posttoday

วัดกำลังศึกชิงดำ "ประยุทธ์" ชน "ทักษิณ"

02 มกราคม 2562

การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมี2ขั้วใหญ่ทางการเมืองที่เปิดศึกขับเคี่ยวท้าชิงกันอย่างดุเดือด

การเลือกตั้งครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะมี2ขั้วใหญ่ทางการเมืองที่เปิดศึกขับเคี่ยวท้าชิงกันอย่างดุเดือด

***********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้เริ่มเดินเครื่องเต็มสูบ หลังวันที่ 2 ม.ค. 2562 เมื่อ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง สส. เปิดทางให้พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งได้เต็มที่

ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมี 2 ขั้วใหญ่ทางการเมืองที่เปิดศึกขับเคี่ยวท้าชิงกันอย่างดุเดือด ระหว่างฝ่าย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตว่าที่ผู้ท้าชิงนายกรัฐมนตรีคนต่อไปในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กับฝ่าย “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นฝ่ายนำของพรรคเพื่อไทย (พท.) กับกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองที่ต้านไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ สืบทอดอำนาจได้อีกสมัย

หากวัดกำลังจากพันธมิตรทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างหนุนให้ฝ่ายตนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เริ่มที่ฝ่ายหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” พรรคอันดับหนึ่ง คือ พปชร. กล่าวขานกันว่าแน่นทั้งอดีต สส. และกลุ่มทุนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรที่สลายเป็นเนื้อเดียว พปชร.ไปแล้ว อาทิ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” อดีต สส.สุโขทัย นักการเมืองใหญ่ผนึกกำลังกับ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” นักธุรกิจและนักการเมืองชื่อดังระดับหมื่นล้าน ที่ขนอดีต สส.ดังๆ เข้าพรรคกว่าร้อยชีวิต

พปชร.จึงกลายเป็นแหล่งรวม “ก๊วน” ใหญ่ทางการเมืองจำนวนมาก อาทิ กลุ่มชลบุรี อดีตพรรคพลังชล นำโดย “สนธยา คุณปลื้ม” อดีตรัฐมนตรี และอดีต สส.ชลบุรี ทุนใหญ่ตระกูล “คุณปลื้ม” ผู้กว้างขวางภาคตะวันออก

แถมได้ก๊วนอุบลฯ ของ “ปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข” อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ก๊วนโคราช ของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีต สส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ก๊วนกาญจนบุรี ของ “ธรรมวิชญ์” และ “อัฎฐพล” โพธิพิพิธ บุตรชายของ “ประชา โพธิพิพิธ” หรือกำนันเซี๊ยะ อดีต สส.กาญจนบุรี พรรคประชาธิปัตย์

สำหรับพันธมิตรทางการเมืองที่ประกาศตัวชัดเจนที่สุดว่าหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรี มีเพียงพรรคเดียว คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” นักการเมืองรุ่นเก๋า ฝีไม้ลายมือระดับเซียนการเมืองจัดตั้งรัฐบาล และดันนายกรัฐมนตรีมาแล้วหลายคน ขณะนี้เดินสายคารวะแผ่นดินชักชวนให้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกหน

อีกพรรคแม้ขนาดจิ๋วแต่แจ๋วน่าจับตามอง คือ “พรรคพลังท้องถิ่นไท” ที่มี “ชัชวาลย์ คงอุดม” เจ้าของธุรกิจสื่อชื่อดังบนถนนราชดำเนินที่รู้จักกันดีว่ามีอิทธิพลสูง ที่สำคัญสนิทแนบแน่นกับ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในแกนนำกลุ่มสามมิตร กำลังสำคัญในการตั้งพรรค พปชร.จึงคาดหมายได้ว่าคงหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” เช่นกัน

ส่วนท่าทีพรรคขนาดกลางอื่นๆ ยังคงอาการแทงกั๊กรอดูผลการเลือกตั้งออกมาก่อนว่าจะแลนด์สไลด์ไปฝ่ายใด ระหว่าง “ทักษิณ” หรือ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่พร้อมร่วมรัฐบาลอยู่แล้วไม่ว่าฝ่ายใดคะแนนนำ อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา ที่แม้สิ้นบุญ “บรรหาร ศิลปอาชา” ตกทอดมาสู่รุ่นลูก “หนูนา” กัญจนา ศิลปอาชา ทายาทมังกรเติ้ง เป็นหัวหน้าพรรค โดยมี “ประภัตร โพธสุธน” เลขาธิการพรรค หรือพรรคภูมิใจไทย “อนุทิน ชาญวีรกูล” หรือ “เสี่ยหนู” หัวหน้าพรรค ล้วนมี สส.ในกำมือจำนวนหนึ่งตุนไว้ในมือรอเสียบเท่านั้นจึงยังไม่ยอมแบไต๋ว่าจะเทไปฝ่ายใด

ความได้เปรียบฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ อีกอย่าง คือ มีกลไกภาครัฐสนับสนุน โดยเฉพาะ 4 รัฐมนตรี “อุตตม สาวนายน” รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รมว.พาณิชย์ ในฐานะเลขาธิการ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นั่งถ่างขาระหว่างรัฐมนตรีกับผู้บริหารพรรค พปชร.จึงได้เปรียบในการใช้กลไกรัฐสนับสนุนการเคลื่อนไหวเชิงนโยบาย

แต่พรรคที่ยังสงบนิ่งไม่กล้าออกตัวที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำโดย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แต่อาจมีเซอร์ไพรส์ในภายหลังได้หากพรรค พปชร.ได้คะแนนนำ หรืออาจเป็นฝ่ายค้านร่วมกับกลุ่ม “ทักษิณ” ก็เป็นได้ สำหรับกำลังของฝ่าย “ทักษิณ” ที่ประกาศตัวว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีแนวร่วมโดยใช้กลยุทธ์ แยกกันเดินร่วมกันตี แตก “พรรคสาขา” ได้แก่ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคไทยรักษาชาติ โดยมีเป้าหมายดัน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ท้าชิงนายกรัฐมนตรีกับ พล.อ.ประยุทธ์

สำหรับแนวร่วม “ทักษิณ” อาทิ พรรคอนาคตใหม่ ที่มี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค เป้าหมายเก็บคะแนนจากคนรุ่นใหม่ พรรคประชาชาติ ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งมีจุดยืนชัดเจน หวังกวาดคะแนนในเขต 5 จังหวัดภาคใต้มาช่วยหนุน หรือพรรคพลังปวงชนไทย มี พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร อดีต ผบ.ทบ.ในรัฐบาลไทยรักไทย เป็นแกนนำพรรค ที่หวังจะไปรวบรวมคะแนนเสียงจากเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่นและ จ.ราชบุรี อันเป็นฐานที่มั่นหลักของพรรค หรือพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรคเพื่อชาติ พรรคเพื่อธรรม พรรคประชาธิปไตยใหม่ เป็นต้น ล้วนเป็นพรรคขนาดเล็กๆ ที่ี่คอยเก็บตกคะแนนจากกระแส ไม่เอา “พล.อ.ประยุทธ์” สืบทอดอำนาจ มาหนุนฝ่าย “ทักษิณ” ให้คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

ส่วนฝ่ายใดจะแพ้หรือชนะยังฟันธงไม่ได้ ต้องรอวันที่ 24 ก.พ.นี้ ว่าประชาชนจะหนุนฝ่ายใด