posttoday

หวยไม่พลิก บิ๊กตู่ "พลังประชารัฐ"

28 มกราคม 2562

"พล.อ.ประยุทธ์" กำลังทำหน้าที่เป็นนายกฯ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์เหมือนกับรัฐบาลอื่นๆในช่วงการเลือกตั้ง

"พล.อ.ประยุทธ์" กำลังทำหน้าที่เป็นนายกฯ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์เหมือนกับรัฐบาลอื่นๆในช่วงการเลือกตั้ง

**************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 มี.ค.ส่งผลให้ทุกภาคส่วนนอกจากเหนือไปจากฝ่ายการเมืองต่างแสดงท่าทีตอบรับกับความชัดเจนในทางการเมืองครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง หลังจากอึมครึมมาเป็นเวลานาน

การประกาศเลือกตั้งกลายเป็นแรงบวกที่ช่วยให้แรงกดดันที่ถาโถมรัฐบาลได้รับการคลี่คลายลงอย่างเห็นได้ชัด อย่างน้อยบรรดากลุ่มคนอยากเลือกตั้งก็ไม่อาจหาเหตุมาชุมนุมเพื่อกดดันรัฐบาลได้อีก เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) น่าจะเบาหูไปได้เยอะเนื่องจากไม่ต้องคอยตอบคำถามเรื่องวันเลือกตั้งอีก

เมื่อรัฐบาลปลอดจากแรงกดดันทางการเมืองแล้ว ทีนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลจะใส่เกียร์เดินหน้าเต็มตัวในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จนกว่าจะถึงวันที่ 24 มี.ค.

เหตุที่ต้องบอกว่ารัฐบาลชุดนี้สามารถใส่เกียร์เดินหน้าได้เพราะแม้จะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว แต่ก็ยังใช้อำนาจบริหารได้สมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ โดยไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 บัญญัติไว้

ทั้งนี้ มาตรา 169 กำหนดห้ามไม่ให้คณะรัฐมนตรีที่กำลังรักษาการณ์ในระหว่างการจัดการเลือกตั้งดำเนินการใน 4 เรื่อง ดังนี้

1.ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กําหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจําปี

2.ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตําแหน่งหรือเงินเดือนประจําหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตําแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน

3.ไม่กระทําการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจําเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน

4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทําการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทําการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต.กําหนด

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลชุดนี้ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ แถมยังมีอำนาจตามเดิมอีก จึงเปรียบได้กับการมีน้ำมันเต็มถังสำหรับการพาตัวเองไปให้ถึงจุดหมายก่อนลงจากรถเมื่อถึงปลายทาง

จึงอย่าได้แปลกใจว่าทำไมพรรคพลังประชารัฐที่มีรัฐมนตรีในรัฐบาลมาร่วมงานด้วยถึง 4 คน ถึงได้มั่นใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะได้รับกระแสการตอบรับจากสังคม

แต่ความสนใจในการเลือกตั้งคงไม่ได้อยู่แค่เพียงการบริหารงานของรัฐบาลอย่างเดียว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกสายตาก็ต่างจับจ้องว่าใครจะเข้ามาเป็นนายกฯ คนที่ 30

เต็งหนึ่งในตำแหน่งนายกฯครั้งนี้ตกเป็นของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างไม่ต้องสงสัยภายหลังผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่างระบุตรงกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความเหมาะสมกับเก้าอี้นายกฯ มากที่สุด ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องการรักษาความสงบและความเด็ดขาดในการทำงาน

แม้ท่าทีของพรรคพลังประชารัฐจะยังสงวนไว้พอสมควรเกี่ยวกับการใส่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ในบัญชีว่าที่นายกฯ ของพรรค แต่ในทางปฏิบัติก็ต่างทราบกันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นชื่อเดียวกับที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ

การมี พล.อ.ประยุทธ์ เข้าร่วมเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐนั้นถ้าจะว่าไปก็เป็นจุดแข็งที่มีนัยสำคัญเช่นกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กำลังทำหน้าที่เป็นนายกฯ โดยไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการณ์เหมือนกับรัฐบาลอื่นๆ ที่ต้องเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ระหว่างจัดการเลือกตั้ง ข้อได้เปรียบตรงนี้ช่วยให้ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี บริหารประเทศและอนุมัติโครงการหรือนโยบายต่างๆ โดยไม่ต้องกั๊กและไม่ต้องห่วงว่าจะโดน กกต.ตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นโยบายหรือโครงการที่รัฐบาลจะออกมา แน่นอนว่าด้านหนึ่งจะเป็นการช่วยให้พรรคพลังประชารัฐนำไปต่อยอดเพื่อการหาเสียงในพื้นที่ โดยเฉพาะการชูความต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาล ที่ถึงแม้พรรคพลังประชารัฐจะได้เป็นรัฐบาลแล้วแต่นโยบายสวัสดิการประชารัฐจะยังเดินหน้าต่อไป

ผิดกับนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นลักษณะของการมานับหนึ่งใหม่ทั้งหมด ในประเด็นนี้จึงเป็นข้อได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐที่มีเหนือคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด

แต่กระนั้น จากจุดแข็งของการมี พล.อ.ประยุทธ์ มุมหนึ่งย่อมเป็นจุดด้อยได้เช่นกัน กล่าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะนายกฯ ที่มีอำนาจเต็มจะไม่สามารถช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงได้อย่างเต็มที่มากนัก หรืออาจจะช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงไม่ได้เลย

พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค หรือครั้นจะช่วยพรรคลงพื้นที่หาเสียงนอกเวลาราชการ ก็อาจถูกมองเรื่องการมีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วการมี พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน เหลือเพียงแต่พรรคพลังประชารัฐจะฝ่าด่านเพื่อไปสู่ชัยชนะอย่างไรเท่านั้น