posttoday

"บิ๊กตู่" ความหวังสุดท้าย พลังประชารัฐ

05 กุมภาพันธ์ 2562

จุดแข็งของพรรคพลังประชารัฐ คือ อาศัยคะแนนนิยมจากผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้มาเพิ่มคะแนนเสียง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ยังมีเวลาจนถึงวันที่ 8 ก.พ.กับการ ยื่นต่อกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าบัญชีรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรคเป็นใครตามที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่เวลานี้หลายพรรคเริ่มมีความชัดเจนแล้วว่าพรรคไหนจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรีบ้าง

อาจจะเหลือก็แต่เพียงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่อยู่ระหว่างรอ คำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะรับคำเชิญเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หลังจากขอเวลาตัดสินใจ ซึ่งจะพิจารณาว่านโยบายพรรคตรงกับแนวคิดของตนเองหรือไม่

ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นที่รับรู้รับทราบของคนทั่วไปแล้วว่าที่มาที่ไปของพรรคพลังประชารัฐตลอดจนเป้าหมายสำคัญของพรรคคือการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสานต่อภารกิจที่เริ่มต้นไว้ในช่วงเป็นรัฐบาลกว่า 4 ปีที่ผ่านมาให้สำเร็จลุล่วงไปจนถึงจุดหมายปลายทาง

การขอเวลาตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงอาจเป็นเพียงแค่การดึงเวลารอดูท่าที ให้เห็นถึงการพินิจพิจารณาด้วยหลักการและเหตุผลก่อนการตัดสินใจตอบตกลงทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าคำตอบในใจคืออะไร

ยิ่งหากวิเคราะห์จากเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า จะพิจารณาจากนโยบายของพรรคพลังประชารัฐว่ามี นโยบายตรงกับแนวคิดของตัวเองหรือไม่แล้ว ยิ่งทำให้ทิศทางคำตัดสินใจ และเหตุผลประกอบที่จะออกมาชี้แจงต่อสาธารณะถึงการตอบรับเป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ

เริ่มตั้งแต่ที่มาที่ไปของพรรคพลังประชารัฐซึ่งมีแกนนำในรัฐบาลหลายคนร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรค  ไล่มาตั้งแต่ อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค  สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพรรค ซึ่งทั้งหมดได้เดินทางมาส่งหนังสือเชิญถึง พล.อ.ประยุทธ์  ที่ทำเนียบรัฐบาล

สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวพันเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาล คสช. และ พรรคพลังประชารัฐได้ในระดับหนึ่ง  ยังไม่รวมกับบรรดานโยบายต่างๆ ที่สอดประสานจนยากจะแยกจากกันได้ โดยเฉพาะ "นโยบายประชารัฐ" อันมีจุดกำเนิดจากรัฐบาลและถูกปลุกปั้นหวังให้เป็นผลงานชิ้นโบแดง

ก่อนที่พรรคพลังประชารัฐ จะหยิบยกมาขยายผลต่อยอดในหลายมิติ พุ่งเป้าดูแลกลุ่มประชาชนด้วยชุดนโยบายต่างๆ ที่เข้าถึงประชาชนทุกเพศทุกวัย ดังที่เห็นจากการเปิดตัวไปแล้วก่อนหน้านี้

อีกมุมหนึ่งนี่จึงถือเป็นจุดแข็งของพรรคพลังประชารัฐที่จะอาศัยคะแนนนิยมจากผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้มาเพิ่มคะแนนเสียงให้กับพรรคใหม่ซึ่งลงสนามเป็นครั้งแรก

ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์  แถลงผลงานจากการบริหารประเทศมาเป็นปีที่ 4 ได้สานต่อภารกิจของ คสช. พร้อมชู 6 ยุทธศาสตร์ ที่ทางรัฐบาลได้ช่วยแก้ปัญหาให้ประเทศชาติได้อย่างสำเร็จ  ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจดีขึ้นในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 4.3%  จากปี 2557 ที่โตเพียงแค่ 1%  และคาดว่า ปี 2562 นี้ มีแนวโน้มที่จะโต 4%

รวมไปถึง 4 ปีที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนรากหญ้ามาโดยตลอด โดยเฉพาะชาวเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือต่างๆ ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น อาทิ นโยบายกวาดล้างหนี้นอกระบบ การเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเด็กแรกเกิดไปจนถึงเบี้ยผู้สูงอายุแบบขั้นบันได

ดังนั้น หากไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคพลังประชารัฐย่อมอ่อนกำลังลงไปอย่างรุนแรง จนอาจถึงขั้นส่งผลต่อคะแนนนิยมและจำนวนเก้าอี้ สส. นั่นทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีทางเลือกที่จะต้องก้าวไปสู่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐเพื่อผนึกกำลังให้เข้มแข็งเพียงพอที่จะลงสู่สนามเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้

ยิ่งหากพิจารณาจากผลสำรวจความนิยมในช่วงเวลาที่ผ่านมาของ สำนักโพลต่างๆ ตัวเลือกที่จะมาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ประชาชน ชื่นชอบยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ที่คะแนนนำบรรดาอดีตนายกรัฐมนตรีในอดีต ตลอดจนแกนนำจากพรรคการเมืองต่างๆ

แม้แต่จะให้พรรคพลังประชารัฐ จะไปหาตัวเลือกอื่นที่มีคะแนนนิยม เทียบเท่า พล.อ.ประยุทธ์ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบรับคำเชิญนั้น ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย

หากดูไส้ในของพรรคพลังประชารัฐในส่วนของผู้สมัคร สส. ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดูดมาจากพรรคการเมืองอื่นๆ นั้น จะพบว่าหลายคนที่มี ชื่อเสียงหรือเป็นนักการเมืองที่รู้จัก คุ้นเคย บางส่วนเป็นอดีต สส.ที่ห่างพื้นที่มานานจนยากจะฝากความหวังในการลงชิงชัยในครั้งนี้

ต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีฐานเสียงชัดเจนของตัวเอง มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละพรรคล้วนรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตัวเอง ต่างจากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคใหม่

แต่ที่สำคัญที่สุด การได้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะสร้างความได้เปรียบให้กับพรรคพลังประชารัฐต่อเนื่องไปถึงหลังการเลือกตั้ง ในฐานะที่มีอำนาจหัวหน้า คสช.ในมือ

ยิ่งกลไกตามบทเฉพาะกาลเปิดช่องให้ 250 สว. ที่มาจาก คสช. เข้ามามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว หากเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า โอกาสที่ 250 เสียงนี้จะเทมายังพรรคพลังประชารัฐย่อมไม่ง่าย

ความหวังสุดท้ายพรรค พลังประชารัฐจึงอยู่ที่การตอบรับ คำเชิญเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา