posttoday

การเมืองชิงจังหวะยกแรกก่อนโหมดเลือกตั้ง

14 พฤศจิกายน 2561

การเมืองตอนนี้ พรรคการเมืองเริ่มออกตัวเตรียมความพร้อม เท่าที่กฎระเบียบจะเปิดช่องให้สามารถทำได้

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เสียง "ดักคอ" จากบรรดาพรรค การเมืองต่างๆ เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกำหนดวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562  ส่อเค้าจะกลายเป็นความไม่แน่นอนกับท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ พร้อมเปิดทางให้สามารถจะเลื่อนออกไปได้จนถึงวันที่ 9 พ.ค. 2562 โดยเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเป็นผู้ชี้ขาด

ท่ามกลางการจับตาว่าอาจมี เบื้องหน้าเบื้องหลังเป็นการชิงจังหวะทางการเมือง หรือเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ แต่ทว่าในแง่ของพรรคการเมืองไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ก็ยังจำเป็นต้องออกตัวเดินหน้าเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อไหร่

ดังจะเห็นจากการขยับของแต่ละพรรคการเมืองที่เริ่มออกตัวเตรียมความพร้อม เท่าที่กฎระเบียบจะเปิดช่องให้สามารถทำได้

เริ่มตั้งแต่พรรคเพื่อไทยในฐานะ ที่เป็นแชมป์เก่า ที่บรรดาแกนนำต้องเผชิญมรสุมจนแตกกระจัดกระจายไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา เวลานี้จึงจำเป็นต้องเร่งกอบกู้ความเป็นเอกภาพสร้างความเข้มแข็งภายในเพื่อลุยศึกนอก  ในวันที่ต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่ แข็งแรงและมีความพร้อมกว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา

ยิ่งในวันที่กฎกติกาใหม่ระบบ เลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมซึ่งบัตรเดียวชี้ขาดทั้ง สส.เขต และนำมาคำนวณเป็นสัดส่วน สส.บัญชีรายชื่อ  ที่ว่ากันว่าจะทำให้พรรคขนาดใหญ่ที่ได้ สส.เขตจำนวนมาก อาจไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่ออย่างที่เคยเป็น

นำมาสู่ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ย่อย ซึ่งไม่เพียงแต่แก้เกมระบบเลือกตั้งใหม่เพื่อทำให้ได้จำนวนเก้าอี้สูงตามสูตรคณิตศาสตร์ที่คำนวณกันมาเป็นอย่างดีแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งยังเป็นแผนสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินเกิดการยุบพรรคขึ้นมาจริงๆ

พรรคเพื่อไทยที่เปรียบเสมือน ฐานใหญ่ที่จะเป็นกำลังหลักในการขับเคี่ยวกับฐานอำนาจจากฝั่งที่สนับสนุน คสช. เวลานี้ ลงตัวในแง่แกนนำ ทั้งได้ตัวผู้บริหารพรรคชุดใหม่ พร้อมมอบหมายให้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ที่จะเป็นผู้ชูธงนำทัพ เลือกตั้งครั้งนี้

พร้อมประเดิมลงพื้นที่เมืองโคราช ออกสตาร์ทลุยหาเสียงอย่างไม่เป็นทางการในทันที ก่อนตระเวนพบปะ พี่น้องประชาชนในอีกหลายพื้นที่ ล่าสุดควงลูกสาวลงพื้นที่ประตูน้ำ ที่มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

ในแง่สมาชิกและว่าที่ผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย บุคลากรหลักยังคงเป็นทีมงานชุดเดิม จะมีก็เพียงแต่ บางกลุ่มที่ปลีกตัวย้ายออกไปสังกัดพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็น เครือข่ายพันธมิตร

โดยเฉพาะพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ทษช. ออกมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นบรรดาคนรุ่นใหม่และทายาทอดีต แกนนำพรรคเพื่อไทย ทั้ง ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช หัวหน้าพรรค มิตติ  ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค

ในขณะที่เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวของหลายคนที่ย้ายไป ทษช. ทั้ง  ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.  พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน  นพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ  รวมทั้งล่าสุด สงกรานต์ เตชะณรงค์  ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

ส่วนก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อชาติได้เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยเตรียมลงสนามอย่างเป็นทางการ โดยได้กำลังสำคัญอย่าง ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา และจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. มาช่วยงาน

อีกด้านหนึ่งพรรคอนาคตใหม่  ซึ่งเปิดตัวทีมงานมาก่อนพรรคอื่นๆ เวลานี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็นหน้าใหม่ทางการเมือง ยังคงเดินสายลงพื้นที่เก็บคะแนนอย่างต่อเนื่อง  ทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่านี้

คล้ายกับฝั่งพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อม ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล  หัวหน้าพรรค ยังคงยึดแผนปฏิบัติ การ "เดินคาราวะแผ่นดิน" เป็นหลัก ในช่วงนี้

ขณะที่  "ประชาธิปัตย์" หลังใช้การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ลงพื้นที่พบปะประชาชนในภูมิภาคต่างๆ  เวลานี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นหัวหน้าพรรค กำลังเริ่มต้นสร้างเอกภาพและความเข้มแข็งให้พรรคเพื่อลุยศึกเลือกตั้งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายของประชาธิปัตย์

คู่ขนานไปกับความพยายาม ลบภาพจำในอดีตทั้งความเก่า อนุรักษนิยม ด้วยการชูทีมงาน คนรุ่นใหม่ นำโดย พริษฐ์ วัชรสินธุ  และสุรบถ หลีกภัย รวมทั้งอีกหลายๆ คนในนาม New Dem

ส่วนพรรคภูมิใจไทยที่ดูเสมือนจะเป็นพรรคตัวแปรที่จะมีส่วนสำคัญในการชี้ขาดการจัดตั้งรัฐบาล เวลานี้กำลังถูกจับตาเป็นพิเศษเพราะอดีต สส.จากพรรคอื่นเข้ามาอยู่หลายราย อาทิ  ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตสส.อุทัยธานี ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต สส.พิจิตร และล่าสุด ภราดร ปริศนานันทกุล  และกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีตสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา

สุดท้ายพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นที่จับตาด้วยจุดยืนการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ด้วยข้อได้เปรียบทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน เวลานี้ได้เปิดตัวทีมงานว่าที่ผู้สมัคร ซึ่งเป็นส่วนผสมจาก คสช.และกลุ่มสามมิตร

ยังไม่รวมกับ 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลที่มานั่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกมองว่าบทบาทการทำงานในเวลานี้ล้วนแต่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบกับพรรคการเมืองอื่น

ดังนั้น การขยับของแต่ละ พรรคการเมืองใน "ยกแรก" ก่อนเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจึง เต็มไปด้วยการชิงจังหวะที่ส่อเค้า ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ