posttoday

3 ขั้วชิงเก้าอี้นายกฯ "บิ๊กตู่-หน่อย-มาร์ค"

21 มกราคม 2562

สถานการณ์การเมืองในการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่30 ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ น่าจะเหลือคู่แข่งเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

สถานการณ์การเมืองในการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่30 ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ น่าจะเหลือคู่แข่งเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

***********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเลือกตั้งของประเทศไทยแทบทุกครั้ง ไม่เพียงแต่เป็นการเลือก สส.โดยตรงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยอ้อมไปในตัว เพราะทันทีที่คะแนนหรือผลการเลือกตั้งออกมา ย่อมจะทำให้คนไทยทั้งประเทศไทยพอเห็นได้ว่าใครจะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การเลือกตั้งภายใต้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมด้วยระบบบัตรเลือกตั้ง สส.แบ่งเขตเลือกตั้งเพียงหนึ่งใบ จะมีทั้งการเลือก สส.ระบบแบ่งเขต สส.ระบบบัญชีรายชื่อ และรวมไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย เรียกว่า “ทรีอินวัน”

แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้บัญญัติการเลือกนายกฯ โดยตรงจากประชาชน แต่การออกแบบของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ทำให้ดูเสมือนหนึ่งว่าคนไทยกำลังได้โอกาสลงคะแนนเลือกนายกฯ โดยตรง

กล่าวคือ กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญกึ่งๆ บังคับให้พรรคการเมืองต้องเปิดบุคคลที่เสนอตัวเป็นนายกฯ ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันสมัครเลือกตั้งไม่เกิน 3 คน ที่บอกว่ากึ่งบังคับนั้น เพราะพรรคการเมืองจะเสนอหรือไม่เสนอชื่อว่าที่นายกฯ ก็ได้

การกำหนดไว้เช่นนี้ กรธ.มีวัตถุประสงค์เพื่อให้พรรคการเมืองต้องแสดงความชัดเจนต่อประชาชนว่าพรรคการเมืองนั้นจะต้องการให้ใครมาเป็นนายกฯ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัคร สส.พรรคการเมืองนั้นหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดระบบ “บุคคลที่มองไม่เห็น” เหมือนในอดีตที่ผลการเลือกตั้งและได้พรรคเสียงข้างมากแล้ว แต่คนไทยก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นนายกฯ

ประกอบกับระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญเกิดกระแสวิจารณ์เกี่ยวกับ “นายกฯ คนนอก” สืบทอดอำนาจดังนั้นเพื่อเป็นการตัดปัญหา กรธ.จึงกำหนดกระบวนการดังกล่าวเอาไว้ เพื่อจะได้ไม่มาหวาดระแวงกันภายหลังเหมือนในอดีต

สถานการณ์การเมืองในการแย่งชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 น่าจะเหลือคู่แข่งเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าจะบอกว่าบิ๊กตู่เป็นเต็งหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากผลการสำรวจคะแนนความนิยมของหลายสำนักต่างยกให้เป็นคนที่เหมาะสมกับตำแหน่งผู้นำประเทศมากที่สุด เหนือกว่าคู่แข่งของพรรคการเมืองอื่น

แต่ความได้เปรียบที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ คือการมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

โดยปกตินายกฯ ที่ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและลงสนามเลือกตั้ง ต่างก็ได้เปรียบพรรคฝ่ายค้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สำหรับกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ มีความได้เปรียบที่เหนือกว่าขึ้นไปอีกถึง 2 ชั้น

ชั้นที่ 1 ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดในการบริหารราชการแผ่นดินระหว่างการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีและ คสช.มีอำนาจเต็ม 100% ตามปกติจนกว่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ หมายความว่าในระหว่างการเลือกตั้งรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จะออกนโยบายหรือมาตรการใดๆ ก็ได้

ชั้นที่ 2 การเลือก สว.ของ คสช. รัฐธรรมนูญบัญญัติให้วุฒิสภามีสิทธิร่วมลงมติกับ สส.ในการเลือกนายกฯ กลางที่ประชุมรัฐสภา และวุฒิสภาจำนวน 250 คน จะมาจากการเลือกตั้งของ คสช.ถึง 244 คน ส่วนอีก 6 คนจะเข้ามาโดยตำแหน่งในฐานะผู้นำเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม

เรียกได้ว่าบิ๊กตู่มีเสียงในสภาแล้วถึง 250 เสียง ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของพรรคพลังประชารัฐว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้ได้ สส.ตามเป้า โดยต้องเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เป็นแค่เสียงข้างมาก สว.เท่านั้น

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย เป็นอีกคนหนึ่งที่ประกาศท้าชนกับ คสช.เต็มตัว หมากที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการเดินไปสู่ชัยชนะ คือ การอาศัยข้อผิดพลาดของ คสช.และรัฐบาลเกี่ยวกับการบริหารประเทศและนำเสนอนโยบายใหม่เทียบกับของรัฐบาล เพื่อดึงกระแสคนรุ่นใหม่และคนเบื่อทหารมาร่วมสนับสนุนพรรคเพื่อไทย

จุดแข็งของพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีแต่เพียงนโยบายอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่บรรดาตัวผู้สมัคร สส.ที่ยังทำพื้นที่ต่อเนื่อง ผนวกกับอดีต สส.เกรดเอยังอยู่กับพรรคจำนวนไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ อย่าได้แปลกใจว่าทำไมคุณหญิงสุดารัตน์ถึงประกาศท้ารบกับ คสช.อย่างตรงไปตรงมา

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นตัวเต็งนายกฯ ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งภาพของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงขายได้อยู่บ้าง ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและฐานแฟนคลับเดิมของตัวเอง โดยชั่วโมงทางการเมืองของอดีตนายกฯ รายนี้ไม่ได้เป็นสองรองใคร แต่ถ้าเทียบขุมกำลังภายในพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคการเมืองอื่นแล้ว ต้องยอมรับว่าอภิสิทธิ์ต้องร่วมหัวจมท้ายกับพรรคอีกพอสมควร

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีตัวเต็ง 3 คนตามที่ระบุมา แต่ก็ไม่อาจมองข้ามคลื่นลูกใหม่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ไปได้ เพราะมีทีเด็ดที่พร้อมจะเข้ามาเป็นตัวสอดแทรกได้เช่นกัน

การเลือกตั้งครั้งนี้มีเดิมพันสูงกว่าทุกครั้ง เก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 จะเป็นของใคร การเมืองไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงไปได้