posttoday

ชทพ.ระส่ำหนัก เปลี่ยนม้ากลางศึก

23 ตุลาคม 2561

ไม่น่าเชื่อว่าพรรคเก่าแก่อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา

โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ไม่น่าเชื่อว่าพรรคเก่าแก่อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา จะกลายเป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ต้องเผชิญกับอาการระส่ำพอสมควร ภายหลังโดนดูดอดีต สส.ระดับขุนพลในภูมิภาคไปหลายคน

สถานการณ์แบบพรรคชาติไทยพัฒนา ถ้าเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยหรือพรรคประชาธิปัตย์คงไม่มีผลมากนัก แต่เมื่อมรสุมลูกนี้เคลื่อนที่พาดผ่านมายัง พรรคชาติไทยพัฒนา จึงมีผลกับพรรค พอสมควร

ขุนพลตัวหลักของพรรคชาติไทยพัฒนาที่เพิ่งเสียให้กับพรรคการเมืองมีด้วยกันถึง 2 คน ได้แก่ ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต สส.สุพรรณบุรีหลายสมัย ไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย และ ชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีตสส.อุทัยธานี ไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย

การเสีย “ณัฐพล-ชาดา” ดูเผินๆ อาจจะไม่มีอะไร เพราะเป็นแค่อดีต สส.สองคน แต่เมื่อย้อนกลับไปดูฐานคะแนนของทั้งสองคนนี้ จะเห็นได้ว่างานนี้สร้างบาดแผลให้กับพรรคชาติไทยพัฒนาเหมือนกัน

ย้อนกลับไปในการเลือกตั้ง 2554 ขณะนั้นณัฐวุฒิติดอยู่ในบ้านเลขที่ 109 ไม่สามารถลงสมัคร สส.สุพรรณบุรี จึงส่ง “ชาญชัย ประเสริฐสุวรรณ” น้องชายรักษาพื้นที่แทน ซึ่งก็ได้รับชัยชนะไปอย่างสวยงาม โดยได้คะแนนในเขตเลือกตั้งถึง 50,068 คะแนน

ส่วนชาดาเมื่อครั้งสวมเสื้อพรรคชาติไทยพัฒนาลงเลือกตั้ง สส.อุทัยธานี เข้าป้ายมาเป็นที่หนึ่งด้วยคะแนน 36,180 คะแนน

ชทพ.ระส่ำหนัก เปลี่ยนม้ากลางศึก

จะเห็นได้ว่าการที่ทั้งสองคนย้ายพรรคไปนั้นไม่ได้เป็นการย้ายไปแต่ตัว แต่เป็นการเอาคะแนนจัดตั้งไปด้วยประมาณเกือบ 1 แสนคะแนน ซึ่งกระเทือนต่อยุทธศาสตร์ของพรรค ในการเลือกตั้งเป็นอย่างยิ่ง

ยิ่งระบบการเลือกตั้งปัจจุบันตามรัฐธรรมนูญนับเฉพาะคะแนนเขตเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ยิ่งทำให้ฐานะคะแนนของพรรคชาติไทยพัฒนากระทบอยู่ไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้การประชุมสามัญของพรรคชาติไทยพัฒนาในวันที่ 26 ต.ค. จึงต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของพรรคอย่างมีนัยสำคัญ

นัยสำคัญที่ว่านั้นคือการให้“กัญจนา ศิลปอาชา” ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค และ “ประภัตร โพธสุธน” เป็นเลขาธิการพรรค จากเดิมที่วางตัว “วราวุธ ศิลปอาชา” เป็นหัวหน้าพรรค และ “สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” อดีต สส.ศรีสะเกษ เป็นเลขาธิการ

การเปลี่ยนแปลงคนระดับหัวหน้าของพรรคย่อมเป็นเรื่องประหลาดใจไม่น้อย เนื่องจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้ง “วราวุธ-สิริพงศ์” ถูกวางตัวให้เข้ามาเป็นคนแถวหน้าของพรรค ภายใต้ยุทธศาสตร์การนำของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของพรรคให้มีความทันสมัยมากขึ้น และไม่ให้ถูกยึดติดกับภาพการเมืองแบบอดีตที่ผ่านมา

แต่เมื่อสถานการณ์และปัจจัยทางการเมืองไม่เป็นคุณกับพรรคชาติไทยพัฒนามากนัก คนรุ่นใหม่ในพรรคจึงต้องจำยอมให้คนรุ่นใหญ่เข้ามากุมบังเหียนในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านนี้ไปก่อน

ชทพ.ระส่ำหนัก เปลี่ยนม้ากลางศึก

แรงกระเทือนของพรรคที่ได้รับเต็มๆ คงหนีไม่พ้นการประกาศจำนวน สส.แต่ละจังหวัดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนหน้านี้ ซึ่งพบว่าในหลายพื้นที่ทางการเมืองของพรรคชาติไทยพัฒนามีจำนวน สส.เขตลดลง

เช่น สุพรรณบุรี 4 คน จากเดิม5 คน อ่างทอง 1 คน จากเดิม 2 คน โดยเฉพาะกรณีของสุพรรณบุรีจากตัวเลขที่ปรากฏออกมา ทำให้ณัฐวุฒิเล็งเห็นว่าคงไม่มีที่ว่างสำหรับตัวเอง ในสีเสื้อของพรรคชาติไทยพัฒนา จึงเลือกที่จะย้ายมาอยู่กับพรรคเพื่อไทย

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อพรรคชาติไทยพัฒนาเข้าอยู่ยุคเปลี่ยนจาก “บรรหาร ศิลปอาชา” มาเป็นคนรุ่นลูก เป็นปัจจัยให้พรรคการเมืองหลายพรรคต่างจับจ้องจะเข้ามาปักธงพื้นที่การเมืองของพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยสร้างปาฏิหาริย์มี สส.ในสุพรรณบุรีมาแล้ว หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐก็ต้องการเข้ามาช่วงชิงโอกาสในพื้นที่ภาคกลางเช่นกัน

ภายใต้เงื่อนไขนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข็น “กัญจนา-ประภัตร” เข้ามาเป็นผู้นำพรรค

กรณีของกัญจนาต้องยอมรับว่าแม้ที่ผ่านมาหายหน้าหายตาไปจากการเมืองพอสมควร แต่อีกด้านหนึ่งภาพลักษณ์ของหนูนาไม่ได้มีลักษณะดุดันและชนกับพรรคการเมืองอื่นหรือกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากนัก

สำหรับประภัตร ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นผู้ใหญ่ในทางการเมืองและเคยเป็นเลขาธิการพรรคสมัยบรรหารเป็นห้วหน้าพรรคด้วย บารมีคับสุพรรณบุรีไม่แพ้ครอบครัวศิลปอาชา

การให้ประภัตรมาเป็นแม่บ้านของพรรคหนีไม่พ้นความต้องการที่อยากให้มาเป็นกันชนของพรรคเพื่อสู้กับพรรคเพื่อไทย เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเคยเจาะสุพรรณบุรีมาได้หนึ่งเก้าอี้สมัยบรรหารยังอยู่ หวังจะได้ส่วนแบ่งในพื้นที่เมืองหลวงของพรรคชาติไทยพัฒนามากขึ้น

พรรคชาติไทยพัฒนาต้องการรักษาฐานที่มั่นที่ตัวเองมีอยู่เดิมให้มากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงการจะได้มาซึ่งจำนวน สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ หากพรรคต้องมาเสียพื้นที่ของตัวเองแน่นอนว่าระยะยาวพรรคชาติไทยพัฒนาก็ยากที่จะดำรงพรรคให้เป็นพรรคขนาดกลาง

ฉะนั้น การเปลี่ยนม้ากลางศึกครั้งนี้ของพรรค แม้ด้านหนึ่งไม่อยากจะทำแต่ก็ต้องจำใจ