posttoday

เปิดข้อตกลง "เจบีซี ไทย-กัมพูชา"เงื่อนไขม็อบเหลืองล้อมรัฐสภา

01 พฤศจิกายน 2553

การประชุมรัฐสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้คงต้องรอดูว่าที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไรท่ามกลางม็อบที่มาล้อมรัฐสภา

การประชุมรัฐสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้คงต้องรอดูว่าที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไรท่ามกลางม็อบที่มาล้อมรัฐสภา

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

การประชุมรัฐสภาวันที่ 2 พ.ย.จะเป็นอีกครั้งที่จะเป็นชนวนให้การเมืองร้อนขึ้นมาด้วยความบังเอิญ เมื่อมีวาระการพิจารณาเรื่อง “ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission -JBC)” เพราะเป็นกลายเป็นประเด็นสำคัญที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จะขนพลพรรคเสื้อสีเหลืองมาชุมนุมกันที่หน้าอาคารรัฐสภาเพื่อต่อต้านไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว

เปิดข้อตกลง "เจบีซี ไทย-กัมพูชา"เงื่อนไขม็อบเหลืองล้อมรัฐสภา

ขณะที่ เมื่อมาดูในรายการเอกสารผลการประชุมเจบีซีที่กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำให้สมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย ซึ่งเป็นการให้รายละเอียดของการประชุมจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 10-12 พ.ย.2551 เมืองเสียมราฐ กัมพูชา ครั้งที่ 2 วันที่ 3-4 ก.พ.2552 กทม. และ ครั้งที่ 3 วันที่ 6-7 เม.ย.2552 โดยผลการประชุมทั้ง 3 ครั้งดังกล่าวมีข้อสรุปร่วมกัน ดังนี้

1.ระหว่างรอการจัดทำหลักเขตแดนทางบกภายใต้กฎหมายระหว่างสองประเทศในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารโดยเจบีซี ควรหลีกเลี่ยงการปะทะกันและการใช้กำลังโดยการปรึกษาหารือกันระหว่างคู่ภาคี

2. คู่ภาคีมีความมีตั้งใจจะใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุดและปฎิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดในความสัมพันธ์ชายแดนและยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาข้อพิพาทเขตแดนในพื้นที่โดยสันติวิธีในเจตนารมณ์ของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

3.คู่ภาคีจะปรับกำลังทหารของแต่ละฝ่ายออกจากวัด “แก้วสิขาคีรีสะวารา” แม่ทัพภาคที่สองของกองทัพบกไทยและผู้บัญชาการกองทัพภาคที่4ของกัมพูชา จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมร่วมกันเพื่อปฎิบัติให้ข้อบทนี้มีผล โดยผ่านทีมประสานงานชั่วคราว (Temporary Coordinating Teams) ของแต่ละฝ่าย

4.คู่ภาคีจะเก็บทุ่นระเบิดในลักษณะประสานงานกันในพื้นที่(กัมพูชา-ที่ติดกับปราสาทเปรียะวิเฮียร์) (ไทย-ที่ติดกับปราสาทพระวิหาร) ซึ่งจะต้องได้รับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนโดยเจบีซี

5.ข้อตกลงชั่วคราวนี้จะไม่กระทบสิทธิของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในกรอบของเจบีซีและท่าทีทางกฎหมายของแต่ละฝ่าย

ทั้งนี้สำหรับลายลักษณ์อักษรที่ประเด็นสำคัญที่ทำให้กลุ่มพธม.นำมาเป็นเงื่อนไขในการออกมาชุมนุม คือ ถ้อยคำที่ระบุอยู่ในร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยว่า

“ยืนยันอีกครั้งถึงสิทธิและพันธกรณีภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ลงนาม ณ กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2543 (ค.ศ.2000) รวมถึงแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วม 2546 (ค.ศ.2003)”

ในประเด็นนี้เองที่กลุ่มพธม.ได้ตั้งประเด็นว่าการที่รัฐบาลเองผลการประชุมเจบีซีทั้งสามครั้งที่มีการยืนยันถึงความชอบธรรมของบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู เป็นการยอมรับแผนที่ของฝรั่งเศสตามเอ็มโอยูนี้ และจะประตูสู่การเสียดินแดนของไทยในอนาคตหากรัฐสภาให้การยอมรับผลการประชุมเจบีซีทั้งสามครั้งในวันที่ 2 พ.ย.

ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แสดงความเป็นห่วงต่อกรณี ที่ประชุมรัฐสภาจะลงมติเห็นชอบในบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี จำนวน 3 ฉบับ ว่า อาจทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศกัมพูชา แม้จะไม่มีผลต่อการเสียดินแดนในทันทีก็ตาม แต่ในเนื้อหาประชุมเจบีซี ซึ่งอ้างอิงบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยู ปี 2543 ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ค. ว่ารับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนตารางกิโลเมตรของฝรั่งเศส

“อยากเรียกร้องให้รัฐบาลนำกรอบการเจรจาของไทยและกัมพูชา มาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมใหม่ในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อไม่ทำให้ประเทศชาติเสียหาย อย่างไรก็ตาม เห็นว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นชนวนเหตุให้กลุ่มพันธมิตรฯขัดแย้งกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นเพียงการเชื่อถือในข้อมูลที่แตกต่างกันเท่านั้น” นายคำนูณ กล่าว 

เพราะฉะนั้น การประชุมรัฐสภาที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้คงต้องรอดูว่าที่สุดแล้วรัฐบาลจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไรท่ามกลางม็อบที่มาล้อมรัฐสภา