posttoday

ดึงเกมเปิดตัวชิงนายกฯ'เพื่อไทย'ยิ่งถดถอย

22 มกราคม 2562

ทุกวันนี้สังคมส่วนใหญ่จำนวนไม่น้อย สับสนว่าพรรคเพื่อไทยจะให้ใครระหว่าง "คุณหญิงสุดารัตน์" หรือ "ชัชชาติ" เป็นแคนดิเดตตำแหน่งนายกฯ กันแน่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ถ้าไม่นับพรรคพลังประชารัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่า "พรรคเพื่อไทย" เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งพอสมควร

ปัจจัยหนึ่งที่เป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีความพร้อมไม่เป็นสองรองใคร หนีไม่พ้นเรื่อง "นโยบายบุคคล"

ในเรื่องของนโยบายนั้นพรรคเพื่อไทยประกาศมาตลอดว่าจะเน้นสานต่อความเป็นพรรคไทยรักไทยในอดีต คือ การเน้นการเข้าถึงประชาชนผ่าน โครงการต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจที่ช่วยให้พรรคเพื่อไทยผูกขาดการชนะเลือกตั้งมาเป็นเวลาหลายปี

เพียงแต่การออกมาตรการหาเสียงด้วยนโยบายครั้งนี้ต้องระวังพอสมควร เพราะกฎหมายพรรคการเมืองห้ามไม่ให้พรรคการเมืองถูกครอบงำจากบุคคลภายนอก ดังนั้น หากใครเผลอไป หาเสียงในทำนอง "ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ" เหมือนในอดีตขึ้นมา ย่อมมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่พรรคเพื่อไทยอาจถูกยุบ

นโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง แต่ต้องระวังเรื่องปากที่อย่าไปหลุดโยงกับนายใหญ่เท่านั้น ถ้ามีสติคุมคำพูดของตัวเองได้ ทุกอย่างน่าจะผ่านไปเรียบร้อย

ส่วนเรื่องของบุคคลนั้นในภาพรวมถือว่ามีความสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัดเจน ถึงแม้ในช่วงปรากฏการณ์ "ดูด" อดีต สส.ของพรรคเพื่อไทยจะออกจากพรรคไปอยู่กับพรรคการเมืองหลายคน แต่พอพ้นระยะเวลาที่ต้องมีเวลาการเป็นสมาชิกพรรคให้ครบ 90 วัน พบว่าแกนนำอดีต สส.ขาใหญ่หลายคนก็ยังอยู่กับพรรคไม่ได้หนีไปได้กันมาก ส่วนบางกลุ่มที่ไปอยู่กับพรรคอื่นๆ ที่เป็นสาขาของพรรคเพื่อไทย ที่สุดแล้วไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากถ้าถึงเวลานับตัวเลขเพื่อร่วมรัฐบาลก็น่าจะเข้ามาเชื่อมกันได้อย่างไร้ปัญหา

ดูอย่างนี้แล้วพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากมาย แต่ถ้าพินิจพิเคราะห์ลงไปจะพบว่าจริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทยกำลังมีหนึ่งปัญหาและยังเป็นปัญหาสำคัญด้วย คือ การชูตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคการเมืองอื่นๆ เปิดตัวไปครบแล้ว เช่น พรรคประชาธิปัตย์ เสนอ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" พรรคอนาคตใหม่ ดัน "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หรือพรรคพลังประชารัฐ ที่ยังบอกแบบ อ้อมๆ แต่ในทางการเมืองก็ทราบดีว่าต้องเป็น "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผิดกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังแทงกั๊กจนถึงปัจจุบัน

พรรคเพื่อไทยมีสองคนที่มีดีกรีพอเป็นตัวเต็งชิงตำแหน่งนายกฯ ได้ คือ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" และ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"

ทั้งสองคนมีความโดดเด่นไปกันคนละแบบ คนหนึ่งเป็นสุภาพสตรีที่มีประสบการณ์และการทำงานทางการเมืองค่อนข้างสูงและผ่านตำแหน่งบริหารมากมาย ส่วนอีกคนเป็นคนรุ่นใหม่ที่เจิดจรัสมาตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเจ้าของไอเดียโครงการรถไฟความเร็วสูง แม้โครงการนี้จะไปไม่ถึงฝั่งเพราะติดปัญหาด้านกฎหมาย แต่ก็ได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนเช่นกัน

ถ้าจะบอกว่าพรรคเพื่อไทยมีเสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันก็คงไม่ผิดนัก

ที่ผ่านมา หนึ่งในเสือใหญ่ของพรรคเพื่อไทยอย่าง "ชัชชาติ" มักจะออกตัวในทำนองใส่เกียร์ถอยยอมให้คุณหญิงสุดารัตน์เป็นนายกฯ หมายเลขหนึ่งของพรรค เพราะยอมรับว่าสังคมรู้จักคุณหญิงสุดารัตน์มากกว่า

แต่ถึงชัชชาติจะหลีกทางให้ คุณหญิงสุดารัตน์ ทว่าพรรคเพื่อไทยหรือแม้แต่ตัวคุณหญิงสุดารัตน์ก็ยังไม่ยอมประกาศตัวขอท้าชิงตำแหน่งนายกฯ ชัดเจน มีเพียงแค่ขอโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งเท่านั้น

หมากเกมนี้ พรรคเพื่อไทยกำลังเดินเหมือนกับเมื่อครั้ง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ก้าวเข้ามาทำงานการเมืองเมื่อปี 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องการเก็บตัวผู้นำไว้จนถึงวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้เป็นเป้าโจมตีทางการเมือง กรณีของคุณหญิงสุดารัตน์ก็เช่นเดียวกัน พรรคเพื่อไทยต้องการสร้างเกราะคุ้มกันไม่ให้คุณหญิงสุดารัตน์เป็นเป้าโจมตีของพรรคการเมืองใด

การเดินเกมนี้อย่างที่ทำอยู่ ด้านหนึ่งอาจช่วยคุณหญิงสุดารัตน์ก็จริง แต่มุมกลับกันกำลังจะเป็นการทำร้ายพรรคเพื่อไทยโดยไม่รู้ตัว

การเมืองยุคดิจิทัล หรือ 4.0 เป็นยุคที่คนส่วนใหญ่ต้องการความชัดเจนเพื่อประกอบการตัดสินใจ การเล่นการเมืองแบบเหยียบเรือสองแคมเหมือนในอดีตไม่สามารถใช้ได้ดีในสถานการณ์ปัจจุบัน

เมื่อประชาชนต้องการความชัดเจนในเรื่องนโยบายฉันใด ประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ต้องการรู้ตัวว่าที่ผู้นำประเทศของตัวเองฉันนั้น อย่างกรณีของพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคประชาธิปัตย์ที่ประกาศตัวผู้นำชัดเจน ปรากฏว่าทำให้การหาเสียงทำได้ง่ายกำหนดยุทธศาสตร์และ เป้าหมายได้ชัดเจน พร้อมกับสามารถสร้างฐานเสียงใหม่ๆ ขึ้นมาได้

พลิกมาดูพรรคเพื่อไทย ทุกวันนี้สังคมส่วนใหญ่จำนวนไม่น้อยน่าจะสับสนว่าพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไรกันแน่ว่าจะให้ใครระหว่าง "คุณหญิงสุดารัตน์" หรือ "ชัชชาติ" เป็นแคนดิเดตตำแหน่งนายกฯ กันแน่ ซึ่งถามว่าพรรคเพื่อไทยรู้ปัญหานี้หรือไม่ แน่นอนว่าย่อมรู้อยู่เต็มอก แต่ก็ยังทำอะไรได้ไม่มากนัก เนื่องจากโครงสร้างการบริหารพรรคเพื่อไทยที่มีความสลับ ซับซ้อนเป็นอุปสรรคขวางอยู่

ดังนั้น ถ้ายังไม่รีบแก้ไข สถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยเคยคิดว่าได้เปรียบคู่แข่ง ย่อมอาจไม่เป็นเช่นนั้นและส่งผลเสียในบั้นปลายก็เป็นได้