posttoday

เดินหน้าเลือกตั้ง พลิกโฉมประเทศ

24 มกราคม 2562

จากนี้ไปต้องบอกว่าประเทศไทยนับหนึ่งเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยที่ไม่อาจมีอะไรมาเป็นอุปสรรคขวางได้อีกต่อไป แม้แต่มาตรา 44

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
       

เป็นไปตามที่ "วิษณุ เครืองาม" รองนายกรัฐมนตรี ประกาศไว้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง สส. และเมื่อถึงกลางสัปดาห์ก็มี พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวตามที่รองนายกฯ ระบุไว้ทุกประการ

จากนี้ไปต้องบอกว่าประเทศไทยนับหนึ่งเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยที่ไม่อาจมีอะไรมาเป็นอุปสรรคขวางได้อีกต่อไป แม้แต่มาตรา 44

เหตุที่ต้องเลียบๆ เคียงๆ ไปยังมาตรา 44 เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่เหมือนเดิมทุกประการ ซึ่งสามารถเนรมิตอะไรก็ได้ตามความต้องการ แต่ในทางปฏิบัติ ณ ตอนนี้ การใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปอีกนั้นไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

หากฝืนใช้มาตรา 44 หักด้ามพร้าเช่นนั้น การเมืองน่าจะเกิดความวุ่นวายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลและ คสช. จึงสรุปได้ว่าจากนี้ไปประเทศจะเดินหน้าไปสู่การเข้าคูหาลงคะแนนเลือกตั้งทันที

ทั้งนี้ ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้วจะมีขั้นตอนสำคัญบางประการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ดังนี้

1.ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ กกต.ต้องกำหนดวันเลือกตั้ง

2.ภายใน 25 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ กกต.กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งระยะเวลาของการรับสมัครต้องไม่น้อยกว่า 5 วัน

3.ภายใน 5 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ กกต.มีหน้าที่กำหนดสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ต้องแต่งตัวตามกฎหมายให้เรียบร้อยตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย มิเช่นนั้นจะหมดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส. ไม่ว่าจะเป็นการตั้งสาขาพรรคการเมืองให้ครบทุกภูมิภาค การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดอย่างน้อย 1 แห่ง เป็นต้น ซึ่งตามรายงานของ กกต.ล่าสุดมีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้ว

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ แน่นอนว่าทุกสายตาต้องจับจ้องไปที่ "พรรคพลังประชารัฐ" ในฐานะพรรคการเมืองน้องใหม่แต่หน้าเดิม เพราะถึงจะเป็นพรรคที่จัดตั้งได้ไม่นาน แต่อุดมไปด้วยผู้มากบารมีทางการเมืองหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรที่เป็นหัวเรือสำคัญในการรวบรวมและดึงอดีต สส.จากพรรคการเมืองเข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันเข้ามาร่วมงานด้วย จึงไม่แปลกที่พรรคนี้จะถูกมองว่ากำลังเป็นสถานีต่อไปของ คสช. และรวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะแคนดิเดต นายกฯ คนที่ 30

ความได้เปรียบของพรรคพลังประชารัฐนั้นจะว่าไปแล้วอยู่ตรงที่ความชัดเจนในแนวทางของการทำงานการเมือง ด้วยการประกาศตรงไปตรงมาว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ชิงตำแหน่งนายกฯ เท่ากับว่าพรรคจะกระแสดีหรือไม่ดีก็อยู่กับการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

เมื่อพลิกกลับไปดูรัฐธรรมนูญ พบว่า รัฐบาลชุดนี้ยังคงมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินเหมือนเดิม 100% ต่างจากรัฐบาลในอดีตที่จะถูกจำกัดบางประการทันทีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง

การไม่ถูกจำกัดการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเป็นข้อได้เปรียบสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐจะได้อานิสงส์จากความสำเร็จในเชิงนโยบายของรัฐบาล เรียกได้ว่าทั้งพรรคพลังประชารัฐและรัฐบาลต่างลงเรือลำเดียวกันแล้ว

ส่วน "พรรคเพื่อไทย" เป็นอีกพรรคที่ตอนแรกเหมือนจะมีปัญหาจากการถูกดูดและปัญหาภายใน แต่มาถึงตอนนี้ปรากฏว่ากระแสความนิยมทั้ง "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" และ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" กำลังพุ่งทะยานอย่างมีนัยสำคัญ หายใจรดต้อคอ พล.อ.ประยุทธ์ กันเลยทีเดียว

ถึงกระนั้นการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยก็ยังคงอยู่ในสภาพกระอักกระอ่วนพอสมควร เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องถูกจับตามองจาก กกต.เป็นพิเศษ ประกอบกับกฎหมายพรรคการเมืองที่ค่อนข้างเปิดโอกาสให้การยุบพรรคทำได้ง่ายขึ้น โอกาสที่ใช้วิธีการหาเสียงแบบ "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" เหมือนในอดีตทำไม่ได้เต็มที่ ทำให้ต้องหันมาใช้กลยุทธ์การหาเสียงผ่านการสร้างวาทกรรมทำนอง "เลือกฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อล้มเผด็จการ" แทน

ด้าน พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุมากที่สุดของพรรค พบว่ามีความพร้อมในทุกด้านแล้ว แต่เวลานี้ยังมีคำถามพอสมควรว่ากับสภาพของพรรคที่เป็นอยู่ตอนนี้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรค ยังดีพอกับการนำพาพรรคให้ชนะเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้ว การมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะปลายทางและบทสรุปของการเมืองจะเกิดขึ้นภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง

ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งและได้มีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล การเมืองและประเทศไทยย่อมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป