posttoday

ปชป.​สะบักสะบอม คนในไหลออกคนนอกไม่ไหลเข้า

23 พฤศจิกายน 2561

“ประชาธิปัตย์”ลายเป็นพรรคการเมืองที่ตกที่นั่งลำบาก ต้องเผชิญทั้งมรสุมรุมเร้าจากภายนอกหลังถูกแรงดูด ขณะที่สภาพภายในก็เปราะบางเต็มไปด้วยคลื่นใต้น้ำ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

กลายเป็นพรรคการเมืองที่ตกที่นั่งลำบากอีกพรรคหนึ่งสำหรับ “ประชาธิปัตย์” ในวันนี้ซึ่งต้องเผชิญทั้งมรสุมรุมเร้าจากภายนอกจนสั่นคลอนรุนแรงหลังถูกแรงดูดจากหลายทิศทางจนยากจะต้านทานไหว ขณะที่สภาพภายในเวลานี้ก็เปราะบางเต็มไปด้วยคลื่นใต้น้ำและรอยร้าวที่มีแต่จะลุกลามขยายวง

เริ่มตั้งแต่ “แผลเก่า” ความระหองระแหงระหว่างแกนนำฝั่งอดีต กปปส. และคนในประชาธิปัตย์ที่ยังไม่อาจสมานแผลจนเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกันได้เหมือนอย่างที่ตั้งใจ ยิ่งนับวันความบาดหมางมีแต่จะปะทุบานปลายกลายเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาสั่นคลอนเอกภาพภายในพรรค

เพราะแม้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจะเข้าวินชนะการหยั่งเสียง ซึ่งรอบนี้เปิดให้สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โดยตรงกลายเป็นหัวหน้าพรรคสมัยที่ 5
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 แต่สัญญาณหลายอย่างปรากฏสะท้อนให้เห็นว่าการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคนับจากนี้ย่อมไม่ง่ายอีกต่อไป

โดยเฉพาะกับแรงกระเพื่อมจากฝั่ง กปปส.ที่เข้ามาคัดง้างการทำหน้าที่หัวหน้าพรรคของอภิสิทธิ์ที่ไร้คู่แข่งมายาวนาน แต่รอบนี้ กปปส.ปลุกปั้น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต สส.พิษณุโลก ขึ้นมาท้าชิง ด้วยแรงสนับสนุนจากฝั่ง กปปส. นำโดย ถาวร เสนเนียม ที่แม้จะแพ้แต่ก็สะท้อนให้เห็นพละกำลังภายใน

เมื่ออภิสิทธิ์ได้รับคะแนนโหวต 67,505 คะแนน ส่วนวรงค์ได้คะแนนไล่มาแบบหายใจรดต้นคอคือ 57,689 คะแนน ทั้งที่เพิ่งเปิดตัวชิงตำแหน่งลงพื้นที่หาเสียงได้ไม่นาน ​

จบยกแรก แม้อภิสิทธิ์จะชนะคะแนน และคู่แข่งอย่างหมอวรงค์ และ อลงกรณ์ พลบุตร จะประกาศพร้อมสนับสนุนช่วยงานต่อไปไม่ย้ายออกไปไหน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่งานง่ายที่อภิสิทธิ์จะกอบกู้สร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นได้แบบแท้จริงและยั่งยืน

ดังจะเห็นว่าคล้อยหลังไม่กี่สัปดาห์หลังรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้เกิดเรื่องวุ่นขึ้นอีกครั้ง เมื่อถาวรเปิดบ้านต้อนรับการลงพื้นที่ของลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเคยเป็นแกนนำ กปปส. แต่เวลานี้มีสถานะเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)​

ที่สำคัญแม้สุเทพจะเป็นอดีตลูกหม้อคนสำคัญของประชาธิปัตย์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลานี้เขากลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญของประชาธิปัตย์เช่นกัน โดยเฉพาะกับการต้องขับเคี่ยวกันในสนามเลือกตั้งโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ที่ต่างฝ่ายต่างคาดหวังกับการช่วงชิงเก้าอี้ให้ได้มากที่สุด

ถึงจะบอกว่าเป็นเพียงแค่มิตรภาพและการแสดงน้ำใจของเพื่อน ​แต่ก็นำไปสู่การเปิดประเด็นทะเลาะกันเองของคนในประชาธิปัตย์ เมื่อ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ภาคใต้ออกมาประกาศตัวไม่ไปต้อนรับสุเทพระหว่างการลงพื้นที่ จ.พัทลุง เพราะไม่อยากทำให้ประชาชนสับสน

“ตนนักเลงพอ และไม่ใช่นักเลงประเภทขวาถือดอกไม้ มือซ้ายถือมีด”​

สถานการณ์ทำท่าจะบานปลาย เมื่อประชาธิปัตย์ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบการกระทำของถาวรและวิทยา แก้วภราดัย อดีต  สส.นครศรีธรรมราช ซึ่งสุดท้ายเรื่องยุติลงแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เมื่อทั้งคู่ก็ยอมรับเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำและไม่ระมัดระวังตัว ขณะที่กรรมการบริหารก็ไม่ติดใจเอาความ

​แต่ก็มีมติสกัดปัญหาในอนาคต​ด้วยการห้ามไม่ให้กรณีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไปกระทำการใดๆ ที่ไปร่วมกิจกรรมกับพรรคการเมืองอื่น กระทบกับการแข่งขันของพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคต พร้อมคาดโทษรุนแรง​ทั้งไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ถ้าร้ายแรงก็ขับออกจากสมาชิกพรรค

แต่ชนวนก็ใช่ว่าชนวนเรื่องนี้จะถูกดับได้สนิท เพราะหลายฝ่ายยังเชื่อว่าเชื้อความขัดแย้งยังรอวันที่จะปะทุขึ้นมาใหม่ หากมีปัจจัยเข้ามากระตุ้นในอนาคต

เคลียร์ปมนี้ได้สำเร็จแต่ใช่ว่าการนำทัพของอภิสิทธิ์ลงสนามเลือกตั้งใช่ว่าจะไร้ข้อกังวล เพราะเวลานี้กระแสผลักดัน ชวน หลีกภัย ขึ้นมาเป็นแกนนำเรียกคะแนนสู้ศึกเลือกตั้งก็ยังถูกจุดประเด็นขึ้นมาอยู่ตลอด อีกด้านหนึ่ง จึงยิ่งจะกดให้บทบาทความเป็นผู้นำของอภิสิทธิ์ให้ลดน้อยถอยลงไป ​​

ยิ่งในวันที่หลายฝ่ายมองถึงการสร้างพันธมิตรทางการเมืองและการจับมือกันในอนาคตหลังการเลือกตั้งที่อภิสิทธิ์ถูกมองว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ไม่อาจทำให้พรรคอื่นมาร่วมงานการเมืองด้วยกันได้ ​

แต่ปัญหาที่น่าหนักใจเวลานี้ไม่ใช่อยู่เพียงแค่นั้น เพราะฐานเสียงที่เคยเข้มแข็งเวลานี้กำลังถูกกัดเซาะอย่างหนัก ไล่มาตั้งแต่พื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ผูกขาดของประชาธิปัตย์ แต่เวลานี้ รปช.ภายใต้การนำของสุเทพได้ประกาศขอปักธงในพื้นที่สุราษฎร์ธานี และอาจขยับไปถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เป็นอีกฐานเสียงสำคัญเวลานี้ถูกพรรคพลังประชารัฐดูดอดีตขุมกำลังสำคัญทั้ง พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ไปจนถึง สกลธี ภัททิยกุล

เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคกลางและตะวันออกที่ประชาธิปัตย์ประสบปัญหาเลือดไหลออกรุนแรง อันจะทำให้ยากต่อการรักษาจำนวนเก้าอี้เดิมได้ ​

ในขณะที่ตัวผู้สมัครหน้าใหม่ที่จะเข้ามาสวมเสื้อประชาธิปัตย์ลงสนามเวลานี้ก็ยังเป็นเพียงแค่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีฐานเสียงของตัวเองชัดเจน

สถานการณ์ของประชาธิปัตย์ในเวลานี้ จึงสะบักสะบอมอย่างรุนแรง ในวันที่ต้องเผชิญหน้ากับทั้งคู่แข่งเก่าอย่างเพื่อไทยและคู่แข่งใหม่อย่าง
พลังประชารัฐ