posttoday

ลุยแก้ รธน. ชนวนป่วนทิ้งทวนรัฐบาล

27 ตุลาคม 2553

ส่งสัญญาณเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเต็มสูบกับท่าทีที่ดูเหมือนเอาจริงของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เตรียมนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้าถกในการประชุม ครม. วันอังคารหน้า พร้อมดันผลสรุปของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไข รัฐธรรมนูญชุด สมบัติธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในทันที

ส่งสัญญาณเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเต็มสูบกับท่าทีที่ดูเหมือนเอาจริงของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เตรียมนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้าถกในการประชุม ครม. วันอังคารหน้า พร้อมดันผลสรุปของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไข รัฐธรรมนูญชุด สมบัติธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในทันที

โดย...ทีมข่าวการเมือง

 

ลุยแก้ รธน. ชนวนป่วนทิ้งทวนรัฐบาล

ส่งสัญญาณเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเต็มสูบกับท่าทีที่ดูเหมือนเอาจริงของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เตรียมนำเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้าถกในการประชุม ครม. วันอังคารหน้า พร้อมดันผลสรุปของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไข รัฐธรรมนูญชุด สมบัติธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในทันที

หากไม่มีเสียงต่อต้านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็สามารถเริ่มต้นได้ในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้ ซึ่งจะปิดในวันที่ 28 พ.ย.

ยิ่งมีคำยืนยันจากปาก “อภิสิทธิ์” ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้มอบหมายให้สำนักสถิติแห่งชาติและหน่วยงานอื่นช่วยสำรวจความคิดเห็นประชาชนแล้ว

ไม่น่าแปลกที่คนรอบตัวรัฐบาลต่างออกมาประสานเสียง “ขานรับ” ต่อท่าทีเอาจริงเอาจังกับการแก้รัฐธรรมนูญของประชาธิปัตย์อย่างไม่ได้นัดหมาย เมื่อเป้าหมายสำคัญของบรรดาพรรคร่วมฯ ก่อนรัฐบาล “หมดวาระ” หรือ“ยุบสภา” คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะการแก้ไขเขตเลือกตั้งให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว ที่จะเป็นกุญแจสำคัญให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กได้มีความหวังกับการฝ่ากระแส “ทักษิณ” เจาะพื้นที่แดง

ที่ผ่านมากับการ “ลอยตัว” หลบกระแสของ “ประชาธิปัตย์” ทำให้ “สัญญาใจ” ที่ผู้จัดการรัฐบาล สุเทพ เทือกสุบรรณ รับปากไว้ระหว่างการเจรจาให้พลิกขั้วฟอร์มรัฐบาลถูกดองไว้จนถึงขณะนี้

จนทุกอย่าง “สุดยื้อ” เมื่อคณะกรรมการชุดสมบัติตกผลึกได้ 6 ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาชัดเจน

การเอาหลังพิงข้อสรุปของคณะกรรมการฯ เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นหนทางปลอดภัยสำหรับประชาธิปัตย์ ที่ประกาศจุดยืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยตลอด โดยเฉพาะประเด็นเขตเลือกตั้งระบบพวงใหญ่ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาธิปัตย์มากกว่าเขตเดียวเบอร์เดียว

ยิ่งในบรรยากาศที่สังคมยังไม่เห็นพ้องไปในทิศทางเดียวกัน การแก้รัฐธรรมนูญจึงอาจนำมาสู่ความขัดแย้งในสังคมมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าประเด็นแก้รัฐธรรมนูญที่เห็นพ้องต้องกันทุกฝ่าย คือการแก้ไขคือ มาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ได้ข้อสรุปให้แบ่งประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาให้มีความชัดเจนขึ้น

และมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง ซึ่งเห็นพ้องต้องกันให้ตัดทิ้ง เหลือเพียงแค่เรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งมีแนวคิดที่จะให้เพิ่มระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิออกไปเป็น 10-15 ปี

ขณะที่มาตราอื่นยังมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน ทั้งมาตรา 266 เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนของ สส. และ สว. คณะกรรมการฯ ชุดสมบัติ เห็นต่างจากคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ โดยสรุปว่าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร สส.สามารถแจ้งความเดือดร้อนเป็นหนังสือต่อฝ่ายบริหารก็เพียงพอแล้ว

มาตรา 265 การห้ามดำรงตำแหน่งของสส. คณะกรรมการฯ ชุดสมบัติ เห็นว่าไม่ควรแก้ไขมาตรานี้ เพราะ สส.เป็นผู้แทนปวงชนและมีภารกิจหน้าที่ในฐานะ สส.มากอยู่แล้ว การให้สส.ไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานในฐานะ สส.ลดลง

มาตรา 111-121 ที่มาของ สว. ข้อสรุปคณะกรรมการฯ ชุดสมบัติ เสนอให้มี สว.150 คน มาจากจังหวัดละ 1 คน และที่เหลือมาจากการสรรหา พร้อมเสนอให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา สว.

รวมทั้งกำหนดนิยามและคุณสมบัติขององค์กรผู้เสนอ และวิธีการเสนอชื่อใหม่ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งยังมีความคิดเห็นไปหลายทาง

จนมาถึงมาตราที่ขัดแย้งกันมากที่สุดคือ มาตรา 93-98 เรื่องเขตเลือกตั้ง สส. ถึงแม้ว่าคณะกรรมการฯ ชุดสมบัติ และกรรมการสมานฉันท์ฯ จะเห็นพ้องตรงกันให้กลับไปใช้ระบบเขตเดียวเบอร์เดียว แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกันในจำนวน สส. โดยคณะกรรมการฯ สมบัติ เสนอให้มี สส.เขต 375 และมี สส.บัญชีรายชื่อ125 คน

ทว่าปัญหาอยู่ที่ท่าทีของสองพรรคใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “เพื่อไทย” หรือ “ประชาธิปัตย์” ซึ่งประกาศตัวชัดเจนมาตลอดว่าสนับสนุนระบบเขตใหญ่รวมเบอร์ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการจะหวังใช้เสียงของสองพรรคใหญ่ในการแก้มาตรานี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่ทว่าหากจะผนึกกำลังพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อฝ่าด่านพรรคเพื่อไทยกลับมาจัดตั้งรัฐบาลกันอีกรอบ ประชาธิปัตย์จำต้องยอมถอดสลักแก้ไขระบบเขตเลือกตั้งให้กลับไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพื่อหวังผลในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งกรณีนี้ สส.ประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย

สถานการณ์ที่บีบให้เดินหน้าไปสู่การแก้รัฐธรรมูญจึงไม่อาจทัดทานได้อีกต่อไป ยิ่งในภาวะที่ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแก้รัฐธรรมนูญยังเป็นจุดเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการต้อต้านจากฝั่งเสื้อเหลือง จนรัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่ครั้งนี้ ที่การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญย่อมสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคม

เงื่อนเวลาต่างๆ เริ่มรุมเร้ารัฐบาลเข้ามาทุกที ไม่ว่าจะเป็นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ความขัดแย้งระหว่างพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ หลายโครงการฉาวที่มีกลิ่นไม่โปร่งใส ดังนั้นการเพิ่มปัญหาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาอาจยิ่งสั่นคลอนรัฐบาลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ทว่าตามกรอบของคณะกรรมการฯ ชุดสมบัตินั้นยังมีก๊อกสอง ที่จะจัดระดมความเห็น 16 เวทีทั่วประเทศระหว่างเดือน ต.ค. ถึงเดือน ธ.ค. และการรับฟังความเห็นทางโทรศัพท์ที่ทำเนียบรัฐบาลในโครงการ “3 วัน สร้างสรรค์ความเข้มแข็งประชาธิปไตย” ระหว่างวันที่10-12 พ.ย.

โอกาสที่จะยื้อรอความคิดเห็นจาก 16 เวทีที่จะสิ้นสุดเดือน ธ.ค. จึงอาจเป็นอีกห้วงเวลาให้ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปหลังปิดสมัยประชุม ซึ่ง ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา บิดาเนวิน ชิดชอบ ออกมาเปิดทางพร้อมเปิดสมัยวิสามัญพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญได้

การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงถือเป็นอีกชนวนป่วนส่งท้ายรัฐบาล เพราะนี่คือ โอกาสสุดท้ายจริงๆ ถ้าพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้เขตเล็ก งานนี้อาจกลายเป็นพรรค 20 เสียง ที่จะทำให้อำนาจการต่อรองเหลือน้อยในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า