posttoday

แจกเงินน้ำท่วมเขย่าสัมพันธ์ปชป.-ภท.

01 พฤศจิกายน 2553

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงความไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงความไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”

เห็นได้จากการขบเหลี่ยมกันของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่ออาศัยสถานการณ์นี้หาเสียงแฝงเพื่อเตรียมการการเลือกตั้งไปด้วย โดยการลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมของ “อภิสิทธิ์” ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาไร้เงา “ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย หรือ “บุญจง วงศ์ไตรรัตน์” มท.2 จากภูมิใจไทย เคียงข้าง ทั้งที่ มท.1 ควรต้องลงไปพร้อมๆ กับนายกฯ เพื่อรับฟังปัญหาด้วยกัน เพราะมหาดไทยมีกลไกทั้งส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นที่จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีเอกภาพ แต่ภาพที่เกิดขึ้นกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะส่วนใหญ่มีลักษณะต่างคนต่างทำ

แจกเงินน้ำท่วมเขย่าสัมพันธ์ปชป.-ภท.

 ล่าสุดเป็นปมคาใจกันอีกครั้งระหว่างประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยเรื่องการชิงกันเป็นเจ้าภาพจ่ายค่าชดเชยภัยน้ำท่วมครัวเรือนละ 5,000 บาท จำนวนกว่า 5.8 แสนครัวเรือน รวมวงเงินประมาณ 2,900 ล้านบาท ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันที่ 1 พ.ย. โดยฝ่ายภูมิใจไทยเห็นว่าควรจ่ายเงินส่วนนี้ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ขณะที่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามสถานการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) เห็นว่าควรจ่ายผ่านสถาบันการเงินของรัฐ อาทิ ธนาคารการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน เพื่อไม่ให้เกิดความรั่วไหลและเงินต้องถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง เหมือนกรณีเช็คช่วยชาติ

ทั้งนี้ เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อครัวเรือน ถือว่าเป็นงบที่ฝ่ายการเมืองทุกพรรคหมายตาเป็นอย่างมาก เพราะการช่วยเหลือแบบปูพรมแบบนี้ทำได้ไม่บ่อยนัก ทำให้ฝ่ายการเมืองทั้งประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยอยากจะเข้ามาบริหารเอง เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมถึงมือประชาชน และเพื่อที่จะสร้างคะแนนนิยมได้มากที่สุดมากกว่าการช่วยเหลือแบบรูปอื่นๆ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในสภาวะแบบนี้สำหรับทางการเมืองแล้วเรียกได้ว่าเป็นช่วงน้ำขึ้นให้รีบตัก ที่แต่ละพรรคต้องถือโอกาสช่วงชิงความได้เปรียบหาเสียงแฝงกันอย่างเต็มที่ ทั้งในจังหวัดที่เป็นฐานเสียงเดิมและจังหวัดที่หวังจะสร้างฐานเสียงใหม่
ก่อนหน้านี้ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุวิกฤตใหม่ๆ“ชวรัตน์ ชาญวีรกูล” รมว.มหาดไทย เป็นผู้เปิดประเด็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเป็นครั้งแรก ว่า ควรมีการช่วยเหลือประชาชนแบบปูพรมครัวเรือนละ 1 หมื่นบาทไปเลย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยเร็วที่สุด แต่ถูก “อภิสิทธิ์” แตะเบรกไว้ และได้ให้ “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ในเรื่องระเบียบต่างๆ จนเป็นที่มาของการอนุมัติงบกลางจำนวน 2,900 ล้านบาท ขณะที่ผู้เสียชีวิตจากเดิมกรณีหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิตได้ 5 หมื่นบาท เพิ่มเป็น 1 แสนบาท กรณีสมาชิกครอบครัวเสียชีวิตได้ 2.5 หมื่นบาท เป็น 7.5 หมื่นบาท

งานนี้เรียกได้ว่าประชาธิปัตย์ปาดหน้าเค้กภูมิใจไทยไปเรียบร้อย เพราะจากฝ่ายที่เสนอไอเดียในตอนนี้ทำได้เพียงแค่นั่งมองตาปริบๆ เท่านั้น เพราะ “อภิสิทธิ์” เลือกที่จะรวบเอาเรื่องการแก้ไขวิกฤตน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์มาดูแลเองทั้งหมด ด้วยการแต่งตั้ง “อภิรักษ์โกษะโยธิน” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย พร้อมกับแต่งตั้งให้ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คชอ. ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนของประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ขณะที่ภูมิใจไทยต้องกลายเป็นลูกเมียน้อย เพราะมีหน้าที่สำรวจรายชื่อคนตกสำรวจให้กับ คชอ.เท่านั้น
เหตุที่เป็นเช่นนี้เห็นได้ชัดว่า “อภิสิทธิ์” ไม่ไว้ใจภูมิใจไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชื่อเสียงที่ภูมิใจไทยถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในกระทรวงต่างๆ ที่ภูมิใจไทยกำกับดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์

และเห็นมาแล้วว่าภูมิใจไทยถนัดเรื่องหาเสียงแฝงกับนโยบายของรัฐอย่างเปิดเผย แต่เนียนสนิท เพราะภูมิใจไทยเคยเปิดรับสมาชิกพรรคกลางงานปกป้องสถาบันมาแล้ว รวมถึงกรณีการแจกนามบัตรแนบไปกับการแจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ของ “บุญจง” รมช.มหาดไทย และล่าสุดมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันว่ามีพรรคการเมืองหนึ่งกระทำการหากินกับถุงยังชีพของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ด้วยการใช้ถุงผ้าเปล่าที่มีสัญลักษณ์ของพรรคสีน้ำเงินสวมทับถุงของ ปภ. เสมือนว่าพรรคการเมืองดังกล่าวนำถุงยังชีพมาแจกเอง

ด้วยเหตุนี้ “อภิสิทธิ์” จึงต้องระมัดระวังให้มากที่สุด เพราะการบริหารวิกฤตที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวมาก หากทำได้ดีก็แล้วไป แต่หากผิดพลาดคงพังไม่เป็นท่า เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนผู้บอบช้ำหลายล้านคน ที่ไม่อยากอยู่ในสภาพเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะก่อนหน้านี้มีบทเรียนมาแล้วจากกรณีปลากระป๋องเน่า ซึ่งหากซ้ำรอยขึ้นมาอีกกฎเหล็ก 9 ข้อก็คงไม่สามารถกู้ศรัทธาของประชาชนได้ และนายกฯ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ซึ่ง “อภิสิทธิ์” เองก็รู้เรื่องดีจึงสั่งให้ทุกกระทรวงมีการปรับลดงบประมาณการช่วยเหลือฟื้นฟูแล้ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับงบกลางมากจนเกินไป
ขณะที่ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” รมว.ยุติธรรม จากประชาธิปัตย์ เล่นบทซูเปอร์ซับด้วยการมอบหมายให้ “อำพล วงศ์ศิริ” รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ (ศปพ.) เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องการใช้งบภัยพิบัติของรัฐบาลในจังหวัดต่างๆ ว่าได้มีการใช้จ่ายถูกต้องตามระเบียบหรือไม่

เนื่องจากการเยียวยาฟื้นฟูความบอบช้ำจากหายนะครั้งนี้จะต้องมีหลายมาตรการตามมาอีกมาก และต้องใช้งบประมาณมหาศาล โดย “อภิสิทธิ์” คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่าหมื่นล้านบาท ทั้งการชดเชยกับเกษตรกรที่ประสบภัยกว่าหลายล้านไร่ การปรับปรุงโรงเรียน โรงพยาบาล การช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ขณะที่เรื่องถนนหนทางนั้น “โสภณซารัมย์” รมว.คมนาคม จากภูมิใจไทย คิดไว้เบื้องต้นไม่น่าจะต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ต้องติดตามเรื่องการเยียวยาน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ว่าภูมิใจไทยจะยอมเป็นเพียงตัวประกอบของสถานการณ์เช็ดน้ำตาประชาชนจากน้ำท่วมครั้งนี้ต่อไปหรือไม่ และจะมีการแผลงฤทธิ์อย่างไร การประชุม ครม.เศรษฐกิจในวันนี้จะได้รู้กัน

อีกทั้งนายกฯ เองได้พูดเรื่องเลือกตั้งปีหน้าบ่อยๆ จึงอาจเป็นไปได้ว่าเทศกาลสะสมกระสุนอาจมาเร็วกว่าปกติ และหากการจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว และยังมีเรื่องคาใจกันระหว่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์มากขึ้นทุกวันแบบนี้ อาจจะเร่งให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิดก็ได้