้าข่ายการหาเสียงข้ามเขตเลือกตั้ง อันจะทำให้มีความผิดตามกฎหมายได้ ด้วยเหตุนี้บรรยากาศในวันแรกของการสมัคร จึงไม่อึกทึกเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากที่เว้นว่างมาเกือบ 8 ปี

เมื่อระฆังยกแรกดังขึ้นแล้ว ทำให้ต้องรอดูว่าเวลาที่เหลืออีกประมาณ 50 วัน พรรคการเมืองใดจะยืนระยะได้ดีกว่ากัน
 
พรรคการเมืองแรกที่ต้องติดตามกันแบบห้ามกะพริบตาคงหนีไม่พ้น "พรรคพลังประชารัฐ" ในฐานะพรรคตัวเต็งจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ส่งเทียบเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า
 
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นหนึ่งในบุคคลที่พรรคจะเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ แต่เชื่อได้ว่าถึงที่สุดแล้วในวันที่ 8 ก.พ. จะมีชื่อของ "บิ๊กตู่" ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน

จุดขายของพรรคที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ โดยหลักจะเป็นการต่อยอดนโยบายเดิมที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ทำไว้ เพื่อให้เกิดรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับชูจุดแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นคนทำงานอย่างตรงไปตรงมาและรักษาบ้านเมืองให้เกิดความสงบเรียบร้อย

ส่วนตัวผู้สมัคร สส.ก็มีจุดน่าสนใจแตกต่างกันออกไป บางพื้นที่ในภาคอีสานและภาคเหนือส่วนใหญ่จะเป็นอดีต สส.ของพรรคการเมืองที่เข้ามา ลงสมัครในนามพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นศึกหนักพอสมควร เพราะต้องสู้กับ เจ้าที่แรงอย่างพรรคเพื่อไทย

ขณะที่ใน กทม.และปริมณฑล หรือแม้แต่ตามหัวเมืองในจังหวัดอื่นๆ จะเน้นผู้สมัคร สส.หน้าใหม่ เพื่อหวัง ใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่เพื่อเสริมพลัง ให้กับพรรค

เป้าที่พรรคกำหนดไว้ถึง 150 ที่นั่งหรือมากกว่านั้น ด้านหนึ่งอาจดูเหมือนยาก แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ตกปากรับคำสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐเมื่อไหร่ โอกาสที่จะไปให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน

ด้าน "พรรคเพื่อไทย" เปิดตัวผู้สมัคร สส.ทั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่ออย่างเป็นทางการไปแล้ว เป็นครั้งแรกที่พรรคการเมืองใหญ่ระดับนี้ไม่ได้ส่งผู้สมัคร สส.ครบทุกเขตเลือกตั้ง เหตุผลไม่ได้มีอะไรเพื่อต้องการแก้เกมระบบการเลือกตั้ง สส.ที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้ที่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดได้ สส.แบบเบ็ดเสร็จในพรรคเดียว

พรรคเพื่อไทยจึงเลือกใช้วิธีการหลบไม่ส่งผู้สมัครในบางเขต แต่มีพรรคการเมืองที่เป็นเพื่อนบ้านส่งผู้สมัครแทน ป้องกันไม่ให้เกิดการตัดคะแนนกันเอง

ในแง่นโยบายของพรรคที่ทยอยเปิดออกมานั้นยังคงแนวคิด "คิดใหม่ ทำใหม่" อันเป็นรากฐานของพรรคมาตั้งแต่พรรรคไทยรักไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เล็งเห็นว่าหากนำประเด็นนี้มาขายน่าจะได้ลูกค้าหน้าใหม่ของพรรคพอสมควร เพราะต้องยอมรับว่ามีคน

อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยมีความสุขกับระบบรัฐประหารที่ครองประเทศมานานถึง 5 ปี

นอกจากนี้ ด้านตัวบุคคลผู้นำพรรคหรือตัวผู้สมัคร สส. ก็ยังคงความแข็งแกร่งให้เห็นอยู่พอสมควร แม้ว่าก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยจะเจอกับพลังดูดออกไปบางส่วน เพราะเมื่อเปิดชื่อผู้สมัคร สส.ของพรรคออกมา ปรากฏว่าส่วนใหญ่ล้วนเป็นอดีต สส.ตั้งแต่ปี 2554 ที่เป็นการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด ต่างกับบางพรรคที่อ้างว่าเป็นอดีต สส.แต่พบว่าเป็นอดีต สส.ที่ผ่านมานานแล้ว

กระแสของ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" และ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" เมื่อรวมกับฐานของผู้สมัครที่ ยังเข้มแข็ง อย่าได้แปลกใจว่าทำไม คุณหญิงสุดารัตน์ถึงกล้าบอกว่าพรรคเพื่อไทยจับหมายเลขผู้สมัครได้เบอร์อะไรก็ชนะ

พรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่าฐานกำลังยังอยู่ที่ภาคใต้เหมือนเดิม โดยวางเป้าว่าต้องให้ได้ สส.ทั้งหมด 50 คน

ตัวเลขขนาดนั้นดูเหมือนว่าจะ เป็นไปได้ยากก็จริง แต่ถึงอย่างไร ก็ตามโอกาสที่จะได้มากกว่า 40 ที่นั่ง ก็ไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินความเป็นจริงเท่าใดนัก

พอเอามารวมกับฐานที่มั่นใน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ กทม. ผนวกกับกระแสความนิยมที่มีต่อ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ย่อมมีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่พรรค จะมี สส.มากกว่า 100 คนอีกครั้ง  แต่จะไปได้ถึงจุดสูงสุดอีกครั้งหรือไม่นั้นยังต้องลุ้นเหนื่อยอีกหลายยก

ที่สุดแล้วโฉมหน้านายกฯ คนต่อไปคงหนีไม่พ้นหนึ่งในผู้นำของพรรคดังกล่าว ส่วนที่เหลือคงต้องดูว่าวุฒิสภาจาก คสช.จะปลื้มและพร้อมเทคะแนนให้หรือไม่ ต้องไปว่ากันอีกที