posttoday

แบ่งเขตเลือกตั้ง ชนวนเดือดรอบใหม่

03 ธันวาคม 2561

การทำงานของกกต.ในยุครัฐบาลคสช.นั้น ถูกเพ่งเล็งมากกว่าปกติยิ่งกว่า กกต.ในอดีต

การทำงานของกกต.ในยุครัฐบาลคสช.นั้น ถูกเพ่งเล็งมากกว่าปกติยิ่งกว่า กกต.ในอดีต

*********************************

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เกือบจะ 100% แล้วสำหรับทิศทางและกลไกที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง สส.ครั้งแรกของประเทศไทยในรอบ 5 ปี ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 เขตอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา

การประกาศดังกล่าวทำให้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนพอสมควรแล้วว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562 ค่อนข้างแน่นอนแล้ว เหลือเพียงแต่รอความชัดเจนจากรัฐบาลในการจัดทำพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้งเท่านั้น จากเดิมที่หลายฝ่ายเกิดอาการผวาว่าการเลือกตั้งของไทยจะต้องเจอโรคเลื่อนไปอีกรอบ

ต้องยอมรับว่าการทำงานของ กกต.ชุดนี้ ถูกจับตามองจากแต่ละฝ่ายอย่างใกล้ชิดทั้งในลักษณะของการให้กำลังใจและจ้องจับผิดไปในคราวเดียวกันว่า กกต.ชุดนี้จะทำงานด้วยความเป็นกลางหรือไม่ เนื่องจาก กกต.เข้ามาโดยมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

กกต.ก็รู้ถึงสถานการณ์ตรงนี้เป็นอย่างดี จึงพยายามหลบเลี่ยงการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ คสช.มากนัก แต่จนแล้วจนรอดก็หนีไม่พ้นจนได้
ภายหลัง คสช.ใช้มาตรา 44 เพื่อคุ้มครองการทำงานของ กกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ให้ถือว่าการทำงานของ กกต.เป็นที่สุด

การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ก่อนที่จะประกาศออกได้เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ต้องปะทะกับกระแสวิจารณ์พอสมควร ด้วยเหตุที่ กกต.ควรต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวหาผู้สมัครได้ทัน

แต่กลายเป็นว่ามีตอใหญ่ปักหลักขวางกลางลำน้ำอยู่ ทำให้ กกต.ทำงานต่อไปลำบาก จนกระทั่ง คสช.ต้องเข้ามาอุ้ม กกต.ให้ทำงานจนแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นความปรารถนาดีของ คสช. แต่ภาระสุดท้ายกลับไปตกที่ กกต.เข้าอย่างจัง เนื่องจากนับจากนั้นเป็นต้นมา กกต.ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานเรื่องความเป็นกลางขึ้นมาทันที

ต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ คสช.และรัฐบาลเองก็มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ไม่น้อย กล่าวคือมีรัฐมนตรีในรัฐบาลถึง 4 คน เข้าไปร่วมทำงานกับพรรคพลังประชารัฐ อีกทั้งก็เป็นที่ทราบ
กันดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คือ คนเดียวในดวงใจของพรรคพลังประชารัฐที่จะเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ

จึงไม่แปลกที่ กกต.ต้องถูกเพ่งเล็ง มากกว่าปกติยิ่งกว่า กกต.ในอดีต

มาถึงตอนนี้ดูเหมือนว่า กกต.กำลังตกที่นั่งลำบากพอสมควร หลังจากการแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่งเสร็จสิ้นไป เพราะหลายพรรคการเมืองต่างมองตรงกันว่าการลากเส้นแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้มีความเทาๆ อยู่พอสมควร อย่างเช่น ในกรณีของ จ.สุโขทัย ที่มีความน่าสงสัยอย่างเห็นได้ชัด

“จำนวนประชากรแบบเก่ากับแบบใหม่อาจใกล้เคียงกัน แต่พื้นที่เขตเลือกตั้งในเขต 2 ระหว่าง อ.บ้านด่าน ลานหอย กับทุ่งเสลี่ยม มันติดกันตรงไหนครับ มีส่วนติดกันอยู่แค่ประมาณ 500 เมตร ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ที่ว่าพื้นที่เลือกตั้งในแต่ละเขตต้องติดต่อใกล้ชิดกัน มันติดต่อใกล้ชิดกันตรงไหน” การตั้งข้อสังเกตของ สัมพันธ์ ตั้งเบญจผล อดีต สส.สุโขทัย พรรคประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับ พรรคเพื่อไทย ก็ออกมาแสดงความคิดเห็นว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างเห็นได้ชัด

“แสดงให้เห็นว่าข้อกังวลเรื่องการจัดการเลือกตั้งที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองบางพรรคนั้นมีอยู่จริง การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกาศออกมาประมาณ 20-30% นั้นมีผลสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่นอกเหนือจากกฎเกณฑ์เดิม โดยเฉพาะบางเขตถูกแบ่งเป็น 4-5 ส่วน เช่น เขตเลือกตั้งในโคราช สุโขทัย อุบลราชธานี เป็นต้น” คำวิจารณ์จาก ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย

ในส่วนของรัฐบาลยังพยายามสงวนท่าทีต่อเสียงวิจารณ์เรื่องนี้พอสมควร ด้วยการอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงของเขตเลือกตั้งย่อมเป็นไปตามจำนวนประชาชนที่เพิ่มขึ้นและลดลงในแต่ละปี โดยไม่ได้มีนัยทางการเมืองแต่อย่างใด

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ออกมาปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเมืองเริ่มร้อนขึ้นมาทันที โดยเฉพาะความโปร่งใสของการจัดเลือกตั้ง

ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อประมาณ 60 ปีที่แล้ว คือ วันที่ 26 ก.พ. 2500 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งด้วยความโปร่งใส ปรากฏว่ามีการใช้อำนาจรัฐและบังคับข้าราชการให้มาสนับสนุนรัฐบาล เพื่อหวังให้รัฐบาลได้รับชัยชนะและอยู่ในอำนาจต่อไป จนได้รับการเรียกขานว่า “การเลือกตั้งสกปรก”

แต่ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ประท้วงผลการเลือกตั้ง ซึ่งนำโดยกลุ่มนักศึกษานำมาซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แม้การชุมนุมประท้วงและการสร้างแรงกดดันรัฐบาลจะไม่ได้ถึงจุดแตกหัก แต่ก็เหมือนเป็นคลื่นใต้น้ำ เนื่องจากเวลานั้นเกิดความขัดแย้งทางการเมืองอย่างมาก ก่อนที่จะมีการรัฐประหารอีกในวันที่ 16 ก.ย. 2500 ภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ในเวลาต่อมา

บทเรียนในอดีตจากคนรุ่นก่อนมีให้เห็นแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะพยายามลืมๆ มันไป

ดังนั้น เมื่อกลัดกระดุมเม็ดแรกตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว แทบไม่อยากนึกเลยว่าปลายทางจะเป็นอย่างไรต่อไป